สิ้นสุดเดือนมกราคม 2022 เรียบร้อยสำหรับ อาร์เซนอล และมันเป็นเดือนที่เฮงซวยที่สุดเดือนหนึ่งในฤดูกาลนี้ของพวกเขา กับการไม่ชนะใครเลย 5 เกมติดต่อกัน ในทุกรายการ (เสมอ 2 แพ้ 3) และทำให้การพักเบรกช่วงฤดูหนาวนี้ คือ เช็คพอยต์ ที่มาเซฟพวกเขาได้ทันเวลา
พวกเขาอยู่ในสถานการณ์วิกฤตอย่างมากในเดือนนี้ การตกรอบ เอฟเอ คัพ และ คาราบาว คัพ สองรายการติดต่อกันในเดือนเดียว ส่งผลต่อความรู้สึก และกำลังใจของทีมไม่มากก็น้อย แต่ในแง่ของเส้นทางการลุ้นพื้นที่แชมเปี้ยนส์ ลีก ยังคงเปิดกว้าง และมันไกลออกไปอีกหน่อย หลังการเสมอกับ เบิร์นลีย์ 0-0 ในเกมที่พวกเขาบุกข้างเดียวตลอด 45 นาทีหลังของเกม
อาร์เซนอล ไม่มีทางเลือกมากนักในการจัดทัพในเกมส่งท้ายเดือนแรกของปี อาการบาดเจ็บ, การติดเชื้อโควิด-19, การติดโทษแบน และการขาดหายไปจากภารกิจทีมชาติ ส่งผลอย่างรุนแรงในเกมนี้ เกมที่พวกเขา “หวังไว้มาก” กับการได้สามคะแนน เพราะทั้งเล่นในบ้านตนเอง และคู่แข่งอยู่ในอันดับสุดท้ายของลีก
แต่ในผลของความเสมอ มันก็มีเหตุของมันอยู่ เหตุผลที่เป็นความจริง แต่ก็ไม่ได้อยากยอมรับ สำหรับแฟนอาร์เซนอลทุกคน
ก่อนเกมนี้ อาร์เซนอล ลงเล่นมา 4 เกมในรอบ 21 วัน และมีช่วงที่ต้องหายไปช่วงหนึ่งจากการติดเชื้อโควิด-19 ในทีม จนทำให้ต้องเลื่อนเกมออกไป พวกเขาเจอกับปัญหาใหญ่ก็คือทางเลือกของทีม มีไม่มากนัก พวกเขามีนักเตะชุดใหญ่เหลือเพียง 14-15 คน ที่เหลือให้เป็นทางเลือก ในการลงเล่นที่เหลือใส่นักเตะจากทีมสำรองมานั่งให้เต็มข้างสนาม ขณะที่ เบิร์นลีย์ มีปัญหานักเตะบาดเจ็บไม่เท่ากับปัญหาเรื่องโควิด-19 ที่ทำให้พวกเขาเลื่อนเกมมาต่อเนื่อง ก่อนมาถึงเกมนี้พวกเขาได้พัก 15 วัน นอกจากจะร่างกายดีกว่าแล้ว ตัวหลักของพวกเขากลับมาได้ทันในเกมนี้เกือบทั้งหมด และด้วยสถานการณ์ตรงนี้ต่างกัน มันส่งผลเยอะ ในเรื่องของการแก้เกมทันที
รูปเกมของอาร์เซนอล มาเล่นเกมบุกเต็มตัว ส่วน เบิร์นลีย์ เน้นเกมรับ 90 % รุก 10 % พวกเขาอยู่ท้ายตารางหนึ่งคะแนนของพวกเขา ก็ถือว่าน่าพอใจมากแล้วในการมาเยือนอาร์เซนอล ที่พวกเขาเคยเอาชนะได้ในฤดูกาลที่แล้ว รูปเกมแทบจะไม่ต่างกัน แนวคิดการเล่นของทั้งสองทีมเหมือนเดิม “หนึ่งทีมต้องชนะ หนึ่งทีมขอเสนอก็พอ” แต่ที่ต่างไปคือ การเร่งไม่ขึ้นของทีมเจ้าบ้าน
ครึ่งแรก อาร์เซนอล “เนือยลงไป” จากเกมก่อน ๆ หน้านี้ การลงเล่นติดต่อกันมาถึงเกมที่ 5 ส่งผลอย่างมาก พวกเขาในช่วงครึ่งแรก เจอกับการเพรสซิ่งสูงตั้งแต่แดนบน แพคกลางให้แน่น และกองหลังปักหลักในแนวรับ นี่คือวิธีการเล่นของทีมเยือน ซึ่งส่งให้พวกเขาเสียประตูน้อยมากในฤดูกาลนี้ เพียง 27 ประตูจาก 18 เกม
พอมาครึ่งหลัง อาร์เซนอล ทำได้ดีขึ้นในการเข้าทำมีโอกาสหลายต่อหลายครั้ง แต่พอทำไม่ได้ อาการ “หมด” มันก็ออกมาให้เห็น ปกติแล้วหากเกมเป็นแบบนี้ ทุกทีมจะมองไปที่ตัวสำรองเปลี่ยนเกม เติมความสดของผู้เล่นลงมาช่วย แต่ อาร์เซนอล ไม่มีสิ่งนั้นในเกมนี้ พวกเขามีตัวรุกเพียงคนเดียวที่มีประสบการณ์ใน พรีเมียร์ ลีก คือ เอ็ดดี้ เอนเคเธีย ที่ก็แทบไม่ได้ยิงประตูในลีกมานานมากแล้ว ที่เหลือคือสำรองจากทีมสำรอง และอีกกลุ่มคือเหล่ากองหลังอย่าง คาลัม แชมเบอร์ส, นูโน่ ตาวาเรส และ แบนด์ เลโน่ ในฐานะนายทวารสำรอง
นั่นทำให้ อาร์เซนอล 11 ตัวจริงเหมือนมีพลังเต็ม 100 % แค่ 70 นาที ที่เหลือคือเร่งไม่ขึ้น อ่อนล้า และไม่มีตัวให้เปลี่ยนที่คาดหวังผลได้มากนัก
สุดท้าย เบิร์นลีย์ได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการอย่างสมควรได้มันไปในแบบที่ต้องปรบมือให้ และเป็นอีกเกมที่เป็นตัวอย่างเลยว่า “Squad Depth” หรือคุณภาพในเชิงลึกของตัวผู้เล่นในทีมสำคัญมากขนาดไหน มั่นใจได้เลยไม่มีใครรู้ซึ้งเท่ากับ อาร์เซนอล อีกแล้ว
อาร์เซนอล ก่อนเข้าปีใหม่ พวกเขารู้เต็มอกว่าตนเองจะต้องไม่มี โธมัส ปาเตย์ และ โมฮัมเหม็ด เอลเนนี่ ในพื้นที่ตรงกลางสนาม จากภารกิจแอฟริกัน เนชั่นส์ คัพ รู้ทั้งรู้แต่พวกเขา
“ประมาท” ในการตัดสินใจรีบปล่อย ไอน์สลีย์ เมดแลนด์-ไนลส์ กองกลางสำรองลำดับสุดท้ายของทีมออกไปให้กับ โรม่า ยืมตัวในต้นตลาดการซื้อขายเดือนมกราคม ทำให้ทางเลือกน้อยลงไปอีกหนึ่งคน ตรงนี้ แม้ว่าจะมีเหตุผลมารองรับว่า “เสี่ยไนลส์” ต้องการออกจากทีมเพื่อการลงเล่นมากขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์ทีมที่เป็นอยู่ กลายเป็นว่า หลุดจาก โลกอนก้า ลงไปคือทีมเยาวชนแล้วทันที เพราะทีมยังไม่สามารถปิดดีลกองกลางมาแทนที่ได้เลยจนถึงเวลานี้
“ซวย” การเสีย กรานิท ชาก้า ไปจากใบแดง ทำให้ทีมจบเห่กับการไม่มีทางเลือกไปอีกหนึ่งคน และเมื่อทีมชาติกาน่า อุตส่าห์พลาดตกรอบแรก และทำให้ทีมได้ โธมัส ปาเตย์ กลับมาได้ทัน ก็ดันจะมาโดนใบแดงแบบไม่ควรพลาดแบบนั้น ในเกมที่ผลการแข่งขันมันขาดไปแล้ว และมันส่งผลกับทีมโดยตรงมาก แทนที่จะเป็นตัวหลักในช่วงเดือนนี้กลายเป็นต้องมานั่งเป็นผู้ชมทั้งสองคน
“ความอ่อนประสบการณ์ของโค้ช และนักเตะ” มิเคล อาร์เตต้า เคยลองเสี่ยงส่ง ชาร์ลี ปาติโน่ มาเล่นร่วมกับ โลกอนก้า ในเกมเอฟเอ คัพ และปรับแผนมาเล่นเป็น 4-1-4-1 สุดท้ายไม่รอด ปาติโน่ ไม่ได้สร้างความต่างในเกมรุกอย่างที่หวัง และการเป็นเพิ่มภาระให้กับ โลกอนก้า ที่ก็ไม่ได้เป็นโล้เป็นพาย ในเวลาต้องแบกกองกลางไว้คนเดียว ไม่มีรุ่นพี่คอยช่วงประคอง ครั้นพอจะเลือก เออเดการ์ด มาเล่นแทนที่ ผู้เล่นศักยภาพดีกว่า แต่แนวคิดไม่ได้เปลี่ยนสุดท้ายผลที่ออกมาคือ ไม่ผ่านกับการเล่นในระบบ 4-1-4-1 ที่ใช้ แซมบี้ โลกอนก้า เล่นกองกลางเพียงคนเดียว แน่นอนไม่มีใครคาดคิดว่า อาร์เซนอล จะเจอกับสถานการณ์แบบนี้ แต่ก็ต้องบอกว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ว่าจะเกิด และเมื่อเกิด อาร์เซนอล ไม่พร้อมเท่าไรกับการรับมือกับสถานการณ์นี้ และส่งผลต่อคะแนน และผลการแข่งขันโดยตรง
4 เกมที่ โลกอนก้า ลงสนามแบบเป็น “กองกลางธรรมชาติ” เพียงคนเดียวในทีม มีเกมน่าประทับใจน้อยกว่าเกมที่น่าผิดหวัง นักเตะวัย 21 ปี ยังต้องการประสบการณ์อีกมาก เช่นเดียวกับความ “กล้า” ในการเล่นที่มากกว่านี้ ผู้เขียนกล่าวถึง โลกอนก้า หลายครั้งทั้งผ่านอักษร และการพูดถึงหลายครั้ง เกี่ยวกับที่ว่า นักเตะ เป็นเด็กที่มีศักยภาพส่วนตัวที่ดี มีเทคนิคที่ดี แต่ประโยชน์ของการทำเพื่อทีม มันน้อยเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อต้องเล่นเพียงคนเดียว ไม่มี ปาเตย์, ชาก้า หรือ เอลเนนี่ คอยช่วยเหลือ นี่คือเรื่องของประสบการณ์ล้วน ๆ
เกมกับ เบิร์นลีย์ เขาน่าผิดหวังที่สุดในเรื่องของการเล่นที่ “ตามหน้าที่แบบไม่ทำเกินหน้าที่” เล่นอยู่ในพื้นที่ของตนเองบริเวณกลางสนาม ออกบอลไปรอบทิศ ที่เหลือคือเดินไปมาอยู่ตรงบริเวณนั้น คอยเชื่อมบอล รับบอล ผ่านบอล แต่ไม่มีความดุดันในการผลักให้เกมเดินไปข้างหน้า อาร์เซนอล ในช่วงที่เร่งเกมสุดตัวในช่วงนาทีที่ 50-60 ของเกม พวกเขามีโอกาสหลายครั้ง แต่พวกเขา “ไปไม่สุด” ในเรื่องของการกดดัน เพราะ กองกลาง แทบเก็บบอลสองไม่ได้เลย บอลจึงฝากความหวังไปที่ตัวริมเส้นสองฝั่ง ซ้าย-ขวา ให้เปิดเข้ามา ซึ่งก็ยิ่งเข้าทาง เบิร์นลีย์ เพราะพวกเขาเล่นสบายกับลูกกลางอากาศทั้ง เจมส์ ทาร์คอฟสกี้ – เบนมี คู่กลางตัวใหญ่เล่นสบายเก็บกินได้หมด หากมองถึงจุดอ่อนของเกมนี้ จะบอกว่าเป็น โลกอนก้า ก็ไม่เต็มปาก เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรผิดในหน้าที่ แต่เขาก็ทำดีกว่านี้ไม่ได้แล้วเช่นกัน เหมือนที่ อาร์เตต้า ก็ยอมรับว่า เขาไม่ได้มีแผนในการจะใช้งาน โลกอนก้า มากขนาดนี้ แต่สถานการณ์มันพาไป
ท้ายที่สุดแล้ว “หนึ่งคะแนนที่ไม่อยากได้ในเกมนี้” ก็ต้องรับไว้ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ไม่ต้องมองไปไกล มันคือความผิดพลาดของทีม 100 % ทุกคนมีส่วนร่วมกับ “มกราน่าผิดหวัง” ในครั้งนี้ทั้งหมด เหลือเวลาอีก 8 วัน กับการตลาดการซื้อขาย อาร์เซนอล คงต้อง “กล้าเสี่ยง” ให้มากกว่านี้ เพื่อแก้วิกฤตเฉพาะหน้านี้ให้ผ่านพ้นไป เช่นเดียวกับ นักเตะ ที่จะได้หายใจนอนพักเต็มที่สักหน่อย กับการเข้าแคมป์ที่ดูไบ ทั้งเปลี่ยนบรรยากาศ และชาร์จพลังงานให้เต็มที่ ก่อนเข้าสู่ 3 เดือนครึ่งที่เหลือของฤดูกาลนี้
“พื้นที่แชมเปี้ยนส์ ลีก” ยังคงเป็นไปได้กับ 17 เกมสุดท้ายของฤดูกาลนี้ และ 8 วันนับจากนี้ อาจกลายเป็นช่วงสำคัญมากที่สุดของฤดูกาลนี้ก็เป็นได้