ในวงการฟุตบอล สโมสรฟุตบอลหนึ่งสโมสร ไมได้หมายถึงเพียงแค่ นักเตะ – โค้ช หรือว่าทีมงานเพียงอย่างเดียว แต่มันหมายถึงกลุ่มคนจำนวนมากที่นอกเหนือจากคนทำงาน “ในสนาม” ไม่ได้มีผลต่อผลการแข่งขันของทีม ไม่ได้ทำให้คนในสนามเก่งขึ้น แต่มีหน้าที่ทำให้ “ทุกคน” ในสโมสร เดินหน้าต่อไปได้ในแต่ละวัน เพราะ “กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” วันนี้เรามีเรื่องราวของ “คนทำอาหาร” ในสโมสรมาฝากกันครับ
วันนี้เราจะพาคุณไปยังตอนใต้ของกรุงลอนดอน มหานครใหญ่แห่งหนึ่งของโลก หนึ่งในเมืองที่มีสโมสรฟุตบอลมากที่สุดแห่งหนึ่ง กับจำนวนมากกว่า 10 สโมสรในทุกระดับการเล่น เกิดขึ้นในเมืองหลวงของประเทศอังกฤษ และนี่คือเรื่องราวจากสโมสร “ดิ อีเกิ้ลส์” คริสตัลพาเลซ
ย้อนรอยสักนิด “คริสตัล พาเลซ” เป็นหนึ่งสโมสรเก่าแก่ของประเทศ มีอายุ 116 ปีในปีนี้ พวกเขาอยู่ในเขตครอยดอน เป็นหนึ่งในสโมสรที่ขึ้นชั้น–ตกชั้นในพรีเมียร์ ลีก ก็หลายครั้ง แต่นี่คือฤดูกาลที่ 9 ของพวกเขาแล้วในการยืนระยะบนลีกสูงสุดรอบล่าสุด นับจากฤดูกาล 2013-2014 เป็นต้นมา
แน่นอนเมื่อทีมมีความมั่นคงในระดับ พรีเมียร์ ลีก พวกเขาก็มีเงินทุนมากพอในการพัฒนาทีม อีกไม่ช้านี้พวกเขาจะมีสนามซ้อมใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานกันได้ในช่วงปี 2024 เช่นเดียวกับเรื่องราวของการตอบแทนสังคมในย่านที่สโมสรก่อตั้ง หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “อาหาร” พวกเขามีโครงการที่ชื่อว่า “Palace Kitchen” ที่มีบทบาทอย่างมากในช่วงของการระบาด โควิด-19 ที่พวกเขาเปิดครัวแห่งนี้ สำหรับการทำอาหารมากกว่า 1,500 มื้อให้กับผู้ยากไร้ และองค์กรการกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้คนมากมาย และเรื่องราวของ “เชฟ” หน้าใหม่ของพวกเขาก็เกิดขึ้น
สาวน้อยคนนี้เกิดในย่านครอยดอน ถิ่นที่ตั้งของสโมสรโดยตรง เธอรู้จักทีมนี้มาตั้งแต่จำความได้ แต่เส้นทางของเธอ ไม่ได้อยากเกิดมาเป็นนักฟุตบอลหญิง แต่เธอไปไกลกว่านั้นคือ ฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ แต่ไม่ถ้าไม่เป็นความฝันของเธอคือการเป็นเชฟ…แน่นอนการเป็นนักบินอวกาศของเธอไม่เป็นความจริงแต่การเป็นเชฟของเธอได้เริ่มต้นขึ้นแล้วและมันเริ่มต้นไปกับการที่ได้ทำงานกับสโมสรฟุตบอลที่เธอรู้จักมาตั้งแต่เด็ก
ลอเรนเห็นการทำอาหารของแม่มาตั้งแต่เด็ก และมันเป็นแพสชั่นของเธอที่ได้เติบโตมาด้วยการเห็นสิ่งเหล่านั้น แม่ทำอาหารสไตล์ “อังกฤษ–แคริบเบี้ยน ฟิวชั่น” ซึ่งต่อมาเธอไปเรียนรู้มันเพิ่มเติมผ่านทางการเรียนเรื่องเกี่ยวกับ เทคโนโลยีเกี่ยวกับอาหารภายในโรงเรียนเพิ่ม วันหนึ่งวันของเธอหมดไปกับการเรียนรู้ทดลองชิม และผสมผสานรสชาติของวัตถุดิบมากมาย และเมื่อเธอเรียนจบมัธยมปลาย เธอก็ตัดสินใจเลือกเข้าสู่วงการอาชีพวงการอาหาร ซึ่งแน่นอน ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่รักของลูก แม่ของเธอก็สนับสนุนเต็มตัว แต่การเป็นเชฟมีอะไรที่มากกว่าแค่การทำอาหาร นั่นคือการบริหารจัดการในครัว ที่ ลอเรน ต้องไปเรียนรู้ตั้งแต่แรกเริ่ม
“ฉันมาสมัครงานกับ คริสตัล พาเลซ ที่ซึ่งสนามของพวกเขาอยู่ตรงหัวมุมถนนของบ้านฉัน สุดท้ายฉันก็ได้งานเป็น *คอมมิส เชฟ และฝึกงานด้านเชฟทั้งหมดที่นี่ ฉันลงเรียนในวิทยาลัย 1 วัน ที่เหลือคือการมาที่ครัวของสโมสร ทำงานที่นี่ ฝึกการทำครัว, งานจัดเลี้ยงส่วนตัว หรือว่าในวันแข่งขัน เรียนรู้งานทั้งหมด พอการฝึกของฉันจบลง พวกเขาก็เสนองานแบบฟูลไทม์ให้กับฉัน”
*คอมมิสเชฟคือหนึ่งในตำแหน่งเริ่มแรกของการเป็นเชฟหน้าที่หลักคือการช่วยงานต่างๆทั้งหมดของงานในครัวยกเว้นการปรุงอาหาร
“Palace Kitchen” คืองานแรกอย่างเป็นทางการของ ลอเรน เธอต้องทำงานสนับสนุนในการแจกจ่ายอาหาร ซึ่งหมายถึงการบริหารจัดการอาหาร และการจัดส่งไปยังชาวลอนดอนใต้ ในพื้นที่ย่านที่สโมสรตั้งอยู่จำนวนหลายพันครอบครัวในช่วงที่มีการล๊อคดาวน์จาก โควิด-19 ก่อนที่ต่อมาเมื่อทุกคนเริ่มลงตัว เธอก็ถูกส่งตัวไปยังสนามซ้อมของทีม ในฐานะใหม่ที่เรียกว่า Demi Chef De Partie (เดมี เชฟ เดอ ปาร์ตี) หรือในตำแหน่งเชฟที่ดูแลแผนกงานเฉพาะทางในห้องครัว
การเรียนรู้จากโรงเรียนเกี่ยวกับเรื่องอาหาร และประสบการณ์ที่มากขึ้นจากการทำงานจริง ส่งผลให้เธอได้เจอกับ “ลูกค้า” ที่จะมาชิมอาหารของเธอมากมายเพียงแต่พิเศษสุดที่ว่า งานของเธอคือการดูแลอาหารสำหรับทีมชุดใหญ่ของ คริสตัล พาเลซ รวมถึงอาหารของ ปาทริค วิเอร่า ผู้จัดการทีมและทีมงานของเขาด้วย
“ตอนแรกที่ได้รับงานนี้ฉันตื่นเต้นมาก และก็กังวลมาก ฉันเป็นผู้หญิงคนเดียวในงานนี้ แต่นักเตะก็ให้การต้อนรับที่ดี พวกเขาให้เกียรติและมีมารยาทกับฉันมาก ฉันได้ฝึกการสนทนากับผู้คนมากขึ้นก็มาจากการคุยกับผู้เล่นในทีม การทำงานในครัวเราแทบจะไม่ได้คุยกับใครเท่าไรนัก แต่พอมาทำงานที่นี่แล้ว ฉันต้องพูดเยอะขึ้น เสิร์ฟอาหารที่ทำด้วยตนเอง พวกเขาเห็นอาหารของฉัน คาดเดาถึงรสชาติของมัน มันเป็นสิ่งที่สนุกมาก ปาทริค วิเอร่า เป็นคนที่ยอดเยี่ยม เขาชอบมาดูในห้องครัวว่าวันนี้เรากำลังทำอะไรให้ทีมทานบ้าง มีรอยยิ้มให้เสมอกับคนในครัวทุกคน และแน่นอนว่าคนในครัวทุกคนมีประสบการณ์มากกว่าฉันทั้งนั้น พวกเขาก็ให้ความรู้ใหม่ไปในเวลาเดียวกัน เช่นเดียวกับการสนับสนุนที่ดีของพวกเขา”
สิ่งหนึ่งที่ ลอเรน ได้เรียนรู้ และจำเป็นต้องทราบคือเรื่องของ “โภชนาการ” ของผู้เล่นที่ซึ่งเป็นนักกีฬา พวกเขาต้องการอะไรบ้าง และแต่ละคนจะทานไม่เหมือนกัน และต้องทานให้ครบตามที่กำหนด นั่นคือหน้าที่ซึ่งอาจจะพิเศษกว่าที่อื่น หากทำงานในร้านอาหารทั่วไป ที่มีหน้าที่ทำอาหารในสิ่งที่พวกเขาอยากทาน
“ผู้เล่นบางคนต้องทานอาหารบางประเภทตลอดสัปดาห์ บางคนอาจต้องการน้อยกว่านั้น เราต้องแน่ใจว่า นักเตะทุกคนได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และพอเหมาะ ทั้งการทานแป้ง หรือว่าพืชผัก อย่างเช่นวันก่อนแข่งทีมครัวจะต้องเตรียมคาร์โบไฮเดรดมากกว่าปกติ เราจะเสิร์ฟข้าวหรือว่า พาสต้า ให้พวกเขาเลือกได้ และจะเตรียมไว้มากกว่าปกติ”
“เราต้องรู้ว่านักเตะคนไหน “แพ้อาหาร” ประเภทไหน เราต้องรู้ทุกคน บางคนแพ้นม เราต้องมีอาหารแบบอื่นที่มาทดแทนเป็นทางเลือกให้พวกเขา บางคนเป็นมังสวิรัติ ก็จะมีอาหารในสไตล์ที่พวกเขาต้องการ บนพื้นฐานที่ว่าต้องได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับพวกเขา เรามีการเตรียมอาหารไว้หลากหลายสำหรับทุกคน”
“เนื้อสัตว์ที่นำเข้ามาใช้ในสโมสรต้องการผ่านฮาลาล มาทั้งหมด มีการรับรองโดยผู้ค้าเนื้อมายืนยัน เพราะเรามีนักเตะที่อยู่ในศาสนาหลากหลาย พวกเขาสามารถตรวจสอบได้ และเช็คได้ว่ามันมาจากไหนกับสิ่งที่พวกเขาทานเข้าไป อย่างเช่นเนื้อหมู มีหลายคนไม่ทาน เราจะเลี่ยงการทำเป็นอาหารกลางวัน แต่จะมีเป็นทางเลือกสำหรับอาหารในมื้ออื่น”
หลายเดือนผ่านไป ลอเรน ซินแคลร์ เริ่มคุ้นชินกับครัวในสโมสรคริสตัล พาเลซ และเธอได้มีโอกาสในการทำอาหารมากขึ้นหนึ่งในนั้นคือ อาหารเม็กซิกัน ซึ่งเธอได้รับโอกาสจากหัวหน้าเชฟของสโมสรในการควบคุมการจัดการมื้อนี้โดยตรง
“ฉันเป็นคนวางแผนการทำอาหารทั้งหมด อาหารเม็กซิกัน เป็นหนึ่งในเมนูโปรดของฉัน ฉันทำฟาติญ่าไก่ และ สเต็กฟาติญ่า รวมถึง ฟาติญ่าเต้าหู้ สำหรับบางคนที่เป็นมังสวิรัติ และมีอีกหลายเมนูที่เป็นอาหารเม็กซิกัน อย่างเช่น กัวกาโมเล่, ตอร์ติญ่าทอด กินกับซอสซัลซ่า หลายครั้งก็มีการดีไซน์อาหารให้มีรสชาติแตกต่างกันออกไปบ้าง เพื่อเพิ่มความแปลกใหม่”
หมายเหตุ : ฟาติญ่า คืออาหารประจำชาติเม็กซิโก ที่ใช้แผ่นแป้งที่ชื่อว่า ตอติญ่า (Tortillas) มาม้วนเป็นแท่งสอดไส้ด้วยผักมากมายและเนื้อสัตว์ พร้อมกับใส่เครื่องปรุงหลายชนิดลงไป เป็นอาหารรสชาติค่อนข้างเผ็ดร้อน
“สำหรับฉันแล้วการได้รับเสียงตอบรับที่ดีของผู้ทาน มันเป็นความสุขสำหรับคนทำอาหารทุกคนอยู่แล้ว พวกเขามีความสุขฉันก็ดีใจ บางครั้งนักเตะบางคนก็เดินมาบอกว่า “อร่อยมากเชฟ เมนูนี้เมื่อไรคุณจะทำมันอีกล่ะ ทุกครั้งที่ได้เห็นนักเตะเต็มโรงอาหารของสโมสร ทุกคนมีความสุขกับการได้กินอาหารของเรา มีรอยยิ้ม มันเพิ่มกำลังใจให้ฉันในการทำงานเป็นอย่างมาก นั่นละความสุขของฉัน”
ลอเรน ซินแคลร์ ยังคงอยู่ในเส้นทางเริ่มต้นของอาชีพของเธอ อาชีพที่เธอรัก กับสโมสรที่เธอรัก และเป้าหมายในอนาคตกับการเป็น เชฟใหญ่ แบบเต็มตัวในสักวันหนึ่งและนี่คือเรื่องราวดี ๆ ของคน “นอกสนาม” ที่ทำงานร่วมกับคน “ในสนาม” ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน…