ในขณะที่ วงการฟุตบอลไทย ยังคงวุ่นวายกับการจัดการแข่งขันว่า ท้ายที่สุดแล้วจะสามารถกลับมาลงทำการแข่งขัน ได้เมื่อไร จากสถานการณ์ระบาดของ โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ในเวลานี้กำลังจะเข้าสู่เดือนที่ 5 กันแล้ว วันนี้ เรามาขอย้อนรอย ไปยัง 23 ปีที่แล้ว กับการแข่งขัน ไทยลีก ครั้งแรกกันให้หายคิดถึงกันครับ
ฟุตบอลลีก ของประเทศไทย แท้จริงแล้วมีกันมายาวนานมากแล้ว ภายใต้ชื่อที่ทุกวันนี้ ยังคงได้ยินกันอยู่ในชื่อของ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ก. ซึ่งก็มีการจัดการแข่งขันกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่สมัยนั้น ยังไม่ใช่ระบบที่เป็น ฟุตบอลอาชีพ แบบในยุคนี้ แม้กระทั่งใน “ไทยลีก” หรือ “ไทยแลนด์ลีก” ครั้งแรก ที่เรากำลังจะกล่าวถึง ก็ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และมีเรื่องวุ่นวายกันหลายเรื่องตามมาในภายหลัง โดยสโมสรส่วนมาก จะเป็นสโมสรที่มาจาก องค์กรรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานเอกชน แทบทั้งสิ้น
ใน พ.ศ. 2539 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขัน จาก ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ก. มาเป็น ไทยแลนด์ ซอคเกอร์ ลีก โดยมีผู้สนับสนุนหลัก รายแรกคือ จอห์นนี วอล์คเกอร์ เครื่องดื่มสีชา ดื่มแล้วหน้าแดง เป็นสปอนเซอร์หลัก ทำให้การแข่งขัน ไทยแลนด์ลีก ครั้งแรก จึงมีชื่อว่า จอห์นนี่ วอล์คเกอร์ ไทยแลนด์ ซอคเกอร์ ลีก นั่นเอง
ระบบการแข่งขันในครั้งแรก เป็นการนำสโมสรจาก ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ก. ทั้งหมด 15 สโมสร รวมกับอีก 3 สโมสร จาก ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ข. มารวมเป็น ลีก เดียวกัน รวมทั้งสิ้น 18 ทีม แข่งกันในระบบลีก พบกันหมด รวมแล้ว 34 เกม
ทีมอันดับที่ 1 – 4 จะเข้าสู่รอบเพลย์ออฟ เพื่อหาแชมป์ลีก ส่วน 6 อันดับสุดท้ายในฤดูกาลแรกจะตกชั้น เพื่อไปร่วมกับ 4 สโมสร ในระดับ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน ข. เพื่อให้กลายเป็น ไทยลีก ดิวิชั่น หนึ่ง ในฤดูกาลต่อมา
โดยในฤดูกาลแรกของ จอห์นนี่ วอล์คเกอร์ ไทยแลนด์ ซอคเกอร์ ลีก มี 18 ทีมดังต่อไปนี้
การท่าเรือแห่งประเทศไทย / ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย / ตำรวจ / ทหารบก / ทหารอากาศ / ธนาคารกรุงเทพ / ธนาคารกรุงเทพ พาณิชยการ / ธนาคารกรุงไทย / ธนาคารกสิกรไทย / พนักงานยาสูบ / ยูคอมราชประชา / ราชนาวี / ราชวิถี / สิงห์ ธำรงไทยฯ / สิงห์เทโรศาสน
/ สินธนา / องค์การโทรศัพท์ และ โอสถสภา
ในยุคแรกเริ่มของ ฟุตบอลไทยลีก ในปี 2539 สโมสรยังไม่มีการลงทุน ในเรื่องของ สนามแข่งขัน ของแต่ละสโมสรในแบบทุกวันนี้ จึงมีการกำหนดสนามแข่งเอาไว้ทั้งสิ้น 6 สนาม และด้วยสโมสรในยุคแรกเริ่มนั้น แทบทั้งหมดตั้งอยู่ใน กรุงเทพมหานคร ทำให้สนามแข่งขัน จึงใกล้กับ กรุงเทพฯ ทั้งหมด ประกอบไปด้วย สนามศุภชลาศัย / สนามเทพหัสดิน / สนามกีฬาธูปะเตมีย์ / สนามกีฬาสิรินธร / สนามกีฬากลางจังหวัด สุพรรณบุรี และ สนามกีฬากลางจังหวัด พระนครศรีอยุธยา เพื่อใช้ในการแข่งขันทั้งหมด
โดย สโมสรแรกที่ได้แชมป์ จอห์นนี่ วอล์คเกอร์ ไทยแลนด์ ซอคเกอร์ ลีก ก็คือ สโมสร ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเวลานั้นจบด้วยอันดับที่สาม ในลีก ก่อนจะเพลย์ออฟ เข้าไปชิงชนะเลิศ เอาชนะ ตลาดหลักทรัพย์ ได้ในรอบชิงชนะเลิศ
ขณะที่ อัมพร อำพันสุวรรณ นักเตะ จากสโมสร องค์การโทรศัพท์ ได้รับการระบุว่า เป็น ดาวซัลโว ไทยลีกยุคใหม่ เป็นคนแรก ด้วยจำนวน 21 ประตู เช่นเดียวกับ “โค้ชเฮง” วิทยา เลาหกุล กลายเป็น ผู้จัดการทีมคนแรก ที่พาทีมได้แชมป์ลีกสูงสุด ของประเทศไทย
ขณะที่ พนักงานยาสูบ / โอสถสภา / ธนาคารกรุงเทพ พาณิชยการ / ราชวิถี / ธนาคารกรุงไทย และ สิงห์ ธำรงไทยฯ ตกชั้นในฤดูกาลแรกของ ไทยแลนด์ ซอคเกอร์ ลีก
ทั้งนี้การแข่งขันแบบ เพลย์ออฟ หาแชมป์ นั้นมีเพียงการแข่งขันในฤดูกาลแรก เพียงฤดูกาลเดียวเท่านั้น ที่ใช้งาน ในระบบดังกล่าว เพราะนับจากนั้น ลีก ก็มีการปรับมาตัดสินแชมป์แบบ ปกติ ด้วยระบบการเล่น ชนะ ได้ 3 คะแนน เสมอ 1 คะแนน และแพ้ไม่มีคะแนน ใครได้คะแนนมากที่สุดก็ คว้าแชมป์ไปเลย
สำหรับในฤดูกาลต่อมาของ ไทยแลนด์ ซอคเกอร์ ลีก มีสโมสรลงเล่น ทั้งหมด 12 สโมสร และจะมีทีมตกชั้นทั้งสิ้น 2 สโมสร โดยอันดับสุดท้ายของลีก จะตกชั้นทันที แต่ทีมอันดับที่ 11 ของตาราง จะลงเล่นในเกมเพลย์ออฟ กับ สโมสรรองแชมป์ ดิวิชั่น หนึ่ง เพื่อหาหนึ่งทีมในการลงเล่นใน ไทยแลนด์ ซอคเกอร์ ลีก ต่อไป