เพลย์ออฟ เดอะ แชมเปี้ยนชิพ…สู่จุดสูงสุด หรือ เริ่มต้นใหม่
วันนี้ มาตามกระแสกันหน่อย กับเรื่องราวของ เดอะ แชมเปี้ยน ชิพ หลังจากที่ได้สองจากสามทีม ที่ะกลับขึ้นมาสู่ พรีเมียร์ ลีก ในฤดูกาล 2020-2021 กันแล้ว อันได้แก่ “ยูงทอง” ลีดส์ ยูไนเต็ด สโมสรที่แฟนบอล ชาวไทย หลายคน ชื่นชอบ และเชียร์กันมาตลอด ซึ่งก็มีการตั้ง แฟนคลับ ในประเทศไทยกันมายาวนาน คว้าแชมป์ ในฤดูกาลนี้ ไปแป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนอันดับที่สองคือ “เดอะ แบ็กกี้ส์” เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน สโมสรที่เคยผ่านเวที พรีเมียร์ ลีก มาก่อนเช่นกัน
อีกหนึ่งทีมจะผ่านการแข่งขันที่เรียกกันว่า “เพลย์ออฟ” โดยทีมอันดับที่ 3 จนถึง อันดับที่ 6 ของลีก จะลงเล่นกันในแบบเหย้า-เยือน เพื่อหาสองทีม เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ กันต่อไป โดยจะลงเล่นกันที่สนาม เวมบลีย์ เพื่อหาหนึ่งทีม ที่จะขึ้นสู่ พรีเมียร์ ลีก
ว่าแล้ว เราจะมาย้อนความกันสักนิด เกี่ยวกับเรื่องของการ “เพลย์ออฟ” ในฟุตบอลอังกฤษกัน
เพลย์ออฟ ครั้งแรกเพื่อเลื่อนชั้น
เพลย์ออฟ มีการเล่นครั้งแรกในปี 1987 โดยใช้ครั้งแรกในการ เพลย์ออฟ หาทีมในการเลื่อนชั้นจาก ดิวิชั่นสอง ขึ้นสู่ดิวิชั่นหนึ่ง โดยในเวลานั้นใช้ชื่อว่า “Football League Second Division Play-Offs” ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนชื่อกันมาหลายครั้ง จนชื่อล่าสุดคือ EFL Championship play-offs ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา
“ดาบอัศวิน” ชาร์ลตัน แอตเลติก กลายเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์ ของการ เพลย์ออฟ ที่ได้แชมป์ และเล่นในลีกสูงสุด จากระบบนี้ โดยในยุคแรก การเพลย์ออฟ จะใช้ระบบเกมเหย้า-เยือน แม้กระทั่งในเกมรอบชิงชนะเลิศ แต่ในฤดูกาล 1989-1990 มีการปรับให้รอบชิงชนะเลิศ เหลือเพียงเกมเดียวเท่านั้น และก็ใช้งานระบบนี้ มาโดยตลอดจนถึงวันนี้
“สวินดอน ทาวน์” คือทีมที่ได้แชมป์รายการนี้ ด้วยระบบการเล่นใน รอบชิงชนะเลิศ เพียงเกมเดียว อย่างไรก็ตาม ก็มีเรื่องเกิดขึ้น เมื่อพวกเขาไม่ได้เลื่อนชั้น เนื่องจาก มีปัญหาอย่างหนัก เกี่ยวกับการเงิน ทำให้สุดท้าย พวกเขาเสียสิทธิ์ ในการเลื่อนชั้นครั้งนั้น ให้กับ “แมวดำ” ซันเดอร์แลนด์ ซึ่งพ่ายในเกมเพลย์ออฟ รอบชิงชนะเลิศ ได้เลื่อนชั้นแทน โดยถึงปัจจุบันนี้ นั่นคือ ครั้งเดียว ที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้น โดย สวินดอน ทาวน์ ขึ้นสู่ ลีก สูงสุด ได้ในปี 1993 และพวกเขาผ่านเข้ามาด้วยการเป็น แชมป์ เพลย์ออฟ นั่นเอง
“ปราสาทเรือนแก้ว” คริสตัล พาเลซ กลายเป็น สโมสร ที่มีชัยในการแข่งขัน เพลย์ออฟมาก ที่สุด โดยพวกเขาเข้ามาเล่นในรอบเพลย์ออฟ ถึง 7 ฤดูกาลด้วยกัน และมีถึง 4 ฤดูกาล ที่จบลงด้วยการ ได้ขึ้นสู่ ลีกสูงสุด อีกด้วย
มีสมหวัง ย่อมมีผิดหวังในการ เพลย์ออฟ
แน่นอนเมื่อมีทีมที่สมหวัง ก็ต้องมีทีมที่ผิดหวังในการเล่น เพลย์ออฟ โดยนับตั้งแต่ มีระบบนี้ขึ้น 32 ครั้ง มีทีม จำนวนถึง 6 สโมสร ที่ไม่เคยได้เล่นในลีกสูงสุด และเข้าถึงรอบเพลย์ออฟ มาแล้ว แต่ก็ไม่เคยได้เลื่อนชั้นด้วยการเพลย์ออฟ เลย โดยทีมเหล่านั้น ประกอบไปด้วย เปรสตัน นอร์ท เอนด์, บริสตอล ซิตี้, ทรานเมียร์ โรเวอร์ส, แคมบริดจ์ ยูไนเต็ด, มิลล์วอลล์ และเบรนท์ฟอร์ด
“เดอะ บี” เบรนท์ฟอร์ด จะได้รับโอกาสอีกครั้ง ในการเพลย์ออฟในปี 2020 เมื่อพวกเขาจบด้วยอันดับที่สาม และต้องมาลุ้นกันว่า พวกเขาจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ ในฤดูกาลนี้
การเลื่อนชั้น สู่ พรีเมียร์ ลีก นอกจากจะเป็นการได้รับโอกาส ในการลงเล่น ลีกสูงสุด ของประเทศแล้ว สิ่งที่เป็นเหมือนหัวใจหลัก ที่ทำให้ใครต่างอยากขึ้นมาเล่น ก็คือ เรื่องของ “รายได้” ที่มหาศาล เป็นอย่างยิ่ง
ตามข้อมูลจากในปี 2019 ผู้ชนะในเกมรอบชิงชนะเลิศ เพลย์ออฟ นอกจากถ้วยรางวัล แล้วพวกเขาจะได้ ส่วนแบ่งของการถ่ายทอดสดใน พรีเมียร์ ลีก อย่างน้อย 95 ล้านปอนด์ ทันที เมื่อลงเล่นในลีก สูงสุด และหากตกชั้นพวกเขา พวกเขาจะได้เงินช่วยเหลือทีมอีกถึง 75 ล้านปอนด์ เป็นเวลาสองฤดูกาล แต่ถ้าพวกเขา อยู่รอดปลอดภัยได้ในลีก สูงสุด ส่วนแบ่งก็จะมากขึ้นตามไปด้วย
รายได้มหาศาล เพียงฤดูกาลเดียว อาจทำให้สโมสร ปลดหนี้ และสามารถปรับปรุงทีมได้หลายเรื่องมาก ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ การซื้อขาย นักเตะ ในพรีเมียร์ ลีก ถึงมีความเข้มข้น และ เต็มไปด้วยเม็ดเงิน มหาศาล ในการลงทุน เพื่อให้ตนเองอยู่รอดปลอดภัย ในลีก สูงสุด
ผลที่ตามมาของระบบ เพลย์ออฟ
อย่างไรก็ตาม หลายต่อหลายครั้ง ทีมที่ขึ้นชั้นไปด้วยระบบ เพลย์อออฟ ก็มักจะตกชั้นลงมาทันที เนื่องจาก ความแข็งแกร่ง ของทีม ยังไม่มากพอ เรียกว่า น้องใหม่ หลายทีม ขึ้นไป กลายเป็นทีมแจกแต้ม ก็มีไม่น้อย ล่าสุดคือ ฟูแล่ม ที่ขึ้นชั้นไปในปี 2018 และก็ตกชั้นลงมาเพียงหนึ่งฤดูกาลเท่านั้น รวมถึง แอสตัน วิลล่า ซึ่งกำลังสู้สุดตัวเพื่อเอาตัวให้รอด ในเกมนัดสุดท้ายของ ฤดูกาลนี้
แต่จะให้ทำอย่างไร ในเมื่อหากตกชั้นลงมา ทีมจะขาดรายได้ขั้นรุนแรง และนำมาซึ่งการลดขนาดองค์กร พร้อมลดรายจ่ายบางส่วนเพื่อให้สโมสรเดินหน้าต่อไป ในอนาคต ทุกทีม จึงต้องสู้เต็มที่ เพื่อความอยู่รอดในพรีเมียร์ ลีก ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นเดียวกับ ทีมที่ได้มีโอกาส เพลย์ออฟ ก็ต้องการไปให้ถึงฝั่งฝันของทุกทีมในลีกล่าง เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของตนเอง
เกม เพลย์ออฟ จึงเป็นเหมือน ฟางเส้นสุดท้าย ของการทำงานมาตลอดฤดูกาลว่า ประสบความสำเร็จ หรือ ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ อีกครั้ง บนเวทีเดิม ในฤดูกาลหน้า