“ผมจำได้ดีว่าตอนฟุตบอลโลก 2002 ที่ต้องไปเล่นในประเทศญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เราต้องปรับตัวเกี่ยวกับไทม์โซน เราต้องคุยกับ นักเตะ หลายเรื่องในการปรับตัว เพราะถ้านับเวลาปกติของเรา เวลาตื่นคือเวลาข่าวภาคค่ำของญี่ปุ่น และเราจะนอนกันตอนทานอาหารเช้าของคนที่นั่น ซึ่งว่าง่าย ๆ มันก็คือว่าเวลามันเพี้ยนไปหมด เราต้องมีการติดตั้งเครื่องติดตามในตัวนักเตะทุกคน มาเช็คว่าพวกเขานอนกันกี่ชั่วโมง พวกเขานอนหลับเต็มอิ่มหรือเปล่า แต่ให้ตายเถอะปัญหาใหญ่สุดที่เราเจอคือ เพลย์สเตชั่น (Playstation) เพราะนักเตะเอาไว้เล่นแก้เบื่อ พวกเขานอนไม่หลับ เพราะมันผิดเวลา”
ในวงการฟุตบอล หาก “โค้ชฟุตบอล” คือคนที่วางแผนพาทีมประสบความสำเร็จในสนาม นักกายภาพบำบัด และทีมแพทย์ทั้งหลาย รวมถึงนักวิเคราะห์ข้อมูล ก็คือ “โค้ชด้านร่างกายและจิตใจ” ของนักเตะทุกคนที่ต้องวางแผนร่วมกับโค้ชฟุตบอล
“ทุกครั้งก่อนที่โค้ชจะซ้อมทีม ก่อนหน้านั้นหลายชั่วโมง หรืออาจจะเป็นวัน เขาต้องมาคุยกับทีมงานกายภาพแล้วว่า เขาต้องการซ้อมอะไรบ้าง แท็คติกแบบไหน อยากได้อะไรบ้างกับนักเตะในทีม ส่วนเรามีหน้าที่บอกกับพวกเขาว่า เป้าหมายเกี่ยวกับสภาพร่างกายของผู้เล่นในทีมที่เราประเมินคืออะไร เกมหนึ่งเกมลงสนามไป โค้ชต้องการให้นักเตะทำแบบนั้นแบบนี้เพื่อพาทีมประสบความสำเร็จ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การกีฬาก็ได้มาเลย วิ่งเท่าไร อัตราเร่งอย่างไร การเต้นของหัวใจเป็นไง ฯลฯ แต่สำหรับเรามันคือมาดูว่านักเตะอยู่ในสภาพไหน เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บหรือไม่ ต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ของตนเอง”
ย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 80 ฟุตบอลสมัยก่อนไม่ใช่เรื่องของความนิยม ไม่ใช่เรื่องของการถ่ายทอดสด ไม่ใช่เรื่องของเงินตรา และธุรกิจแบบที่ทุกวันนี้เป็นอยู่ แต่มันคือเรื่องของความชอบ หลงใหลในกีฬาฟุตบอล แกรี่ เลวิน คือหนึ่งในนั้น และเขาตามหามันด้วยการเดินหามันจากสโมสร อาร์เซนอล เลวิน เข้าสู่วงการฟุตบอลในฐานะนายทวาร ตอนปี 1978 แต่ระหว่างนั้นเขาเองก็ไม่ค่อยจะไปได้สวยเท่าไรนัก อย่างไรก็ตามเขาก็ได้รู้จักกับ เฟร็ด สตรีท ซึ่งเวลานั้นเป็น นักกายภาพของอาร์เซนอล และทีมชาติอังกฤษ ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งในชีวิตของเขา
ในปี 1982 เลวิน ถูกปฏิเสธสัญญาใหม่จากอาร์เซนอล เขาต้องออกจากทีมแน่นอนด้วยวัย 18 ใกล้ 19 ปี เส้นทางชีวิตของเขาเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เขากลับไปเรียนหนังสือต่ออยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนได้เซ็นสัญญากับ บาร์เนต และตัดสินใจเข้าไปเป็นเด็กฝึกงานใน Guy’s Hospital โรงพยาบาลที่สอนเกี่ยวกับเรื่องของการกายภาพบำบัด (Physiotherapy) เพิ่มเติมอีก 3 ปีเต็ม ซึ่งในระหว่างนั้น อาร์เซนอล ที่ เฟร็ด สตรีท ก็ยังไม่คงไม่ลืมเขา ติดต่อให้เขามารับงาน พาร์ท–ไทม์ เป็นนักกายภาพของสโมสรดูแลทีมสำรอง และทีมเยาวชนของสโมสรไปด้วย และนั่นทำให้สามปีนั้นของเขาจาก นายทวารสำรองบาร์เนต กลายมาเป็นเด็กฝึกงานของโรงพยาบาล และนักกายภาพบำบัดชั่วคราวของอาร์เซนอลแทน
ในปี 1986 แกรี่ เลวิน อายุ 22 ปี เขาจบการฝึกงานกับ Guy’s Hospital เขาได้งานในแผนกผู้ป่วยหนัก และเกี่ยวกับโรคหัวใจ แต่ก็ทำได้แค่สองเดือนเท่านั้น จอร์จ เกรแฮม ผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ก็ติดต่อเข้ามาชวนเข้าไปทำงานเป็น นักกายภาพบำบัดของทีมชุดใหญ่ อาร์เซนอล นับจากเดือนกันยายน 1986 เป็นต้นมายาวนานถึง 22 ปีเต็มกับงานนี้
“เส้นทางชีวิตนักฟุตบอลของผมสั้นมาก ตอนผมเป็นนายทวารที่อาร์เซนอล บ๊อบ วิลสัน (ตำนานนายทวารของอาร์เซนอล ชุดดับเบิ้ลแชมป์ปี 1971 และเป็นอาจารย์โดยตรงของ เดวิด ซีแมน ในเวลาต่อมา) คือโค้ชของผม ตอนแรกครอบครัวผมอยากให้ผมมุ่งหน้าไปทางสายวิชาการ แต่พอผมสามารถเรียนได้ดี และเล่นฟุตบอลไปด้วยกันได้ พวกเขาก็สนับสนุนผมเช่นกัน น่าเสียดายที่ผมอยู่กับ อาร์เซนอล 4 ปี ผมก็โดนปล่อยตัวออกมา เพราะผมตัวเล็ก ไม่หรอกจริง ๆ ต้องบอกว่าผมอาจจะพยายามไม่มากพอ ตอนนั้นโลกแทบจะสลายเลยล่ะ”
“สุดท้ายจากนักฟุตบอล ผมกลายมาเป็น นักกายภาพแบบเต็มตัว ทำงาน 7 วัน 24 ชั่วโมง งานคือดูแลนักเตะ และทีมงานในสโมสรทุกคน มันเป็นงานที่วุ่นวายมาก ยิ่งผมกลับมาทำงานกับ อาร์เซนอล ตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา ตามคำชวนของ จอร์จ เกรแฮม คุณเชื่อไหมตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันที่ผมออกจากทีมในปี 2008 นั่นคือ คริสต์มาสแรกที่ผมได้ฉลองกับคนในครอบครัว เพราะตลอด 22 วันคริสต์มาส ก่อนหน้านั้น ผมต้องอยู่ในโรงแรมกับทีมตลอด”
หลังจากอยู่กับ อาร์เซนอล มาอย่างยาวนาน เขาทำงานได้ดีจนได้รับการเชิญเข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมงานกายภาพของทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่ ตอนแรกก็ทำงานเป็นแบบพาร์ทไทม์ ตอนช่วงวันแข่งทีมชาติเท่านั้น แต่ออกมาจากอาร์เซนอลเขาก็ไปทำงานแบบเต็มตัวจนถึงปี 2016 ตามด้วยไปทำงานกับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด อีกเล็กน้อ
“การไปเข้าร่วมกับทีมชาติอังกฤษ เป็นเรื่องหนึ่งที่มาแบบโดยบังเอิญมาก มันคือปี 1996 เกล็น ฮอดเดิ้ล ตกลงเข้ามาคุมทีมชาติอังกฤษแล้ว แต่ยังไม่สามารถประกาศอะไรได้จนกว่าเราจะจบทัวร์นาเมนต์ยูโร 1996 เรียบร้อยแล้ว ผมเดินทางไปอเมริกาพักผ่อนกับครอบครัว ผมนั่งดูเกมที่ อังกฤษ แพ้จุดโทษต่อเยอรมัน ในยูโร 1996 พอจบเกมนั้น พ่อตาผมก็โทรมาหาจากอังกฤษ บอกว่า เกล็น ฮอดเดิ้ล โทรหาผมบอกอยากให้ผมไปทำงานกับทีมชาติอังกฤษ ผมก็เลยโทรหาเลขาสโมสร และคุยกันเรื่องเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำงาน สุดท้ายผมก็ได้งานมาในฐานะของ พาร์ท–ไทม์ ซึ่งจะทำงานเฉพาะตอนช่วงมีเกมระดับชาติเท่านั้น”
“แต่พอมาในปี 2008 ฟาบิโอ คาเปลโล่ เข้ามาคุมทีมชาติเขาอยากได้ นักกายภาบำบัดแบบฟูลไทม์เท่านั้น ผมก็เลยกลับมาตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรดี อย่างที่ผมบอกการทำงานกับ อาร์เซนอล มันค่อนข้างต่อเนื่องในทุกวัน ชีวิตผมยุ่งมาก การรับงานกับทีมชาติจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ผมจะมีเวลาให้ครอบครัว ผมมีคริสต์มาสกับครอบครัว มีวันหยุดพักผ่อนที่ไม่ใช่แค่ในเดือนมิถุนายนเท่านั้นอีกต่อไป สุดท้ายผมก็เลือกไปทำงานทีมชาติทำจนถึงปี 2016 รวมแล้วก็ 20 ปีพอดีกับทีมชาติ ถ้านับช่วงพาร์ทไทม์ด้วย”
แกรี่ เลวิน กลายเป็นหนึ่งในบุคลากรคนสำคัญของอาร์เซนอล และทีมชาติอังกฤษตลอด 2 ทศวรรษก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะกับ อาร์เซนอล เขาคือหนึ่งในบุคคลเพียงไม่กี่คนที่ได้ทำงานในยุคแรกเริ่มของ จอร์จ เกรแฮม และวันแรกที่ อาร์แซน เวนเกอร์ เข้ามาสู่ทีมเขาก็อยู่ในวันนั้นด้วย จนถึงวันที่ “เวนเกอร์ ทีม” ก้าวสู่จุดสูงสุดกับการ “ไร้พ่าย” ในปี 2004 ด้วยจำนวนผู้เล่นเพียง 20 คนที่ได้รับเหรียญแชมป์ลีกมุมมองของเขาเรื่องราวของเขายังคงน่าสนใจและโปรดติดตามตอนต่อไปครับ