ฟุตบอลโลก (World Cup) รายการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกฟุตบอลเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1930 มาจนถึงวันนี้ รายการแข่งขันนี้เดินทางมาถึงปีที่ 101 แล้ว
จาก อุรุกวัย สู่ กาตาร์ ที่กำลังจะกลายเป็นชาติแรกในตะวันออกกลางที่ได้รับสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรายการนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 22 และจะเป็นครั้งแรกที่ลงเล่นในช่วงเดือนพฤศจิกายน จากเดิมที่ลงเล่นในเดือนมิถุนายน ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องของสภาพอากาศในช่วงกลางปีของ ตะวันออกกลาง นั้นเรียกว่า “ร้อนตับแตก” กับอุณหภูมิประมาณ 30-50 องศาเซลเซียส และจะทำให้นักเตะจากหลายชาติ โดยเฉพาะในยุโรป มีปัญหาอย่างหนักจนสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาการจัดการแข่งขันเกิดขึ้นในที่สุด ไม่รวมถึงการที่ กาตาร์ เตรียมจัดใหญ่เกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งแบบถาวร และเฉพาะกิจในเรื่องเกี่ยวกับการลดความร้อนสำหรับนักเดินทาง และแฟนบอลทั่วโลก ในช่วงตลอด 1 เดือนของการแข่งขันเอาไว้รองรับเช่นกัน
ที่ผ่านมา ฟุตบอลโลก ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งมีการระบุเกี่ยวกับการแข่งขันทุก 4 ปี ต่อหนึ่งการแข่งขัน โดยมีเพียงช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเท่านั้นที่ยกเลิกการแข่งขันไปนานถึง 8 ปี ก่อนกลับมาลงเล่นในปี 1950 และก็ลงเล่นกันเรื่อยมา สร้างเรื่องราว ประวัติศาสตร์ และความทรงจำมากมาย ว่ากันตามจริง หากโอลิมปิก เกมส์ คือมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติ ฟุตบอลโลก ก็ไม่ต่างจากศูนย์รวมใจของแฟนฟุตบอลระดับชาติ ที่สักครั้งขอให้ได้มาลงเล่นในรอบสุดท้าย เป็นเกียรติประวัติให้กับประเทศ และครอบครัวตนเอง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ฟีฟ่า มีแนวคิดใหม่ออกมาในช่วงสองสัปดาห์หลังสุดจนเป็นประเด็นที่ค่อนข้างน่าสนใจ จะหยิบยกขึ้นมาเขียนในวันนี้ คือ การปรับระยะเวลาในการแข่งขัน โดยจะร่นจากเดิม 4 ปี เหลือเพียง 2 ปี และแนวคิดที่ว่ามาจากแนวคิดของ อาร์แซน เวนเกอร์
อาร์แซน เวนเกอร์ (71 ปี) เข้ารับงานกับ ฟีฟ่า ในปี 2019 ตำแหน่งหัวหน้าพัฒนาวงการฟุตบอลในระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีหน้าที่ในการดูภาพรวมและพัฒนาการเติบโตของวงการฟุตบอล โดย ฟีฟ่าเชื้อเชิญเขามารับงานนี้ และเขาก็รับงานนี้เพราะมองว่าเป็นงานที่ท้าทายอีกรูปแบบหนึ่ง และการนำเสนอแผนงานร่นระยะเวลาในการลงเล่นฟุตบอลโลกจาก 4 เหลือ 2 ปี ก็เป็นหนึ่งแผนงานที่ว่า ซึ่งเขามองว่ามันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับวงการฟุตบอล
“ผมเชื่อมั่น 100 % ในแผนงานนี้ว่ามันจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับฟุตบอล ในวงการนี้ ถ้าคุณไม่ลงเล่นในรายการใหญ่ คุณจะลงเล่นในรายการเล็ก ไม่ใช่ไม่ได้ทำอะไรเลย แผนงานนี้ เราเคารพในสถานการณ์ถึงสมดุล 80:20 ระหว่างฟุตบอลสโมสร และทีมชาติ และผมจะเซ็นตอบรับแน่ ถ้าผมยังทำงานอยู่ในระดับสโมสร”
โดยแผนงานของ อาร์แซน เวนเกอร์ มีเป้าหมายในการจัดปฏิทินการแข่งขันในเกมระดับชาติขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยแผนงานหลักคือ
โดย เวนเกอร์ มองว่าการทำเช่นนี้จะช่วยได้หลายเรื่องทั้งเรื่องของ
“ปฏิทินฟุตบอลของโลกฟุตบอลเวลานี้ มันล้าสมัยไปแล้ว เราจำเป็นต้องมีการจัดการใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับฟุตบอลในยุคปัจจุบัน รูปแบบ 4 ปีครั้ง มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1930 และมาถึงวันนี้ ยังมีชาติมากถึง 133 ชาติที่ไม่เคยมีส่วนในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย”
นอกจากนี้ การมีการแข่งขันฟุตบอลโลกในทุกสองปี อาร์แซน เวนเกอร์ มองถึงเรื่องของรายได้ที่มากขึ้นในแต่ละครั้งในการจัดการแข่งขัน ซึ่งรวมถึงประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขันไม่เพียงแต่เจ้าภาพเพียงอย่างเดียว และมันจะช่วยเป็นแรงผลักดันหนึ่งในการพัฒนาวงการฟุตบอลระดับชาติได้ไปจนถึงระดับฟุตบอลเยาวชน ที่เขามองว่ามันยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของ โอกาสและการพัฒนาที่ดีของเด็กแต่ละชาติ
ในสมัยคุมทีม อาร์แซน เวนเกอร์ ได้ชื่อว่าเป็นผู้จัดการทีมที่เชื่อมั่นใน “พลังหนุ่ม” กับการให้โอกาสนักเตะเยาวชนมากมายกับการก้าวมาเล่นในทีมชุดใหญ่ของสโมสร โดยเฉพาะกับ อาร์เซนอล และกลายเป็นหนึ่งใน “ลายเซ็น” ของเขาในเรื่องของการทำทีม และเมื่อมาทำงานกับ ฟีฟ่า ที่ซึ่งจากเดิมเขาคือ “ส่วนหนึ่งในระบบ” กลายมาเป็น “คนจัดการระบบ” เขาก็ไม่ยอมพลาดที่จะจัดการในเรื่องนี้ และการจัดตารางแข่งขันระดับชาติครั้งนี้ ส่วนหนึ่งก็มีเป้าหมายในการสร้างแรงจูงใจในการลงทุนกับระบบเยาวชนของวงการฟุตบอลทีมชาติ
“เรารู้ในคุณภาพของนักเตะระดับเยาวชน และมันจะเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับในระดับอาชีพในอนาคต” เวนเกอร์ กล่าว
หลังการกล่าวเกี่ยวกับแนวคิด และเสนอเรื่องเข้าไปยัง ฟีฟ่า เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่หากสำเร็จจะก่อให้เกิดผลกระทบไปทั่ววงการฟุตบอลตลอดไป ก็มีเสียงวิจารณ์ออกมามากมายทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่ออกมา ความเห็นเป็นไปในทิศทางเห็นด้วยมากกว่า และทาง ฟีฟ่า ก็เตรียมที่จะเชิญตัวแทนจากทั้ง 6 ทวีป เข้ามาประชุมร่วมกันในการปรับปฏิทินการแข่งขันฟุตบอลครั้งใหญ่นี้ภายในเดือนกันยายน เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ โดยระบุว่าหากเป็นเช่นนั้นจริงจะมีการใช้งานจริงหลังจากฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024 เป็นต้นไป
ปัจจุบันนี้มีเพียง 79 ชาติเท่านั้นที่เคยได้สัมผัสกับ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย และมีมากถึง 20 ชาติ ที่เคยเข้าร่วมมันเพียงครั้งเดียว และอีก 27 ชาติที่ลงเล่นในรอบสุดท้ายไม่เกิน 5 ครั้ง และปัจจุบันนี้ฟุตบอลโลกจะมีทั้งหมด 48 ทีมในรอบสุดท้าย
แน่นอนในสถานการณ์แห่งการ “ประชุม” เพื่อความเปลี่ยนแปลงนี้ ก็มีหลายคนพูดถึงเสน่ห์ของฟุตบอลจะลดลงหรือไม่ เหมือนในกรณีที่เมื่อช่วงต้นปีกับการก่อตั้ง ยูโรเปี้ยน ซูเปอร์ ลีก ที่จะเตะกันอยู่ไม่กี่ทีม ซึ่งเป็นบิ๊กเกมทั้งหมด จะเกิดความน่าเบื่อหรือไม่ เพราะรายการนั้น ไม่มีตกชั้น และการันตีเงินเข้าบัญชีทุกสโมสรอย่างเต็มกระเป๋า อย่างไรก็ตามทุกอย่างก็ล่มลงอย่างรวดเร็วเมื่อแฟนบอลไม่เอาด้วย และพวกเขามองว่า สโมสรของพวกเขา ควรภูมิใจในเกียรติยศ มากกว่า เงินทอง ที่แม้มันจะสำคัญ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของการลงเล่นฟุตบอล
อย่างไรก็ตามในการจัดการแข่งขัน ฟุตบอลโลก ในแบบทุก ๆ สองปี จะน่าเบื่อ และลดเสน่ห์ของมันลงไปหรือไม่ กับการที่ 4 ปีหนมาดวลกันหาที่สุดในระดับชาติ กลายมาเป็นสองปีครั้ง ก็ยังไม่สามารถตอบได้ เช่นเดียวกับความเห็นของแฟนบอลที่มองถึงว่ามันจะสนุกจริง ให้โอกาสชาติเล็กได้มีส่วนร่วมจริง หรือเป็นเพียงแค่การหารายได้ที่มากขึ้นของฟีฟ่าเท่านั้น
เรื่องนี้อีกไม่นานก็คงได้รู้กัน และหากมีการแข่งขันเกิดขึ้นจริง แต่ผลตอบรับที่ออกมามันไม่เวิร์คอย่างที่หวัง การเปลี่ยนแปลงก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งเช่นกัน เพราะในเมื่อ “ฟุตบอล” เกิดขึ้นเพราะ มนุษย์ หาอะไรมาเตะเล่นกัน “การแข่งขันฟุตบอล” ก็เกิดขึ้นจากมนุษย์จัดขึ้น หากมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงก็เป็นมนุษย์อีกเช่นกันที่จะเปลี่ยนแปลงมันได้
ในขณะที่ อาร์แซน เวนเกอร์ การพูดสัมภาษณ์ของเขาในปี 2019 หลังการรับงานในตำแหน่งนี้กับ ฟีฟ่า ที่เขาระบุว่าเป็นความท้าทายใหม่ มันกลายเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้พูดเพียงอย่างเดียว แต่เขากำลังทำมัน เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเขาทำให้ อาร์เซนอล กลายเป็น “หนึ่งเดียว” ที่ยังคงไร้พ่ายในวงการฟุตบอลอังกฤษสมัยใหม่ ที่ยังไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีสโมสรใดจะมาทำแบบเดียวกับทีมของเขาในปี 2003-2004 แต่ครั้งนี้เขากำลังจะเปลี่ยนแปลงมันด้วยมันสมอง และอำนาจที่เขามี ถ้าทำได้เขาจะกลายเป็นที่จดจำของวงการฟุตบอลในฐานะของ ผู้เปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลในระดับนานาชาติอย่างแท้จริง…