คอลัมน์นี้เกิดจากการที่ผมได้รับเสื้อฟุตบอลมาตัวหนึ่ง จากประเทศกรีซ เนื่องด้วยว่าชื่นชอบใน นักเตะ ใหม่ของพวกเขาอย่าง ชินจิ คากาวะ (32 ปี) เป็นการส่วนตัว หลังจาก กองกลางทีมชาติญี่ปุ่น ตัดสินใจย้ายมาร่วมงานกับ สโมสรจากกรีซ ทีมนี้
ว่ากันตามจริงจุดเริ่มต้นของบทความนี้ เกิดจากกความบังเอิญที่ทำให้ ผู้เขียนได้ความรู้ใหม่มากมาย เกี่ยวกับสโมสรแห่งนี้ พร้อมกับเบื้องหลังของ ประวัติศาสตร์ที่แสนเศร้าของพวกเขา กับเหตุผลมากมาย
“สิ่งที่อยู่ในเสื้อ” ตัวนี้ ซึ่งเป็นที่มาของคอนเทนต์ของเราในวันนี้ โดยตัวจะมี “ข้อความ” ภาษากรีกอยู่ในเสื้อตัวนี้ บริเวณชายเสื้อด้านล่าง แน่นอน “ฉันเขลา ฉันจึงมาหาความหมาย” และก็ได้รับข้อมูลอันเป็นประโยชน์จาก คุณครูของผมเอง ซึ่งได้แต่งงานกับชายชาวกรีซ และตั้งรกรากอยู่ที่นั่น ลูกศิษย์ขอใช้พื้นที่บรรทัดนี้ กราบขอบพระคุณคุณครู สำหรับข้อมูลบางส่วนของบทความนี้
ก่อนอื่นเลย วันนี้เรามาคุยเรื่องของประวัติศาสตร์ PAOK FC (ก่อตั้งปี 1926) กันก่อนกับสโมสรที่กำลังจะมีอายุครบ 95 ปี ในเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม PAOK FC มีรากเหง้ามาจากสโมสร แอร์เมส สปอร์ต คลับ (ทุกวันนี้คือสโมสร เบโยกลูสปอร์ ในประเทศตุรกี) ซึ่งก่อตั้งในปี 1875 ซึ่ง ณ.เวลานั้น มันคือแผ่นดินของประเทศกรีซ
อย่างไรก็ตาม โลกเรามีสงครามเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นมีสงครามที่เรียกว่า “War of Liberation” หรือสงครามประกาศอิสรภาพของตุรกี ในปี 1919 และใช้เวลายาวนาน 3 ปีกว่า จนกระทั่งสงครามนี้สิ้นสุดลง พื้นที่ของประเทศกรีซบางส่วน ได้กลายเป็นพื้นที่ของประเทศตุรกี และแน่นอนที่สุด แผ่นดินดังกล่าวที่เป็นรากเหง้าก่อตั้งสโมสร PAOK FC “จากกรีซกลายเป็นตุรกี” โดยแผ่นดินที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ก็คือ กรุงอิสตันบูล ที่เรารู้จักกันน
ต่อมาในปี 1926 PAOK FC กลับมาก่อตั้งอีกครั้งในเมืองที่ชื่อว่า เทซซาโลนิกิ (Thessaloniki) หรือในอีกชื่อว่า ซาโลนิก้า อันเป็นเมืองใหญ่ที่สุดอันดับสองของประเทศ กรีซ นับจากนั้นพวกเขาก็ผ่านเรื่องราวมากมายจนมาถึงทุกวันนี้ โดยถึงปัจจุบัน PAOK FC คว้าแชมป์ลีกสูงสุดของประเทศมาแล้ว 3 กัน และก็ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาเป็นรองแชมป์มากถึง 9 ครั้งด้วยกัน อย่างไรก็ตาม การคว้าแชมป์ครั้งล่าสุดของพวกเขาในฤดูกาล 2018-2019 ที่ผ่านมา จบลงด้วยการเป็น “ดับเบิ้ลแชมป์” เป็นครั้งแรกของสโมสร
ตัวเสื้อออกแบบมาเป็นสีขาวสลับดำ ซึ่งเป็นสีหลักของสโมสร ดูผ่าน ๆ หาก บอกว่านี่คือ เสื้อ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด หรือว่า ยูเวนตุส ก็น่าจะมีคนเชื่อ แต่ในรายละเอียดของของการใช้สีสัน มันมีความหมายมากกว่านั้น และนอกจากนี้บริเวณชายเสื้อด้านล่างของ PAOK FC 2020-2021 มีการพิมพ์ “ชุดคำ” ประมาณ 7 คำด้วยกัน แรกเริ่มผมคิดว่า มันเป็นแค่วลีของสโมสร หรือคำปลุกใจอะไรประมาณนั้น แต่ที่ไหนได้ มันคือ “ชุดความทรงจำ ที่บอกเล่ารากเหง้าของพวกเขาเอง ตั้งแต่ปี 1875” ว่าแท้จริงแล้ว พวกเขามีจุดเริ่มต้นจากที่ใด
ทำไมถึงใช้เสื้อสีขาวสลับดำ
อันนี้ก็เชื่อมโยงกับเรื่องราวด้านบน พวกเขาต้องการแสดงออกถึงความเศร้าโศก และความหวังใหม่ให้กับพวกเขา “สีดำ คือผิดหวังที่ต้องจากแผ่นดินรากเหง้าของตนเอง สีขาว คือความหวังใหม่ในแผ่นดินใหม่” และดังนั้นเอง PAOK FC จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “White-Black” ก็หมายถึงพวกเขาเช่นกัน
ทำไมต้องอินทรีย์สองหัว
ตราสัญลักษณ์สโมสรของพวกเขาเลือกใช้รูปนกอินทรีย์สองหัว (Double-headed eagle) อันเป็นสัญลักษณ์ของอาณาจักร ไบแซนไทน์ (Byzantine) ของกรีซ ในช่วงศตวรรษที่ 11 นั่นเอง และการที่อินทรี “หุบปีก” เข้าหาตัว เพื่อแสดงถึงความเศร้า และผิดหวัง แทนที่จะ “สยายปีก” แบบที่ควรจะเป็นในช่วงเวลาแห่งความสุข และรุ่งเรือง โดยในปี 2013 อิวาน ซาวิดิส ซึ่งเป็นประธานสโมสรที่มีเชื้อสาย กรีซ-รัสเซีย ได้ทำการเพิ่มเติม “ขอบทอง” เข้าไปบริเวณรอบตราสโมสร ซึ่งสีทองก็เป็นสีสำคัญที่ อาณาจักร ไบแซนไทน์ ใช้งานอยู่บ่อยครั้งเช่นเดียวกัน
ไม่น่าเชื่อเลยว่า “เสื้อฟุตบอล” หนึ่งตัวจะบอกเล่าอะไรได้มากมายถึงขนาดนี้
ขอจบการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ ผ่านเสื้อบอลไว้เพียงเท่านี้ครับ