ลูคัส ตอร์เรียร่า (26 ปี สัญญาถึงกลางปี 2023) กองกลางอาร์เซนอล ที่ซึ่งในฤดูกาลที่ผ่านมาย้ายไปลงเล่นกับ ฟิออเรนติน่า ในเซเรีย อา กลายเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อการเจรจาย้ายทีมไปเล่นกับ “ม่วงมหากาฬ” ของเขาล่มแล้ว จากการประกาศอำลาของเจ้าตัว
กองกลางร่างเล็ก (166 เซนติเมตร) เป็นขวัญใจของสาวกวีโอล่าอย่างมาก เขาลงเล่นไป 35 เกม ทำไป 5 ประตู 2 แอตซิสต์ เล่นอย่างทุ่มเทใจสู้ และผลงานก็ออกมาดี แฟนบอลรักเขา และได้รับการโหวตให้เป็นผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำเดือนของสโมสรถึง 3 ครั้งในฤดูกาลที่ผ่านมา แต่ทำไมการซื้อขายจึงไม่เกิด
อ้างอิงจาก ปาโบล เบนทานคูร์ เอเยนต์ของตอร์เรียร่ากล่าวกับสื่อในอิตาลีในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2022 เกี่ยวกับเรื่องนี้ มาจนถึงวันนี้ที่ตอร์เรียร่าโพสอำลาฟลอเรนซ์ และต้องกลับมาลอนดอน สรุปได้ดังนี้
ดีลนี้จบลง ตอร์เรียร่า ย้ายไปเล่นในอิตาลี จบฤดูกาล ฟิออเรนติน่า ก็อยากได้ตัวตอร์เรียร่า แต่พวกเขาบอกว่าค่าเหนื่อยตอร์เรียร่าสูงไป ค่าตัวก็สูงเกินไป “ไม่จ่าย” ขณะที่ อาร์เซนอล ก็ไม่ต้องการจะรับค่าตัวต่ำกว่าตัวเลขที่ตกลงกันไว้เช่นกัน ดีลจึงล่ม เพราะราคานี้พวกเขาก็ขาดทุนมากอยู่แล้ว จากตอนซื้อมาจาก ซามพ์โดเรีย อาร์เซนอล จ่ายไป 26 ล้านปอนด์ ส่วนตอร์เรียร่าสามารถใช้คำว่า “ผิดหวังอย่างรุนแรง” ก็คงไม่ผิดนัก เมื่ออ่านจากช้อความที่เขาบอกลาทีมจากฟลอเรนซ์ โดยมีบางส่วนที่ระบุถึงบางคนที่ไม่ทำให้ดีลนี้เกิดขึ้นอย่างที่เขาหวังเอาไว้
“ผมเสียใจ ผมทำดีที่สุดแล้วในการอยู่ต่อ แต่มีบางคนไม่อยากให้มันเกิดขึ้น”
หากมองจากรูปประโยคที่ตอร์เรียร่ากล่าวถึง ดานิเอเล่ ปราเด้ ผู้อำนวยการกีฬาของฟิออเรนติน่า คือหนึ่งในคนที่อาจต้องตอบคำถาม (หรืออาจเงียบไปเลยก็ได้) ว่าทำไมดีลนี้ ถึงไม่เกิดขึ้น ในฐานะหัวหน้าของฝ่ายบริหารส่วนนี้โดยตรง เขาคือคนที่ตอร์เรียร่าไว้ใจที่สุดคนหนึ่ง การเลือกย้ายมาเล่นกับฟิออเรนติน่า ส่วนหนึ่งก็มาจากตอร์เรียร่า รู้จักกับปราเด้มาก่อนสมัยเล่นกับ ซามพ์โดเรีย
การล้มเหลวในการเจรจาการซื้อขายครั้งนี้ ไม่ส่งผลดีกับใครเลย ทุกคนไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ…ไม่สิต้องบอกว่าเกือบทุกคนที่ผิดหวังที่มันจบแบบนี้ และมันอาจเป็น ฟิออเรนติน่า ที่อยากให้มันเป็นแบบนี้เพื่อการจ่ายที่น้อยลงในอนาคต หรืออาจถึงขั้นฟรีไปเลยก็ได้
อาร์เซนอลมีแต่เสียกับเสีย เพราะแม้ว่าจะได้ตัว ตอร์เรียร่า กลับมาในสัญญา 12 เดือนสุดท้ายนักเตะก็ไม่มีใจแล้ว หรือหากมีใจลุยต่อ แต่อาร์เซนอลเองก็มีแผนงานในการเสริมแดนกลางเอาไว้แล้วเช่นกัน ว่ากันตามสภาพถ้าตอร์เรียร่าอยู่ในแผนงาน สองปีหลังสุดคงไม่โดนส่งออกไปแบบยืมตัว ต่อให้มีปัญหาแค่ไหนก็ตาม ดีลนีเป็นสิ่งที่ “เจ็บไม่จำ แก้ไม่หาย” กับการยืมตัวนักเตะระดับซีเนียร์ที่ตนเองไม่ใช้งาน แต่ไม่สามารถใส่ออฟชั่นบังคับซื้อขาดเอาไว้ได้ สุดท้ายเจอลูกเล่นของทีมที่จะมาซื้อเข้าไป
สัญญานักเตะเหลือ 12 เดือนสุดท้าย แต่ในความเป็นจริงอีก 6 เดือนก็ฟรีแล้ว ถึงเวลานั้น ฟิออเรนติน่า หรือสโมสรไหนจะมาเซ็นฟรีล่วงหน้าใช้ฤดูกาลหน้า หรือจะมาให้เงินอีกสักหน่อยเพื่อเอาไปใช้ต่อในช่วงที่เหลือ อาร์เซนอล ก็ได้แต่ทำใจยอมรับ ทางเดียวที่จะทำให้ 4-5 เดือนนับจากนี้ ไม่เลวร้ายเกินไปคือ ต้องปล่อยให้ออกแบบได้ราคากลับมาบ้างในตลาดรอบนี้ ไม่ก็เลือกใช้งานเขาต่อไป ซึ่งเป็นไปได้ยากเช่นกัน
อาร์เซนอล ยังได้เจอปัญหาแบบนี้ในเคสของ เฮคตอร์ เบลเลริน ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน เมื่อ เรอัล เบติส ใช้งานจนคุ้ม ผลงานดี นักเตะเอ่ยปากเหมือนกันรักทีมอยากอยู่ต่อ เบติส ก็เลือกที่จะไม่จ่ายเงินตามที่คุยกันไว้ตอนยืมตัว แต่ใช้วิธีบีบให้เวลาหมดไปเท่านั้น ส่วนเรื่องค่าเหนื่อยของนักเตะที่บอกว่าแพง ๆ จ่ายไม่ไหว เชื่อเถอะว่า ลองให้ค่าตัวฟรี สโมสรกับนักเตะคุยกันได้แน่นอน ลองคนมีใจอะไรมันก็ไม่ยากแล้ว
สถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นจากสองปัจจัยหลักด้วยกันคือ
สถานะของนักเตะกับต้นสังกัด : ตอร์เรียร่า หรือว่า เบลเลริน อยู่ในสถานะตัวสำรอง หรือคนที่ไม่ได้เป็นตัวหลักของทีมอีกแล้ว ไม่ใช่แฟนบอลอาร์เซนอลอ่านข่าวก็รู้ นักเตะหมดอนาคตแน่แล้ว ทีมที่เข้ามาก็มาหาประโยชน์จากตรงนี้
คู่แข่งทางการค้า : เชื่อมโยงมาจากส่วนแรก หากยกตัวอย่างให้เห็นภาพในเรื่องนี้ ลองเทียบกับ ยูริ เทเลมองส์, กาเบรียล เชซุส หรือว่า ริยาด มาห์เรซ ที่สัญญาจะหมดในอีก 12 เดือนข้างหน้าเช่นกัน ต้นสังกัดของพวกเขา กลับสามารถเรียกราคาได้มาก เพราะสถานะของผู้เล่นคือตัวหลัก ผลงานน่าสนใจ หลายทีมก็อยากได้ตัว การซื้อขายเจรจาค่าตัว และการเปรียบเทียบราคาจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตรงกันข้าม เบลเลริน กับ ตอร์เรียร่า ตอนนี้นอกจากสองทีมที่ยืมตัวพวกเขาไปใช้งานก็ไม่มีใครเลย อย่างน้อยก็ในเวลานี้ แถมนักเตะดันเอ่ยปาก รักทีมที่ตนเองยืมไปอย่างยิ่ง ยิ่งไม่ทำให้อาร์เซนอลได้ประโยชน์ใด ๆ เลย
การยืมตัวในอนาคต สำหรับแข้งซีเนียร์ เราอาจจะได้เห็นการดีลแบบ “บังคับซื้อขาด” กันมากยิ่งขึ้น เมื่อ “ออฟชั่นซื้อขาด” ไม่ตอบโจทย์ต่อทุกฝ่ายอีกต่อไป และยังคงมีการเจรจาที่พร้อมหัก และเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อที่มีโอกาสที่จะได้เปรียบอีกฝ่ายมากกว่าเดิม ขณะที่เหล่าดาวรุ่งการยืมตัวอาจจะเป็นเพียงการยืมที่ไม่มีเงื่อนไขใดในทุกกรณี หลังจบการยืม หากพอใจในผลงานก็ค่อยมาว่ากันใหม่
ท่ามกลางสถานการณ์ที่แฟนบอลทั่วโลกต่างสนใจว่าทีมรักของตัวเองจะได้นักเตะใหม่คนไหนเข้ามาร่วมทีม แต่งานตรงกันข้ามอย่างการจัดการบุคลากรที่ต้องการปล่อยออกจากทีม กลับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า และเป็นศาสตร์ที่ทีมงานของแต่ละสโมสรต้องเรียนรู้กันให้มาก เพราะการ “จ่ายเงิน” มันง่ายกว่าการ “หาเงิน” เสมอนั่นเอง