สถานการณ์ของ โควิด-19 เริ่มจะเข้าที่เข้าทางมากยิ่งขึ้นในแง่ของภาพรวมทั้งโลก โลกได้รับรู้ถึงความบรรลัยของไวรัสตัวนี้ มนุษย์โลกรู้ซึ้งและหาวิธีในการป้องกัน และต่อสู้กับมัน แม้ในวันนี้ “ชัยชนะอย่างเด็ดขาด” ยังคงไม่มาถึง แต่ “ความพ่ายแพ้” จะไม่มีวันเกิดขึ้นอีกต่อไป และเราหวังใจว่าจะไม่มีใครต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปเพราะไวรัสมหากาฬตัวนี้อีกแล้ว…ชาวไทยทุกคน ดูแลตัวเองกันให้ดี ทุกอย่างยังไม่จบ
แม้ว่าจะเข้าที่เข้าทางกันมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีอะไรต้องปรับ ต้องฟื้นฟูกันอีกหลายส่วน โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า ไฟไหม้ 10 รอบ อาจยังไม่เสียหายเท่า โควิด-19 รอบเดียว หลายองค์กรพังพินาศแบบกลับมาไม่ได้อีกแล้ว หลายองค์กรย่อขนาดองค์กร และหลายองค์กรทำได้เพียงประคองตัวไปให้รอด
ในวงการฟุตบอลก็เช่นเดียวกัน หลายสโมสรโดนถล่มเละ โดยเฉพาะในลีกระดับล่างที่ล้มหายตายจากกันไปหลายสโมสร เพียงแค่พวกเขานั้น “เล็ก” เกินกว่าจะได้รับความสนใจจากคนไกลอย่างพวกเราเท่านั้น หรืออย่างที่เห็นชัดเจนไปทั่วโลกก็คือ บาร์เซโลน่า ที่ถึงขั้นต้องเสีย ลิโอเนล เมสซี่ ออกจากทีม เพราะส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาการระบาดของ โควิด-19 ขณะที่ประเทศอีกประเทศที่โดนผลกระทบหนักในวงการกีฬาก็คือประเทศ ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น ในช่วงเวลาแห่งโควิด-19 รับหน้าเสื่อในการจัดการแข่งขัน โอลิมปิก เกมส์ 2020 ซึ่งจะพ่วงด้วย พาราลิมปิก เกมส์ ซึ่งมีการเลื่อนการแข่งขันมา 1 ปีเต็ม ก่อนที่สุดท้ายจะตัดสินใจเดินหน้าจัดการแข่งขันเมื่อกลางปี 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งในงานใหญ่ที่สุดอย่าง โอลิมปิก เกมส์ ทั่วโลกต่างชื่นชมในเรื่องของการจัดการของพวกเขา และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ไม่มีโควิด-19 มหกรรมครั้งนี้จะสุดยอดยิ่งกว่านี้” และแน่นอน ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่คิดเช่นกัน ได้แต่เสียดายอย่างมากกับเรื่องนี้
แม้การจัดการแข่งขันจะจบลงไป แต่รายได้ในประเทศของพวกเขา คงไม่ต้องบอกว่าพังมากขนาดไหนกับการแข่งขันที่ไม่มีผู้ชมเข้าชมมากอย่างที่ควรจะเป็น รายได้ที่ควรจะเข้ามามากมายตลอดช่วงมหกรรม แทบจะไม่มี และสถานการณ์โควิด-19 ของญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้ดีขึ้นมากนัก ปัจจุบันนี้พวกเขามีผู้ติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 1.58 ล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 16,000 คน และยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่
รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการกระจายวัคซีนอีกด้วย และด้วยปัญหาทั้งหลายแหล่ที่เกิดจาก โควิด-19 ที่ยังคงระบาด แถมยังสามารถกลายพันธุ์ได้ด้วย ทำให้สุดท้ายแล้ว นาย โยชิฮิเดะ สุกะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว หลังจากรับงานเพียง 12 เดือนเท่านั้น และแน่นอนว่าในสถานการณ์เช่นนี้พวกเขาไม่พร้อมกับการจัดงานใหญ่แน่นอน และด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนเช่นนี้ ทำให้พวกเขาตัดสินใจอีกครั้งกับเรื่องของ ฟุตบอล ซึ่งญี่ปุ่น ประกาศถอนตัวการเป็นเจ้าของ ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ เรียบร้อยแล้ว
ฟีฟ่า คลับ เวิล์ด คัพ เป็นรายการแข่งขันที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2000 เป็นรายการที่นำแชมป์แต่ละทวีปมาแข่งขันกันเพื่อหาที่สุดของโลกในระดับสโมสรแต่ละปี โดยแรกเริ่มชื่อว่า ฟีฟ่า คลับ เวิล์ด แชมเปี้ยนชิพ โดยจัดกันที่ประเทศบราซิล หลังจากนั้นก็หยุดพักไป 4 ปี และกลับมาในปี 2005 ทีนี้ก็จัดมาทุกปีจนถึง 2021 ซึ่งที่ผ่านมามีเพียง 5 ชาติเท่านั้น ที่เคยได้รับสิทธิ์ในการจัดการแข่งขันรายการนี้ประกอบไปด้วย บราซิล, ญี่ปุ่น, ยูเออี, โมร็อกโก และ กาตาร์ ซึ่ง ญี่ปุ่น เป็นชาติที่ได้รับสิทธิ์ในการจัดมากครั้งที่สุดถึง 8 ครั้งด้วยกัน
และในปีนี้ตามเดิมจะเป็นพวกเขารับหน้าเสื่อ ก่อนที่จะปฏิเสธการรับงานนี้ ตามรายงานจากสื่อ ซึ่งมีการระบุว่า สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น หรือ JFA แจ้งไปตาม FIFA เรียบร้อยแล้วในเรื่องของการตัดสินใจนี้ และยังไม่มีการระบุว่าชาติใดจะรับงานนี้แทนที่ โดยในปีนี้จะแข่งกันในช่วงเดือนธันวาคม 2021 โดยตอนนี้มีเพียง 3 จาก 7 สโมสรเท่านั้นที่แน่นอนแล้วว่าจะลงเล่นในรายการนี้ ขณะที่อีก 4 ทีม การแข่งขันในทวีปของพวกเขายังไม่เสร็จสิ้น โดยสามทีมที่แน่นอนแล้วประกอบไปด้วย เชลซี (ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก), อัล อาลี (แอฟริกัน แชมเปี้ยนส์ ลีก) และ โอ๊คแลนด์ ซิตี้ (แชมป์จากโอเชียเนีย)
ญี่ปุ่นเลือกที่จะถอนตัวด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และอีกนัยหนึ่งคือ จัดไปพวกเขาก็แทบจะไม่ได้รายได้อะไรเพิ่มมาเลย เนื่องจากผู้ชมก็ไม่สามารถเข้าชมเกมได้ ไหนจะการจัดการซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนอีกไม่น้อย ซึ่งว่ากันตามตรง ไม่มีประโยชน์อันใดในสถานการณ์เช่นนี้ ขณะที่ กาตาร์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวเลือกต่อมาของ ฟีฟ่า ก็มีข่าวออกมาเช่นกันว่า พวกเขาอาจจะไม่รับงานนี้ หรือเสนอให้มีการเลื่อนการแข่งขันออกไปในปีนี้ เพราะสถานการณ์ทุกอย่างมันไม่เหมาะสมเท่าไรนัก
บนสถานการณ์แห่งความไม่แน่นอนนี้ ส่งผลอะไรหลายอย่างในวงการฟุตบอลทีมชาติ อย่างที่ทราบกัน หลายประเทศ มีข่าวการไม่ต้อนรับ นักเตะ บางประเทศที่มาจากพื้นที่สีแดง หรือบางประเทศก็เลือกที่จะไม่เรียกตัว นักเตะ ที่มีสโมสรในพื้นที่เสี่ยงเข้ามาร่วมทีมชาติ บนพื้นฐานที่ว่านโยบายในการควบคุม และกักกันโรค ของแต่ละประเทศ ที่มีต่อประเทศอื่น ๆ ก็มีความไม่เหมือนกันอีกด้วย เพราะ โรคระบาด เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สิ่งที่ทำได้คือการป้องกันไว้ก่อน
ฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้ายที่ประเทศกาตาร์ กำลังจะมาถึง และนั่นคือมหกรรมใหญ่ที่แม้ว่า ณ เวลานี้ อาจจะยังเบาใจ และหวังว่าสถานการณ์การระบาด และการป้องกันจะเป็นในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ถ้าไม่ ฟุตบอลโลก ครั้งแรกบนแผ่นดิน ตะวันออกกลาง ก็อาจจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้ทั้งนั้น ซึ่งเราทุกคนได้แต่หวังว่า “พอเถอะ ไม่อยากกักตัวอีกแล้ว” แต่ดูทรงแล้ว อย่างน้อย ๆ ปี 2021 นี้ เราคงต้องอยู่กับ โควิด-19 กันต่อไป ตราบใดที่ ไวรัสเจ้าปัญหาตัวนี้ ยังคงกลายพันธุ์ และเปลี่ยนแปลงบ่อยเช่นนี้