ตลาดการซื้อขายจบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พรีเมียร์ ลีก ก็กลับมาอีกครั้งแล้ว แต่ก็มีควันหลงของการซื้อขายรอบนี้มาฝากกัน โดยการซื้อขายรอบนี้ 6 อันดับแรกของ พรีเมียร์ ลีก ณ เวลานี้ มีเพียง ลิเวอร์พูล ที่ได้ใช้เงินเสริมทีมในรอบนี้ กับ หลุยส์ ดิอาซ กับค่าตัว 45 ล้านยูโร เพียงคนเดียว ขณะที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ใช้เงินเหมือนกัน แต่เป็นการเซ็นสัญญาล่วงหน้ากับ ยูเลี่ยน อัลวาเรซ กองหน้าทีมชาติอาร์เจนติน่า ด้วยค่าตัว 17 ล้านยูโร โดยที่เหลืออีก 4 ทีมไม่ได้นักเตะใหม่เข้ามาสู่ทีมเลย
ในแง่ของการซื้อขายรอบที่ผ่านมา สเปอร์ส – แอสตัน วิลล่า – นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด และอาจรวมถึง เอฟเวอร์ตัน อีกสักทีม เป็น 4 สโมสรที่หวือหวา และสมหวังกับการได้นักเตะใหม่มาร่วมทีมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ “เศรษฐีใหม่” อย่าง นิวคาสเซิ่ล กับการจัดหนักไปถึง 5 คน (ซื้อ 4 ยืม 1) ใช้งบไปเกือบ 100 ล้านปอนด์ในรอบนี้ สมใจอยากกลุ่มทุนจากประเทศ ซาอุดิ อาระเบีย หลังรอการใช้เงินมาหลายเดือน นับจากเทคโอเวอร์สโมสร
หลายทีมพอใจ หลายทีมไม่พอใจที่ทีมรักในขณะที่เหลืออีก 14-17 เกม แล้วแต่ทีมจะเหลือเกมมากน้อยแค่ไหน ฤดูกาลนี้จะจบลง โดยเกมสุดท้ายจะลงเล่นกันในวันที่ 22 พฤษภาคม 2022 ไม่มีการเลื่อนแน่นอน
สำหรับ อาร์เซนอล และอีกหลายทีมใหญ่มีแผนงานที่แตกต่างกันออกไปในการตลาดการซื้อขายรอบนี้ แต่อย่างไรก็ตาม มีตัวเลขที่น่าสนใจจาก Swiss Ramble ซึ่งเป็นบล็อคที่พูดถึงเรื่องการเงินของสโมสรฟุตบอล และล่าสุดพวกเขามีการแชร์ตัวเลขการซื้อขายของนักเตะ 5 ปีหลังสุดของเหล่าสโมสรใหญ่ โดยจะนับจากนักเตะที่ “เข้ามา” อยู่กับทีมไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ตามแต่ “ออกจากทีมไป” ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดย อาร์เซนอล มีตัวเลขที่แย่ที่สุดในการซื้อขาย โดยมีนักเตะจำนวน 50 คนด้วยกันที่ออกจากทีมในช่วง 5 ปีหลังสุด โดยตัวเลขค่าตัวอ้างอิงจากเว็บไซต์ Transfermarkt และนับเฉพาะค่าตัวไม่รวมค่าตัวที่ได้เพิ่มจาก Add-on
พวกเขาใช้เงินไปแล้วทั้งหมด 427.5 ล้านปอนด์ และขาดทุนจากการปล่อยออกไปมากถึง 162.8 ล้านปอนด์ โดย ปิแอร์–เอเมอริค โอบาเมยอง คือการขาดทุนสูงสุดจากการซื้อมาด้วยค่าตัว 57.4 ล้านปอนด์ และเสียไปแบบไม่มีค่าตัวในตลาดการซื้อขายรอบที่ผ่านมา ขณะที่ เมซุต เออซิล (42.3 ล้านปอนด์) และ สโคดราน มุสตาฟี่ (36.9 ล้านปอนด์) คืออันดับสอง และสาม ที่จ่ายค่าตัวแพงที่สุด และสโมสรไม่ได้อะไรกลับมาเลย เมื่อนักเตะย้ายออกจากทีมไป
ขณะที่ อเล็กซ์ อิโวบี้ คือตัวเลขการขายที่ได้กำไรมากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดย นักเตะไนจีเรีย ขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ในฐานะเด็กเยาวชนของสโมสร และย้ายออกจากทีมไปด้วยค่าตัว 27.4 ล้านปอนด์ เช่นเดียวกับ โจ วิลล็อค กับค่าตัว 26.5 ล้านปอนด์ที่ได้มาจาก นิวคาสเซิ่ล ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนอันดับสามคือ อเล็กซ์ อ๊อกซ์เลด–แชมเบอร์เลน พวกเขากำไรจากการขาย 21.8 ล้านปอนด์ จากการที่ซื้อมาด้วยค่าตัว 12.4 ล้านปอนด์ และขายออกไปด้วยค่าตัว 34.2 ล้านปอนด์ในช่วงปี 2018
โดยแยกย่อยลงไปอีก 50 คนที่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีเพียง 22 คนเท่านั้นที่ได้เงินคืนกลับมาจากการขาย ซึ่งบางคนได้เงินกลับมาเพียง 100,000 ปอนด์ก็มี ส่วนที่เหลือคือขาดทุนทั้งหมด และนั่นคือปัญหาอย่างยิ่งสำหรับทีม
มองย้อนกลับไป อาร์เซนอล เป็นทีมที่ได้ชื่อว่า ซื้อถูกขายแพง มาตลอดในยุคของ อาร์แซน เวนเกอร์ คุมบังเหียนทั้งในสนาม และการเงิน “เลอ โปรเฟสเซอร์” ผู้ซึ่งจบเศรษฐศาสตร์มาด้วยในชีวิตการเรียน จัดการตรงนี้ได้ค่อนข้างดี แต่พอ เวนเกอร์ อำลาทีมไป รูปแบบการบริหารทีมมีการเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารทีมมีการเปลี่ยนหลายรอบ ตั้งแต่ อิวาน กาซิดิส มาเป็น ราอูล ซาเนฮี และ วิไน เวนกาเทสเซม มาจนถึงล่าสุดในยุคของ เอดู กาสปาร์ ได้เข้ามาทำงานตรงนี้ แทนที่ ซาเนฮี ซึ่งจากเดิม เอดู รับงานผู้บริหารด้านเทคนิค ก่อนถูกผลักดันมารับงานนี้ จากการโดนปลดออกของ ซาเนฮี วงจรการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารการเงินของสโมสร แทบไม่นิ่งเลยตลอด 5 ปีหลังสุด เช่นเดียวกับโค้ชที่มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็น มิเคล อาร์เตต้า ที่รับไม้ต่อจาก อูไน อเมรี่ ในเดือนธันวาคม 2019
การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และเป็นปกติ แต่การเปลี่ยนแปลงที่มากเกินไป นำมาซึ่งการวนลูปของการทำงานไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ฟุตบอลเป็นองค์กรธุรกิจรูปแบบหนึ่ง หากในสนามแผนการเล่นสำคัญ ไม่น้อยกว่าความสามารถของผู้เล่น เรื่องของการบริหารทีม “แผนงาน” ในการทำทีมเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างทีมให้มีเสถียรภาพ และเพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย
อาร์เซนอล หลังบ้านที่ไม่ชัดเจนจากการเปลี่ยนแปลงบ่อย ส่งผลให้ตัวเลขการจัดการการซื้อขายออกมาอย่างที่เห็น แน่นอนส่วนหนึ่งเกิดปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น อายุ – ผลงาน – ปัญหาของผู้เล่น – ค่าเหนื่อย และ ระยะของสัญญา ในการตัดสินใจที่จะปล่อยใครสักคนออกจากทีมไป และหลายครั้งพวเขาเลือกตัดปัญหาด้วยการปล่อยฟรี หรือไม่ต่อสัญญาใหม่ให้
ในช่วงปี 2021-2022 ปีที่สองของการอยู่ร่วมกับ โควิด-19 อาร์เซนอล เริ่มตั้งไข่กับการสร้างแผนงานในการทำทีมด้วยนักเตะอายุน้อย มีประสบการณ์พอตัว และเข้ากับระบบของทีม ผนวกกับการที่ตนเองมี STATDNA ซึ่งเป็นฐานข้อมูลนักเตะที่พวกเขาเก็บข้อมูลกันมาตลอด นับตั้งแต่ซื้อระบบมาในปี 2012 เอาตัวเลขเหล่านั้นมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ และโอกาสในการพัฒนา หรือมองหาความเข้ากันได้ของนักเตะสักคนเพื่อนำเข้าสู่ทีม บวกกับการเลือกใช้งาน “แมวมอง” ซึ่งเป็นการทำงานแบบดั้งเดิมในการเฟ้นหานักเตะ “ข้อมูล + ความคิดเห็น” ทำให้อาร์เซนอลมีแผนงานที่ชัดเจนขึ้น
หากสองปีกับการทำงานที่ อาร์เซนอล ของ มิเคล อาร์เตต้า ลองผิดลองถูกมาก็ไม่น้อย ในแง่ของทีมงานก็ไม่ต่างกัน จอช โครเอนเก้ ก็อยู่ในช่วงปีที่ 3 ที่เข้ามาคลุกคลีกับทีมแบบเต็มตัว ร่วมกับ เอดู กาสปาร์ ในการพยายามทำให้การซื้อขายออกมาเข้าเป้าหมายที่สุด พวกเขาประสบความสำเร็จกับการซื้อนักเตะหลายรายในตลาดสิงหาคมที่ผ่านมา อาจรวมถึง กาเบรียล มากัญเยส ที่ตอนนี้ขึ้นชั้นเป็นตัวหลักของทีม และติดทีมชาติบราซิลชุดใหญ่ได้แล้ว แต่ในอีกมุมหนึ่ง วิลเลี่ยน กับค่าตัวฟรีแลกค่าเหนื่อยสัปดาห์ละ 200,000 ปอนด์ หรือการต่อสัญญา 350,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ของ ปิแอร์–เอเมอริค โอบาเมยอง ก็จะเป็นบทเรียนสำคัญของทีมงานกับการตัดสินใจต้องถี่ถ้วนกว่านี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา “ผลงานห่วย ค่าเหนื่อยแพง ขายไม่ออก จนต้องปล่อยฟรี” แบบนี้อีก
การต่อสัญญาหรือไม่ต่อสัญญาของ อเล็กซองเดร ลากาแซตต์ (30 ปี สัญญาหมดกลางปี 2022) ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ อาร์เซนอล กำลังประเมินคุณค่า ประโยชน์ และข้อเสียหากเลือกต่อสัญญาใหม่หัวหอกฝรั่งเศส ที่ผลงานอาจไม่ได้ดีนัก แต่ประโยชน์ก็ยังมี จะคุ้มค่ากับค่าเหนื่อยระดับเกือบสองแสนปอนด์หรือไม่ เช่นเดียวกับการซื้อนักเตะใหม่ หรือดันนักเตะ “Young Guns” ทั้งหลายที่เริ่มปรับเพดานเงินเดือนให้ต่ำลงในแบบที่นักเตะสามารถรับได้ในการทำงานกับอาร์เซนอลต่อไป
นักเตะหลายคนที่เป็นตัวหลัก อายุยังน้อย อาร์เซนอล มอบ “โอกาส” ลงเล่นพร้อมกับ “ค่าแรง” ที่มากระดับหนึ่งให้กับพวกเขาเหล่านั้น ที่เหลือคือ นักเตะ ต้องไป “พิสูจน์” คุณค่าของตนเองในสนามว่า พวกเขาดีพอมากแค่ไหนในอนาคต ถ้าดีพอ อาร์เซนอล ก็พร้อมจะเพิ่มค่าแรง ให้ความสำคัญของเขาในทีมมากกว่าเดิม บนพื้นฐานที่ว่า ทีมต้องเดินหน้าต่อไปได้ด้วย นี่คือแผนงาน 3-5 ปีต่อจากนี้ของสโมสร ซึ่งต้องมารอดูกันว่า แผนงานนี้ของพวกเขาจะประสบความสำเร็จในแง่ของถ้วยรางวัล หรือการกลับไปเล่นแชมเปี้ยนส์ ลีก ได้หรือไม่
อาร์เซนอล อาจไม่ใช่ทีมที่ประสบความสำเร็จในยุคนี้แบบที่เคยเป็นมาในสองทศวรรษที่แล้ว แต่พวกเขาคือทีมใหญ่ทีมหนึ่งในยุโรปที่ลงเล่นในพรีเมียร์ ลีก หนึ่งในลีกที่ดีที่สุดในโลกฟุตบอล ดังนั้น หากนักเตะจะย้ายมาร่วมงานด้วย การเงิน และ โอกาสในการลงเล่น เป็นสิ่งที่นักเตะส่วนใหญ่เลือกพิจารณาในการเลือกทีม ดังนั้น อาร์เซนอล จึงมองเห็นถึงช่องทางในการสร้างทีมในแบบที่สโมสร และนักเตะสามารถเติบโตไปด้วยกันได้ในแบบที่สโมสร ก็พร้อมที่จะลงทุน และมอบความสุข และความสบายใจในการทำงานร่วมกัน มากกว่ามองเรื่องของปัจจัยการเงินเป็นอันดับหนึ่งแบบที่หลายทีมใช้ในการโน้มน้าวนักเตะเข้าทีม ซึ่งก็มีหลายทีมทำแบบที่ อาร์เซนอลทำอยู่เช่นกัน หรือบางทีมไปได้ไกลกว่านั้นอย่าง ลิเวอร์พูล ที่พวกเขาก็ไม่ได้ลงทุนมากนักในเรื่องของค่าแรงเมื่อเทียบกับเหล่ายักษ์ใหญ่ของวงการ แต่พวกเขาประสบความสำเร็จในแง่ของถ้วยรางวัล และยังคงอยู่ในเส้นทางที่มีโอกาสประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงในช่วงหลายปีนับจากนี้
หากมองถึงต้นเรื่องราวกับ 5 ปีที่ อาร์เซนอล ไม่มีชายที่ชื่อ อาร์แซน เวนเกอร์ ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งแทบจะเป็นทุกอย่างของสโมสรแห่งนี้ มาวันนี้พวกเขาล้มลุกคลุกคลานมาตลอด มาถึงวันนี้ ก็พอจะพูดได้ว่า ณ เวลานี้ พวกเขาเริ่ม ยืนได้ด้วยตนเองได้บ้างแล้ว ส่วนจะยืนหยัดได้อย่างแข็งแรงหรือไม่ เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ความสำเร็จจะเป็นเครื่องกรันตีว่า “แผนงาน” ครั้งนี้ของพวกเขาประสบความสำเร็จหรือไม่