แกรี่ เลวิน ทำงานมาตลอดชีวิตวัยหนุ่มของเขาที่อาร์เซนอล เขาอยู่ในช่วงรุ่งเรือง และตกต่ำมาหลายช่วงของสโมสร แต่สิ่งที่น่า “อิจฉา” ที่สุดสำหรับแฟนบอลอาร์เซนอลทุกคนคือ เขาคือหนึ่งในผู้คนที่ได้ทำงานในยุคที่สนาม ไฮบิวรี่ ยังคงเปิดใช้งานอยู่จนกระทั่งปิดตัวลงในเดือนพฤษภาคม 2006 ซึ่งทุกวันนี้สนามเหย้าของทีมแห่งนั้นยังคงมีโครงสร้างบางส่วนหลงเหลืออยู่ ภายใต้การปรับปรุงให้กลายเป็นที่พักอาศัย และที่ทำงานภายใต้ชื่อว่า “ไฮบิวรี่ สแควร์” และในยุคที่ อาร์เซนอล ยังเป็น “จอมดื่ม” เลวิน คือหนึ่งในคนที่ต้องจัดหาเครื่องดื่มมาให้นักเตะเสียด้วย
“ในวันแข่งขันผมเกมเหย้า ผมจะต้องไปถึงไฮบิวรี่ตั้งแต่ 9 โมงเช้า เพื่อเตรียมเจอกับนักเตะทุกคนช่วง 10 โมงเช้า ตรวจดูสภาพความพร้อมของพวกเขาอีกครั้งจนถึงช่วง 11 โมง เป็นงานรูทีนที่ผมทำทุกครั้ง อาหารเช้าสมัยนั้นก็จะเป็นพวก ไข่คน, ถั่วต้ม ไม่ก็ออมเลทแฮม กินกับขนมปัง ไม่ก็คอร์นเฟลก มันเป็นอาหารแบบอังกฤษมาก นั่นคือสิ่งที่นักเตะกินกันเป็นมื้อก่อนที่พวกเขาจะลงเล่นช่วงบ่ายของวันนั้น”
“แต่ถ้าเป็นเกมเยือน เราไม่ค่อยได้เตรียมอะไรมากนัก เราก็ต้องจองโรงแรมช่วงวันศุกร์ หน้าที่ของผมก็เคยต้องสั่งอาหารล่วงหน้าให้กับนักเตะ ผมก็จะต้องไล่เลย ทำเป็นกระดาษจดขึ้นมาเลยว่า อาหารหลักมีอะไรบ้าง ปลา ไก่ หมู อะไรก็ว่าไป ไข่คน, ถั่วต้ม ไม่ก็ออมเลทแฮม แล้วก็ค่อยเอาไปให้โรงแรมจัดการมาให้ ที่เหลือพออาหารมา ผมก็ไล่ชื่อเลย คนนี้สั่งอะไร คนนั้นสั่งอะไรก็ว่ากันไป ซึ่งมันไม่เหมือนสมัยนี้ที่จะเป็นเหมือน บุฟเฟต์ เตรียมให้ทานกัน และมันก็มักจะมีเรื่องตลกเสมอที่ว่า อาหารที่เราสั่ง มักจะไม่น่ากินเท่ากับของเพื่อนร่วมทีม พวกเขาก็จะขอเปลี่ยนบ้าง เริ่มไปแย่งของอืกคนบ้าง แต่งานสำคัญคือหลังจบเกม ผมต้องเตรียมเบียร์ไว้เลยนะ มันเป็นเรื่องใหญ่เลย ถ้าไม่มีติดขึ้นรถขากลับมาด้วย ผมโดนโห่ไล่ กดดันตลอดทริปแน่นอน แต่เห็นอย่างนั้นมันก็คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฟุตบอลในช่วงทศวรรษที่ 80 พวกเราเป็นทีมที่มีทีมสปิริตที่น่าเหลือเชื่อเลยล่ะ”
“สมัยนั้นในยุค 80 ฟุตบอลมันไม่เหมือนสมัยนี้ ไม่มีสังคมออนไลน์ การถ่ายทอดสดก็ไม่ได้เยอะ ยิ่งบางปีที่เราไม่ได้เล่นฟุตบอลยุโรป เราก็เล่นกันส่วนมากก็จะเป็นวันเสาร์แทบทั้งนั้น พอแข่งเสร็จ ทีมก็จะออกเดินทางไปยัง โปรตุเกสบ้าง สเปนบ้าง กลับมาอีกทีกลางสัปดาห์ ลงซ้อมจนถึงวันศุกร์เตรียมตัวเตะวันเสาร์ หลังจากนั้นก็วนลูปกันไป ภายใต้กฎของทีมในสมัยก่อนที่ว่า ถ้าเราชนะในเกมวันเสาร์ หรือได้ผลเสมอแบบที่น่าพอใจ เช่นถ้าเราลงเล่นในการเจอกับทีมใหญ่ เราก็ได้ไปต่อ แต่ถ้าแพ้สัปดาห์นั้นก็อดไป”
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ฟุตบอลต้องการอะไรที่เป็น “มืออาชีพ” ยิ่งกว่าเดิม วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องแบบเต็มตัว ทีมงานผู้ดูแลต่างมีโปรแกรมการฝึกซ้อมมากมายสำหรับนักเตะหนึ่งคน ที่แต่ละคนก็อาจจะไม่ได้โปรแกรมเหมือนกันทุกส่วน เป้าหมายคือการสร้างนักเตะให้ได้ร่างกาย ความพร้อมตามที่ทีมต้องการ แต่สุดท้ายเป้าหมายเดิมคือ ไม่ต้องการให้ใครบาดเจ็บ และถ้าเกิดบาดเจ็บพวกเขาต้องรับมืออย่างไร ซึ่ง เลวิน ก็ยกตัวอย่างมาหลายเคสอาการบาดเจ็บที่เขาเจอ และหลายเคสยังคงเป็นที่จดจำได้กันจนถึงวันนี้
“นักฟุตบอลยุคเก่า และในยุคนี้มันก็ยังมีความเหมือนกันอยู่บ้าง อย่างเช่นเรื่องของจำนวนเกม สมัยก่อนเรามีผู้เล่นแค่ 16 คนในทีมไม่ก็มากกว่านั้นนิดหน่อย คุณจะได้อยู่ในทีมแน่นอน ถ้าไม่บาดเจ็บ เราเคยลงเล่น Boxing Day และต่อด้วยอีกเกมในอีกสองวันต่อมา นักเตะ 11 ตัวจริงไม่ได้เปลี่ยนเลย สำรองก็มีแค่คนเดียวให้เปลี่ยน ผมจำได้ว่าทีมไปเล่นเจอกับ เลสเตอร์ และจบเกมเราชนะ แต่นักเตะเลสเตอร์ ต้องออกจากสนามแบบมีคนพยุงออก เพราะเดินไม่ไหวถึงสามคน ซึ่งทุกวันนี้เกมก็ยังคงเตะกันถี่แบบนั้นช่วงปีใหม่ ในฟุตบอลในยุโรปก็เหมือนกัน พวกเขาต้องเตะสุดสัปดาห์ ตามด้วยกลางสัปดาห์ และสุดสัปดาห์ วนลูปแบบนี้ คุณจะหวังให้พวกเขารักษาผลงานได้ต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นไปได้ยากมาก แฟนบอลอยากดูเกมต่อเนื่อง แต่ร่างกายนักเตะไม่สามารถแบบนั้นได้หรอก ผมคิดเสมอว่าเกมการแข่งขันมันมากเกินไปสำหรับร่างกายนักกีฬา จบเกมหนึ่ง เราต้องดูแลนักเตะเยอะมาก มากเท่าไรก็ไม่พอสำหรับความถี่ของเกม ถ้าคุณต้องเล่นในช่วงกลางสัปดาห์ และแน่นอนว่ามันถึงมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มจำนวนผู้เล่นให้เป็น 25 คนแบบปัจจุบัน แต่คุณรู้ไหมสมัยก่อนตอนอาร์เซนอล ได้แชมป์ลีกในปี 1989 เราใช้ผู้เล่นหลักเพียงแค่ 15 คนตลอดฤดูกาล”
26 พฤษภาคม 1989 คือวันที่แฟนบอลอาร์เซนอลจดจำได้ดี ส่วนแฟนลิเวอร์พูลแทบจะอยากลบออกจากความทรงจำ กับวันที่พวกเขาเสียแชมป์ลีกให้กับอาร์เซนอล กับความพ่ายแพ้ 2-0 ที่พวกเขาแพ้ด้วย “ประตูได้” ที่น้อยกว่าอาร์เซนอลเท่านั้นในเกมนั้น โดยอาร์เซนอลได้ประตูที่สองของเกมจาก ไมเคิ่ล โธมัส และทำให้เขากลายเป็นที่จดจำของแฟนบอลอาร์เซนอลจนถึงวันนี้ เช่นเดียวกับที่หลายปีต่อมาเขาย้ายไปเล่นกับ ลิเวอร์พูล เสียอย่างนั้น
“ฤดูกาลนั้นมันเต็มไปด้วยเรื่องวุ่นวายที่หลายคนจำได้ก็คือเหตุการณ์ที่ฮิลลส์โบโร่ ทำให้เกมระหว่าง ลิเวอร์พูล พบกับ อาร์เซนอล มาเล่นกันในช่วงท้ายฤดูกาล ซึ่งก็คือเกมสุดท้าย ก่อนเกมนั้น ลิเวอร์พูล มีเกมฟุตบอลถ้วย ส่วนอาร์เซนอลเล่นกับ วิมเบิลดัน ก่อนเกมนัดสุดท้าย สามเกมสุดท้ายของอาร์เซนอล คือ เล่นในบ้านกับ ดาร์บี้ เล่นในบ้านกับ วิมเบิลดัน และสุดท้ายไปเยือนลิเวอร์พูลที่แอนฟิลด์”
“ตอนนั้นเราต้องการ 6 คะแนนจาก 3 เกมเพื่อการคว้าแชมป์ลีก แต่เราแพ้ ดาร์บี้ เสมอ วิมเบิลดัน ดังนั้นมันเลยทำให้เราต้องชนะลิเวอร์พูลให้ได้อย่างน้อย 2-0 ที่แอนฟิลด์ อย่างที่ทราบกันดี แต่ที่หลายคนอาจไม่รู้หรือลืมไปแล้วคือ เกมกับวิมเบิลดัน ไมเคิ่ล โธมัส มีอาการบาดเจ็บหัวเข่า ซึ่งตามปกติแล้ว เขาน่าจะต้องพัก 2-3 สัปดาห์ แต่ทีมบอกว่าต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เขาพร้อมลงสนาม เราต้องการเขาในเกมที่แอนฟิลด์ ปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง 7 วัน จึงเกิดขึ้นในการดูแลเขา”
“สุดท้ายก่อนเกมหนึ่งวัน เราต้องมีการตรวจความพร้อมของนักเตะก่อนเตรียมทีม จอร์จ เกรแฮม ผู้จัดการทีมเข้ามาด้วย ผมเป็นคนเดินไปบอกเขาว่า “เจ้านาย ผมคิดว่าเขาพร้อมสำหรับการลงเล่นตัวจริงนะ แต่ผมไม่คิดว่าเขาจะอยู่จนจบเกมหรอก เพราะถ้าเขาโดนกระแทกที่หัวเข่าทีเดียว เขาก็จบแล้ว เล่นต่อไม่ไหวแน่” แต่สุดท้ายเกมนั้น โธมัส ลงเล่นครบทั้งเกม และยิงประตูชัยให้เราได้แชมป์ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ ตอนชนะเขาดีดเต้นดีใจเหมือนคนไม่เคยเจ็บเข่ามาก่อน”
“ส่วนอีกเคสที่หลายคนจำกันได้คือในเกมลีก คัพ รอบชิงชนะเลิศ ที่อาร์เซนอลพบกับ เชลซี จังหวะเตะมุม ดิยาบี้ จะเคลียร์บอล และกลายเป็นเตะโดนปลายคางของ จอห์น เทอร์รี่ ผมซึ่งตอนนั้นอยู่แถวหลังโกล์พอดี เพราะเพิ่งเข้ามาดูอาการบาดเจ็บของ มานูเอล อัลมูเนีย ที่เป็นนายทวารในเกมนั้น ผมเลยวิ่งเข้าไปในสนาม และช่วยปฐมพยาบาลเขาทันที ก่อนที่ทีมแพทย์ของเชลซี จะรีบเข้ามาดูแลเขาต่อ แน่นอนเขาก็ต้องโดนเปลี่ยนตัวออกจากสนามไป แต่ทุกอย่างก็โอเค”
“แต่ที่แย่ที่สุดคืออาการบาดเจ็บของ เอดูอาร์โด้ ดา ซิลวา มันคืออาการบาดเจ็บที่เป็นการหักที่เลวร้ายที่สุด มันเกิดขึ้นบริเวณข้อเท้าของเขา และมันเห็นเป็นการหักอย่างชัดเจน ในฐานะของคนที่ทำงานด้านนี้ เราได้รับการสอนมาเพื่อให้รับมือกับสถานการณ์อะไรแบบนี้ให้ได้เมื่อมันเกิดขึ้น สิ่งที่อันตรายที่สุดคือ เลือดที่จะต้องไปหล่อเลี้ยงข้อเท้าของเขา ถ้าเราปล่อยให้ข้อเท้าของเขาหลุดไปจากตำแหน่งเดิมของมันนานเกินไป นั่นหมายถึงว่าจะเกิดอาการช็อค และเขาอาจจะตายได้ สิ่งที่ผมทำคือการดันข้อเท้าของเขากลับเข้าไปที่เดิม และดามมันไว้ให้ดีเท่าที่ทำได้ และไปส่งโรงพยาบาลทันที”
ช่วงท้ายของการพูดคุย เลวิน มีการถูกตั้งคำถามว่า สำหรับเขาแล้ว อาการบาดเจ็บ มันคืออะไรกันแน่ และเขาทิ้งคำตอบที่น่าสนใจในเรื่องราวนี้
“ในฐานะคนทำงานเกี่ยวกับร่างกาย ความพร้อม เราจะไม่ต้องการเสี่ยงส่งนักเตะคนไหนที่เสี่ยงบาดเจ็บหนักอยู่แล้วลงสนาม แต่ในความเป็นจริง 100 % อาจจะมีสัก 30 % ที่นักเตะลงสนามไปโดยที่เสี่ยงกับอาการบาดเจ็บอยู่ก่อนแล้ว นักเตะหลายคนมากที่มีความพร้อมไม่เต็ม 100 ลงสนาม บางคน 70 % บางคน 80 % หน้าที่ของเราคือบอกกับโค้ชว่า นักเตะแต่ละคนเป็นอย่างไร คนนี้สภาพร่างกายลงเล่นได้นะ เขาไม่ได้เสี่ยงบาดเจ็บหนัก แต่เขามีความพร้อมแค่ 80 % เท่านั้น แน่นอนเรื่องนี้นักเตะแต่ละคนจะได้ทราบว่าตัวเองสภาพร่างกายเป็นอย่างไร และพวกเขาต้องเลือกว่าเขาพร้อมหรือเปล่าจะลงสนาม พร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม ก็ต้องมาคุยกับผู้จัดการทีม หรือโค้ชตัดสินใจ นักเตะบางคนแม้จะร่างกายพร้อม 80 % แต่ก็สำคัญกับทีม และได้เลือกลงเล่นก่อนคนที่ความพร้อม 100 % ทุกวันนี้ฟุตบอลมีความหลากหลายขึ้น เรามีตัวผู้เล่น 7 คนที่นั่งสำรองข้างสนามให้เปลี่ยนตัวได้ ดังนั้นผู้จัดการทีมก็สามารถเตรียมแผนงานในการใช้งานนักเตะได้มากขึ้น ทั้งหมดก่อนลงสนามการเลือกทีมถูกวางแผนเอาไว้ทั้งหมดแล้ว ก่อนเกมจะมีการประชุมเรื่องร่างกายของผู้เล่น และมีการพูดคุยกันว่า ถ้าคนนี้บาดเจ็บล่ะ จะทำอย่างไร ถ้าคนนี้ไม่พร้อมจริง ๆ เราจะทำอย่างไร หรือกระทั่งว่า นักเตะคนนี้พร้อมแค่ 80 % ลงเล่นได้สัก 60 นาทีเต็มที่ แต่ถ้าตอนนั้นทีมตามหลัง และเราต้องการเขาในสนามมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หรือถ้านำห่างเราทำอย่างไรได้บ้าง นั่นคือสิ่งที่ทีมงานแพทย์, นักกายภาพ โค้ชและทีมงานในสนาม ต้องคุยกันให้จบ วันแข่งทุกคนจะทราบว่า ใครพร้อมแค่ไหน เสี่ยงได้มากแค่ไหน คนไหนพร้อมเล่น 90 นาที คนไหนไหวแค่ไหน เสี่ยงได้ประมาณไหน นี่คือทีมฟุตบอล นี่ยังไม่รวมถึงว่าเราต้องไปคุยกับ นักเตะ ในส่วนของร่างกายของเขาว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างด้วย ยังไม่รวมถึงผลงานของเขา หรือความต้องการของโค้ช แต่สุดท้ายแล้วทุกการทำงาน การสื่อสารให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการจะสื่อ และครอบคลุมกับคนที่เกี่ยวข้องสำคัญที่สุดเสมอ”
ตลาดการซื้อขายวันสุดท้ายเป็นหนึ่งวันที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับแฟนบอลทุกทีม การได้นักเตะใหม่ การเสียนักเตะคนเดิมออกจากทีม เป็นเรื่องที่ลุ้นกันนาทีต่อนาที แต่สุดท้ายแล้ว วันสุดท้ายที่แสนเร่งรีบ การตรวจร่างกายเป็นอย่างไร และการตัดสินใจเซ็นสัญญานักเตะในช่วงสุดท้ายของการซื้อขาย มันมีปัจจัยอะไรบ้าง
“การแพทย์ ไม่ได้เป็นการบ่งชี้หรือตัดสินใจว่าใครจะได้เซ็นสัญญา หรือไม่ได้เซ็นสัญญา แต่มันคือการประเมินความเสี่ยง สำหรับการเงินที่กำลังจะเสียไปหากเลือกเซ็นสัญญากับนักเตะ ยกตัวอย่างเช่น เบน ฟอสเตอร์ ผมเซ็นสัญญากับคุณด้วยสัญญา 4 ปี และเราจะจ่ายเงิน 250,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ให้กับคุณ เพราะคุณคือนักเตะที่ดี การตรวจร่างกายคือการประเมินว่ามันจะคุ้มค่าหรือไม่ที่เราจะลงทุนกับคุณ ในทางกลับกันผมเซ็นสัญญากับ เบน ฟอสเตอร์ อายุ 28 ปีในแบบไม่มีค่าตัว พร้อมสัญญาเพียงหนึ่งปี การประเมินความเสี่ยงก็จะลดลงตามไปด้วยทันที ดังนั้นการตรวจร่างกายของผู้เล่นไม่ได้จำเป็นต้องตรวจในวันสุดท้ายเสมอไป แต่ก่อนจะปิดดีล หรือปิดตลาด ทีมจะมีการคุยกันว่าเรามีโอกาสจะเซ็นสัญญากับใครได้บ้าง และคน ๆ นั้นตลอดระยะเวลา 3 ปีหลังสุด ลงเล่นกี่เกม บาดเจ็บมากี่ครั้ง ทั้งหมดคือข้อมูลที่เราหาได้ทั่วไป หรือกระทั่งคุยกับทีมงานของสโมสรอีกฝ่าย เพื่อพูดคุยกัน พอถึงวันสุดท้ายของตลาดการซื้อขาย เราเซ็นสัญญากับคุณ เราก็จะเอาคุณมาตรวจร่างกาย ตรวจสอบประวัติการลงเล่น อาการบาดเจ็บ มีระบบประเมินความเสี่ยง และเราจะส่งไปยังทีมงานโค้ช ไปตัดสินใจอีกครั้ง เราไม่ใช่คนตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น แต่เราแค่ทำหน้าที่บอกว่าร่างกายของคุณ ประวัติของคุณมีอะไรบ้าง เทียบกับสิ่งที่ทีมต้องจ่าย”
“ยกตัวอย่างเช่น ผมมีนักเตะคนหนึ่งที่จะไม่บอกชื่อแล้วกัน ผมคุ้นๆ ว่าเขาค่าตัว 5 ล้านปอนด์ และเป็นนักเตะระดับทีมชาติ 18 เดือนก่อนเซ็นสัญญากับเรา เขามีอาการบาดเจ็บ เรามีการตรวจร่างกายเขาแบบเต็มรูปแบบ มีการเห็นร่องรอยการผ่าตัด และมันเริ่มเห็นถึงอาการเสื่อมของหัวเข่าที่เขาผ่าตัดมา เราประเมินแล้วว่าเรามีเวลา 3-4 ปีที่จะสามารถใช้งานเขาได้ในระดับการเล่นที่เราเห็นกันอยู่ หลังจากนั้นหัวเข่าของเขาจะเริ่มเข้าสู่ความเสื่อมถอย แน่นอนในเวลานั้น เงินจำนวนดังกล่าวเยอะพอสมควร ผลตรวจออกมาแบบนี้ ผมก็ไปคุยกับบอร์ดบริหาร เพื่อแจ้งเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น คุยกับ ผู้จัดการทีม และเขาตอบกลับมาว่า การเซ็นสัญญาจะเกิดขึ้น และขอบคุณที่มอบข้อมูลดังกล่าวมาให้ เขาจะเก็บไว้ใช้ในอนาคต ผ่านไป 2 ปีครึ่ง นักเตะคนนั้นกลายเป็นคนสำคัญของทีม เราได้แชมป์หลายรายการ และสุดท้ายมันจบด้วยการขายเขาด้วยค่าตัว 25 ล้านปอนด์ ให้กับสโมสรในยุโรป และต่อจากนั้น 18 เดือนต่อมา เขาเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ
“อีกตัวอย่างหนึ่งที่มันเกิดขึ้นคือ เราจะเซ็นสัญญากับนักเตะคนหนึ่ง แต่ผลตรวจพบว่าเขามีปัญหาเกี่ยวกับสะโพก และเราบอกกับสโมสรทันทีว่า เคสนี้เสี่ยงมากถ้าจะเซ็นสัญญา และแนะนำว่าเราไม่ควรเซ็นสัญญากับเขา สุดท้ายเขาไม่ได้เซ็นสัญญาและย้ายไปลงเล่นกับสโมสรในสเปน 4 ปีต่อเนื่องแบบไม่พลาดการลงเล่นเลยสักเกม”
“สิ่งที่ผมจะบอกคือการตรวจร่างกาย ไม่มีขาว ไม่มีดำ มีแต่การประเมินความเสี่ยง ความเสี่ยงที่สโมสรต้องไปประเมินเอาว่าจะคุ้มเสี่ยงไหมในการเซ็นสัญญากับนักเตะ และนักเตะคนนั้นจะสามารถตอบแทนอะไรกลับมายังสโมสรได้บ้าง…”
และนี่คือเรื่องราวของเขาคนนี้แกรี่เลวินหวังว่าคุณจะสนุกกับบทความนี้