แกรี่ เลวิน (57 ปี) ชื่อนี้หากคุณไม่ใช่แฟนบอลอาร์เซนอล คุณคงสงสัยว่าเขาคือใคร หรือกระทั่งแฟนบอลอาร์เซนอลรุ่นใหม่ก็อาจจะไม่รู้จักเขาไปแล้ว แต่ในฐานะของมนุษย์ที่ไม่รู้ทำไมถึงเกิดมาในยุค 80 โตมาในยุค 90 และเรากำลังพูดถึงเรื่องราวในสหัสวรรษที่ 20 เรื่องราวนี้น่าสนใจไม่น้อย
ในรายการทางออนไลน์ของ เบน ฟอสเตอร์ (38 ปี สัญญาถึงกลางปี 2022) นายทวารวัตฟอร์ด ซึ่งทำรายการสัมภาษณ์นักกีฬาที่ชื่อว่า “Fozcast” โดยมีการพูดถึงประเด็นที่ว่า “การตรวจร่างกาย” หลายคนก็คงไม่แปลกใจนะครับ กับคำนี้เราได้ยินกันบ่อยมากในช่วงย้ายทีม
“ตกลงกันแล้ว รอตรวจร่างกาย” / “ตรวจร่างกายแล้ว รอเซ็นสัญญาชูเสื้อ” / “ตรวจร่างกายไม่ผ่าน”
คำพูดเหล่านี้ก็ชัดเจนตรงไปตรงมา การตรวจร่างกาย ก็ความหมายคือ ตรวจสภาพนักเตะแข้งทองทั้งหลายว่า มีความสมบูรณ์พร้อมแค่ไหน ไม่มีอาการบาดเจ็บแทรกซ้อน ไม่มีปัญหาภายใน อย่างเช่นเคสเกี่ยวกับหัวใจ ที่ทำให้หลายคนต้องเลิกเล่นฟุตบอลมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ลิลิยอง ตูราม หรือว่า มานูเอล อัลมูเนีย พวกนี้ตรวจร่างกายไม่ผ่านในเรื่องนี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม “ร่างกายและอาการบาดเจ็บ” ในมุมมองของวงการฟุตบอล มันมีอะไรมากกว่านั้น และวันนี้ แกรี่ เลวิน ก็จะมาแถลงไขในเรื่องนี้ ในฐานะของ “นักกายภาพบำบัด” ประสบการณ์ 35 ปีในวงการฟุตบอล ที่ทุกวันนี้เขามีคลินิคของตนเองตั้งแต่ปี 2019 และได้รับการเคารพจากนักฟุตบอลอาชีพทั้งวงการว่าเป็นหนึ่งในนักกายภาพบำบัดที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในพรีเมียร์ ลีก หรืออาจจะในวงการฟุตบอล (ตามคำชื่นชมของ เบน ฟอสเตอร์)
“ร่างกายของคนเรามันไม่เหมือนกัน ต่อให้มีร่างกายเหมือนกันก็มีในรายละเอียดที่ไม่เหมือน การรักษาอาการบาดเจ็บก็เช่นกัน พอเราพูดคุยกันเกี่ยวกับการรักษาอาการบาดเจ็บ คนส่วนมากก็จะคิดว่า หายก็หายเหมือนกัน เจ็บเหมือนกัน แต่เปล่าเลย การดูแลย่อมแตกต่าง การฟื้นตัวก็ต่างกัน นักเตะอาชีพหนึ่งคน นักเตะคนหนึ่งมีอาการดีขึ้นกว่าเดิมมีอาการบาดเจ็บ เรื่องของอายุของนักเตะ – อาการบาดเจ็บที่เกิด – สาเหตุของการเกิด ไปจนถึงตำแหน่งของผู้เล่นในการลงเล่นด้วยดังนั้นการกายภาพบำบัด ฟื้นฟูร่างกายจึงต้องมีการออกแบบให้แต่ละคนไม่เหมือนกัน บนแนวคิดที่ว่าเราต้องการทำอย่างไรก็ตามให้อาการดีขึ้นพร้อมกลับมาลงสนาม”
เลวิน บอกว่าการรักษาในยุคนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยได้เยอะ หลายอาการบาดเจ็บ สามารถหายได้เร็วขึ้น ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตามเหมือนที่บอกไป ร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน การตอบสนองไม่เหมือนกัน ดังนั้นทุกอย่างในการรักษาจึงไม่สามารถจะบอกได้ว่า การรักษาแบบนี้ใช้ได้ดีกับคนหนึ่ง จะเวิร์คกับอีกคนหนึ่งเสมอไป ทั้งหมดขึ้นกับการตัดสินใจของแพทย์ และแน่นอนขึ้นกับการตัดสินใจของนักเตะด้วย ในทุกครั้ง ในกรณีของ เบน ฟอสเตอร์ ผู้ซึ่งเป็นนายทวาร มีอาการบาดเจ็บเอ็นร้อยหวาย นายทวารเป็นตำแหน่งที่ต้อง กระโดดเยอะ พุ่งตัวเยอะ แต่ไม่ได้ต้องออกมาวิ่งมาก ๆ เหมือนกับ กองหน้า หรือว่าปีกที่ใช้ความเร็ว การดูแลก็จะต้องใช้เวลาต่างกัน ทุกวันนี้ ฟุตบอลเปลี่ยนไปแล้ว ตอนปี 1986 ทีมสักทีมมี นักกายภาพบำบัด 1 คน แพทย์ในแบบพาร์ทไทม์ 1 คน เท่านั้นก็พอแล้ว แต่ตอนนี้แต่ละทีมระดับพรีเมียร์ ลีก นักกายภาพบำบัดมี 3-4 คนต่อทีม, มีผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์การกีฬาอีก 3-4 คน ไหนจะนักเคราะห์อาการบาดเจ็บจากข้อมูลที่มีการเก็บมาจากการติดอุปกรณ์แทรคกิ้งบนตัวผู้เล่นอีก เพื่อนำมาวิเคราะห์อีก นั่นคือฟุตบอลที่เปลี่ยนไป บนการแข่งขันที่สูงขึ้นมาก จำนวนเกมก็เยอะมากกว่าเดิม
“การติดเครื่องติดตามตัวนักเตะ ไม่ได้บอกแค่ว่า คุณวิ่งเร็วเท่าไร ศักยภาพอย่างไรเท่านั้น ในมุมมองของคนดูแลผู้เล่นเรามีมาดูว่า มันหนักเกินไปไหมกับการใช้งานร่างกาย มันจะเสี่ยงไหมกับอาการบาดเจ็บ ถ้ามันอยู่ในระดับที่เสี่ยง หน้าที่ของเราคือต้องบอกกับผู้จัดการทีมว่า ไม่ได้แล้วนะ นักเตะเหล่านี้ความฟิตไม่ได้แล้ว ร่างกายพวกเขาเสี่ยงสูงจะต้องเจอกับอาการบาดเจ็บแล้ว ผู้จัดการทีม ก็ต้องไปประเมินกับทีมงานต่อว่าจะเสี่ยงกับการใช้งานพวกเขาไหมในเกมที่จะมาถึง หรือจะหมุนเวียนทีม ซึ่งมันจำเป็นมาก การหมุนเวียนทีมจะช่วยให้ลดอาการเสี่ยงที่นักเตะบาดเจ็บได้ระดับหนึ่งด้วย”
ฤดูกาล 2021-2022 อาร์เซนอล มีประเด็นเรื่องของ เอมิล สมิธ โรว์ (21 ปี สัญญาถึงกลางปี 2026) ช่วงปลายปี 2021 เขาหลุดจากทีมตัวจริงแบบที่ไม่ได้โดนระบุว่ามีอาการบาดเจ็บ แต่ได้รับการระบุว่า “ไม่ฟิต” มากพอที่จะลงเล่น ส่วนหนึ่งก็มาจากเรื่องของความพร้อมของร่างกายเขา
“เหตุผลหลักเลยที่เขาไม่ได้ลงเล่นตัวจริง เพราะเขาไม่ฟิตสมบูรณ์พอจะลงเล่นได้ ดังนั้นมันคือสิ่งที่เราต้องดูแล เราไม่อนุญาตให้เขาลงซ้อมแบบปกติ หรือลงเล่นตัวจริงได้ มันก็เท่านั้นเอง เขาผลงานดีไม่มีข้อสงสัยอะไรทั้งสิ้น แต่ช่วงที่ผ่านมาแน่นอนทีมกำลังผลงานดี สถานการณ์ของเขาก็จึงเปลี่ยนไปด้วย ผมพอใจที่มีเขาอยู่ในทีมนี้” มิเคล อาร์เตต้า กล่าวในช่วงต้นปี 2022 เกี่ยวกับ เอมิล สมิธ โรว์ ที่ไม่เจอกับอาการบาดเจ็บ แต่ไม่ได้ลงเล่นตัวจริง
การเตรียมทีม ตารางแข่งขันที่ยาวเหยียดในแต่ละปีของการแข่งขัน ทั้งหมดแผนงานที่ทีมงานต้องเตรียมตัวรับมือกับการแข่งขัน ในขณะที่ทีมงานหลังบ้าน นักกายภาพ และทีมแพทย์ ก็ต้องทำงานหนัก เพื่อไล่เช็ค ตรวจสอบอาการบาดเจ็บ ออกแบบการซ้อมให้เหมาะสมกับความพร้อมของคนในทีมว่า พวกเขาพร้อมแค่ไหนในแต่ละเกม และคนไหนจะเสี่ยงบาดเจ็บมากขึ้น หากยังฝืนลงเล่นต่อไปโดยที่ไม่ได้พักร่างกายมากพอ
โปรดติดตามตอนต่อไป