มีรายงานจาก ดิ แอตเลติก ระบุว่า สโมสรใน พรีเมียร์ ลีก ใช้จ่ายเงินมากถึง 263 ล้านปอนด์ สำหรับค่า เอเยนต์ของนักเตะ ในเรื่องของการซือขาย รวมถึงการต่อสัญญาใหม่ สำหรับฤดูกาล 2019-2020 ที่ผ่านมา
ลิเวอร์พูล คือทีมที่จ่ายมากที่สุดถึง 30.3 ล้านปอนด์ ตามด้วย แมนเชสเตอร์ ซิตี้, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ เชลซี กับตัวเลขประมาณ 26 ล้านปอนด์ ขณะที่ เบิร์นลีย์ คือสโมสรที่จ่ายน้อยที่สุดในเรื่องนี้ อยู่ที่ 3.9 ล้านปอนด์
ในขณะที่ สโมสรในระดับเดอะ แชมเปี้ยนชิพ จ่ายรวมทั้งทั้งลีกรวม 49 ล้านปอนด์ ส่วน ลีก วัน และ ลีก ทู รวมกันสองลีกใช้จ่ายในส่วนนี้เพียง 5 ล้านปอนด์ เท่านั้น เท่ากับ 4 ลีกระดับอาชีพ เอเยนต์ได้เงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 320 ล้านปอนด์
การแย่งชิง “นักเตะ” ในการคว้าสิทธิ์ในการดูแลสิทธิประโยชน์ ของแต่ละคน เป็นเหมือนกับ สงครามเบื้อหลัง ความสำเร็จ และความร่ำรวย ซึ่งนอกจากทั้งสองสิ่งแล้ว เรื่องของ “ชื่อเสียง” และ “ภาพลักษณ์” ก็เป็นเรื่องที่เหล่า นักเตะ ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
ยกตัวอย่างเช่น วิลฟรีด ซาฮา นักเตะ ทีมชาติไอวอรีโคสต์ ผู้ซึ่งเคยมีค่าตัวสูงถึง 80 ล้านปอนด์ ได้ตัดสินใจย้าย เอเยนต์ จาก ยูนิค สปอร์ต เมเนจเมนต์ ในปี 2019 และเซ็นสัญญากับ เฟเดริโก้ ปาสโตเรลโล่ ผู้ซึ่งเป็นเอเยนต์ของ โรเมลู ลูกากู ที่ได้ตัวมาจาก มิโน ไรโอล่า เอเยนต์ คนดัง อย่างไรก็ตาม ซาฮา ก็อยู่เพียงปีเดียว ก็ย้ายเอเยนต์อีกครั้ง โดยล่าสุดเขาเซ็นสัญญากับ ร็อคเนชั่น เอเยนต์สัญชาติอเมริกัน เรียบร้อย โดย ร็อคเนชั่น คือเอเยนต์ที่มีบทบาทในการทำให้ มาร์คัส แรชฟอร์ด ได้มีชื่อเสียงมากกว่าเดิม เกี่ยวกับการที่เขาเรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิ์ของเด็กนักเรียนในอังกฤษ รวมถึงในเรื่องของการเมืองในประเทศ อีกด้วย ขณะที่ ราฮีม สเตอร์ลิ่ง ก็มีรายงานว่า เขากำลังจะแยกทางกับ ไอดี้ วอร์ด เอเยนต์ที่ร่วมงานกันมานาน
เอเยนต์ นักเตะ ฟุตบอล มีหน้าที่ในการทำงานทุกอย่าง นอกสนามแทนที่ นักเตะ ของพวกเขา นักเตะ ที่ว่ากันว่า เป็นหนึ่งในอาชีพ ที่มีอายุงานสั้นไม่เกิน 20 ปี ดังนั้นทุกนาทีของพวกเขา คือ เวลานับถอยหลัง ในการสร้างรายได้ ชื่อเสียง ให้กับตนเอง เพื่อปูอนาคตให้กับตนเอง หลังแขวนสตั๊ด โดย เอเยนต์ ที่หลายคนทราบ ก็จะมีงานสำคัญในเรื่องของการ เจรจาทั้งเรื่องการย้ายทีม หรือการต่อสัญญาใหม่ ฯลฯ ว่าง่าย ๆ นักเตะ จ้าง เอเยนต์ มาแก้ไขปัญหา และนำเขาไปสู่สิ่งที่ นักเตะ ต้องการ ให้ได้ แต่ทั้งหมดก็จะสอดคล้องไปกับ ผลงานของ นักเตะ ในสนามด้วยเป็นสำคัญ
เอเยนต์นักฟุตบอล จึงต้องทำงานได้ทั้ง “บุ๋น-บู๊” เป็น นักเจรจาที่ดี และเป็นจอมประนีประนอม แต่ในเวลาต่อมา พวกเขาอาจแปรเปลี่ยนเป็น นักพนัน ที่กล้าเรียก กล้าเสี่ยง เพื่อให้ ลูกค้า ของพวกเขาได้สิ่งที่ต้องการ
จากข้อมูลจาก ดิ แอตเลติก มีการระบุว่า เอเยนต์ นักเตะ ในวงการก็จะมีหลายระดับ ตั้งแต่ เอเยนต์ นักเตะ ทั่วไป จนถึงระดับ ซูเปอร์เอเยนต์ ผู้ซึ่งดูแล นักเตะ ระดับโลก อย่างเช่น มิโน ไรโอล่า (ปอล ป๊อกบา, ซลาตัน อิบราฮิโมวิช หรือ เออร์ลิ่ง เบร้าส์ ฮาแลนด์) หรือว่า ฆอร์เก้ เมนเดส (คริสเตียโน่ โรนัลโด้, เจา เฟลิกซ์, ดาบิด เด เคอา หรือว่า ฮาเมส โรดริเกวซ) มีการเปิดเผยว่า พวกเขา มีทริกมากมาย ในอาชีพ ที่พอจะเรียกว่า “ด้านมืด” ของอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น การออกข่าวลวงเพื่อสร้างกระแส, การดีลกับสินค้าที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง ไปจนถึงเรื่องเกี่ยวกับการจัดการภาษี และอีกหลายเรื่อง แน่นอน มันไม่ใช่เรื่องที่ดี
“มันไม่มีใครอยากทำงานด้วยความไม่ซื่อสัตย์หรอกนะ แต่เวลาเราไปบอกใครว่า ผมเป็นเอเยนต์ ผมก็จะเจอการต้อนรับไม่ดีเท่าไรนัก ผมเข้ามาทำงานในวงการนี้ เพราะผมมีความต้องการที่อยากทำงานนี้ อยากทำให้ทุกเรื่องมันถูกต้อง แต่มันก็ไม่ง่ายเลยนะ หากต้องการประสบความสำเร็จ หรือสามารถทำได้ตามที่เราต้องการ” เอเยนต์ คนหนึ่งกล่าว
ปัจจุบัน สมาคมฟุตบอล ได้มีการออกกฎเกี่ยวกับการเซ็นสัญญากับ นักเตะ ในการทำหน้าที่ดูแลสิทธิประโยชน์ โดยมีการห้ามเซ็นสัญญากับ นักเตะ ก่อนวันที่ 1 มกราคม ในปีที่ นักเตะ คนนั้นจะมีอายุครบ 16 ปี โดยมีการระบุว่าห้ามถึงขั้นว่ามีท่าทีใกล้ชิดกับ นักเตะ และแสดงพฤติกรรมที่มีแนวโน้ม ในการชี้นำ รวมถึงการติดต่อสื่อสารในทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ, อีเมล, สังคมออนไลน์ ที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของ นักเตะ หรือว่า ครอบครัว และเพื่อนของนักเตะเหล่านั้น และเมื่ออายุครบ 16 ปี แต่ยังไม่ถึง 18 ปี บริบูรณ์ เอเยนต์ สามารถที่จะเริ่มติดต่อกับ นักเตะ ได้ แต่ต้องได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษร จาก พ่อแม่ หรือ ผู้ปกครอง ของนักเตะ เสียก่อน โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา สมาคมฟุตบอลอังกฤษ มีการแบนตัวแทนนักเตะถึง 6 คน จากข้อหาดังกล่าว