สตีเว่น เจอร์ราร์ด ผู้จัดการทีม แอสตัน วิลล่า กล่าวหลังจากที่บูคาโย่ ซาก้า (20 ปี สัญญาถึงกลางปี 2024) ปีกอาร์เซนอลพูดถึงการที่เขาหวังจะได้รับการปกป้องจากกรรมการมากกว่านี้
ซาก้า ถูก ไทโรน มิงส์ แนวรับแอสตัน วิลล่า เสียบทั้งบอลทั้งคน (โดนบอลก่อน จะตามมาโดนข้อเท้าได้เลือดกันไป) ซึ่งจบลงด้วยการโดนใบเหลืองของแนวรับทีมชาติอังกฤษ ส่วน ซาก้า ลงเล่นต่อไปจนถึงกลางครึ่งหลังและโดนเปลี่ยนออก
“ผมไม่ต้องการไปบ่นอะไรกับกรรมการทั้งนั้น แต่ผมต้องการให้เขารู้ว่ามันคือการเล่นของผมที่วิ่งด้วยความเร็ว และบางครั้งผมก็จำเป็นต้องได้รับการปกป้องมากกว่านี้ เมื่อมีผู้เล่นที่ตั้งใจพยายามเข้ามาเตะผม” บูคาโย่ ซาก้า กล่าวหลังเกมกับ แอสตัน วิลล่า
ซึ่งหลังเกมเจอร์ราร์ดก็ออกมากล่าวในเรื่องนี้ว่า มันเป็นเรื่องปกติของกีฬาฟุตบอล และซาก้าจะต้องเรียนรู้กับเรื่องนี้
“มันเป็นส่วนหนึ่งของเกม ครั้งสุดท้ายที่ผมเช็คมันไม่ใช่กีฬาที่ห้ามสัมผัสตัวกัน ผมคิดว่าการเข้าสกัด หรือการปะทะของร่างกายเป็นสิ่งที่ได้รับอนุญาตในกีฬานี้ ผมนั่งคุยกับพวกคุณ (สื่อมวลชน) ด้วยการมีนอตสกรูอยู่ในสะโพก ผมผ่านการผ่าตัดมาแล้ว 16 ครั้ง ผมมีปัญหาในการเดินเข้าไปที่ยิมมากในเวลานี้ มันคือสิ่งที่ผมได้มาจากการลงเล่นฟุตบอลอาชีพในอังกฤษ และเขาจะเรียนรู้ เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว” สตีเว่น เจอร์ราร์ด กล่าว
ในยุคที่การมี VAR เข้ามาดูแลกำกับ การทำประตูเข้าหรือไม่เข้า – ล้ำหน้าไม่ล้ำหน้า – ใบแดงหรือไม่ใบแดง พร้อมกับการติดตั้งกล้องเอาไว้หลายมุมรอบสนาม การเข้าบอลหนักแบบในยุค 90 หรือต้นศวตวรรษ 20 มันก็ควรจะลดน้อยลงไปตาม “ตัวช่วยที่เข้ามา”
การเข้าปะทะเป็นเรื่องปกติของการเล่นกีฬาหลายชนิดบางชนิดปะทะกันรุนแรงมากบางชนิดก็น้อยและบางชนิดไม่มีการเข้าปะทะเลยฟุตบอลจัดเป็นแบบที่หนึ่ง
เรากำลังพูดถึง “ยุคใหม่” ของฟุตบอลที่เริ่มต้นจากเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมกับการตัดสินใจร่วมกับใช้ “วิจารณญาณ” ของผู้ตัดสิน บนข้อเท็จจริงที่ว่า “วิจารณญาณ” ของมนุษย์คือคำตัดสินสุดท้าย
ที่ผ่านมาในวงการฟุตบอลยุค VAR ก็ยังคงมีการตัดสินค้านสายตาหลายครั้ง ยกตัวอย่างของ พรีเมียร์ ลีก ปีแรกกับการใช้ VAR เรื่องการตีเส้นล้ำหน้าก็เป็นที่โดนวิจารณ์อย่างหนัก จนต้องมีการปรับปรุงกันมาตลอด เช่นเดียวกับกับการแฮนด์บอลหรือไม่ ซึ่งล่าสุดในเกมกับ เอฟเวอร์ตัน – แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับการบอลโดนแขนของ อิลคาย กุนโดแกน ที่จบด้วย “คำขอโทษ” จากรรมการที่ไม่สามารถแก้ไขผลการแข่งขันได้ของพรีเมียร์ ลีก
นั่นหมายความว่าตราบใดที่ยังเป็นมนุษย์ตัดสินความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีใครถูกทุกอย่าง เป๊ะทุกเรื่อง โดยเฉพาะการตัดสินอะไรในเสี้ยววินาที ดังนั้น VAR และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแล้ว หากยังตัดสินพลาดอีก อันนี้ต้องพิจารณาแล้วล่ะว่า “Personal Error” ตรงนี้บทลงโทษคืออะไรความรับผิดชอบอยู่ตรงไหน
ในกรณีของ ซาก้า ก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ยุคใหม่” ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของการตัดสินให้ดีขึ้น ในฐานะที่เขาคือสายความเร็วเหมือนกับ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง, จาดอน ซานโช่, ซาดิโอมาเน่หรือกระทั่งแบ็คความเร็วจัดจ้านอย่างทาริคแลมเตย์พวกเขาวิ่งมาด้วยความเร็วแล้วถูกตัดสกัดบอลมันเป็นเรื่องปกติมากที่ต้องเจอบางจังหวะเอาตัวรอดได้บางจังหวะลอยกลางอากาศตกลงมานอนเจ็บก็ไม่รู้กี่ครั้งจากการโดนสอยเพื่อหยุดพวกเขาคำถามคือกรรมการปกป้องอะไรพวกเขาบ้างแล้วจังหวะที่โดนอัดหนักๆมาตรฐานการตัดสินอยู่ตรงไหน
เราเคยกล่าวถึงเรื่องของ VAR มาแล้วหลายครั้ง กับความเห็นที่ว่า กรรมการในสนามหากได้ฟังจากห้อง VAR เรื่องการฟาลว์รุนแรง หรือเขาคิดว่านี่คือการฟาลว์รุนแรงระดับใบแดงได้ ควรวิ่งดูภาพช้าข้างสนามทุกครั้งเพื่อการตัดสินที่ถูกต้อง เพราะกรรมการในสนามเห็นชัด หรือไม่ชัดก็ตาม มันก็เกิดขึ้นในวินาทีนั้นแล้วจบลง เช่นเดียวกับจังหวะการตัดสินให้จุดโทษหรือไม่ให้ เพื่อความยุติธรรมของตัวกรรมการเอง ในการจะมีเหตุผลในการตัดสิน อย่างน้อยก็เพื่อตัวเขาเองว่าเขาได้เลือกแล้วว่าจะตัดสินแบบใด ถ้าสุดท้ายการเลือกของเขามันพลาดเขาก็ต้องรับผิดชอบไปเช่นกัน ในฐานะของผู้ชี้ขาดในสนาม ไม่ใช่คนอื่น ไม่ใช่ VAR มาบอกว่าต้องเลือกแบบใด
ในกรณีการสัมภาษณ์ของเจอร์ราร์ด มองเห็นถึงความเป็นคน “ร่วมสมัย” และรุ่นพี่ในวงการ พรีเมียร์ ลีก สตีวี่ จี อยู่ในยุคสมัยที่โตมาคือการต่อสู้ชนเป็นชน เสียบจริงเจ็บจริง เขาโตมาในแบบนั้น และในฐานะนักเตะเขาก็ได้ชื่อว่า ขาโหด เข้าหนักคนหนึ่ง หลายครั้งจบด้วยใบแดง และหลายครั้งเขาคือคนที่ลงไปนอนดิ้นเพราะโดนอัดหนักจากอีกฝ่าย
“ฟุตบอล” ไม่สามารถที่จะบอกว่าห้ามปะทะกันแรง จังหวะนี้ 50:50 ต้องหลบ มันคือการต่อสู้ มันคือสงครามแย่งชิงชัยชนะ การเข้าบอลหนักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เจอร์ราร์ด ผู้ผ่านตรงนั้นมาแล้ว ก็เชื่อมั่นว่าสิ่งที่ ซาก้า ประสบคือเรื่องที่ต้องเจอ แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ ซาก้า หรือนักเตะรุ่นใหม่เหล่านี้ ต้องเจ็บหนัก ๆ ก่อนถึงจะเติบโต หรือต้องผ่าตัดมาแล้วหลายครั้งจนร่างกายหลังเลิกเล่นมีปัญหาแบบนั้นหรือเปล่า เพื่อแลกมากับความสำเร็จในเส้นทางอาชีพ คำตอบคือคำตอบคือ “แล้วแต่ดวง” เพราะมันไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ตราบใดที่คุณยังเล่นฟุตบอล ไม่ว่าจะตำแหน่งไหนการฟาลว์ เป็นหนึ่งในแท็คติกการเล่นที่ใช้กันทุกสโมสร
แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่อวันนี้ VAR ก็มาแล้ว เทคโนโลยีก็ล้อมสนามฟุตบอลไปหมดแล้ว ทำไมเวลาการปะทะหนัก ๆ เพื่อการตัดเกมหรือการฟาลว์รุนแรง ที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ ถึงยังไม่ได้รับการตัดสินที่เป็นมาตรฐานที่ชัดเจนเสียทีจากกรรมการผู้ตัดสิน เป็นคำถามที่ ซาก้า ต้องการจากสื่อไปยังกรรมการ หรือกระทั่งคนด้านบนของพรีเมียร์ ลีก ที่ยังคง “มองเห็นแต่ไม่ใส่ใจ” กับเรื่องนี้แบบจริงจังเสียที
เชื่ออย่างยิ่งว่าความเห็นของ ซาก้า ก็จะเป็นเพียงแค่ข่าวที่ “ลอยลม” ไม่กี่วันคนก็ลืม เช่นเดียวกับที่ เจอร์ราร์ด กล่าวถึงรุ่นน้องให้ต้องเรียนรู้จะ “ปรับตัว” เอาให้รอดแบบคนที่ผ่านประสบการณ์มาก่อน และอาจรู้ด้วยว่าพูดไปเท่าไร พรีเมียร์ ลีก และคณะทีมงานกรรมการ ยังคง “ลอยตัว” อยู่เหนือทุกปัญหาเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพราะใจคนมันเข้าใจยากกว่าเทคโนโลยีนั่นเอง