เมื่อวานตอนช่วงหัวค่ำคงไม่มีข่าวไหนร้อนแรงไปกว่าข่าวพรีเมียร์ ลีก ได้ทำการสอบสวนสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แชมป์พรีเมียร์ ลีก ฤดูกาลที่ผ่านมา ในกรณีเกี่ยวกับการละเมิดกฎทางการเงินในช่วงปี 2009-2018 โดยมีการระบุว่าใช้เวลานานกว่า 4 ปี ในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
มีนาคม 2019 เป็นครั้งแรกที่พรีเมียร์ ลีก ได้เริ่มต้นการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดก่อนที่จะมีการประกาศออกมา โดยมีการระบุว่าตลอดช่วงเวลาดังกล่าวที่ทำการตรวจสอบการเงินในช่วง 9 ฤดูกาล ซึ่งเป็นฤดูกาลแรกอย่างเต็มตัวที่กลุ่มทุนจากอาบูดาบี ได้เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ต่อจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตผู้นำทางการเมืองชาวไทย (การเทคโอเวอร์เกิดขึ้นในช่วง 1 กันยายน 2008 หรือต้นฤดูกาล 2008-2009) โดยรายงานระบุว่ามีการตรวจพบว่ามีการกระทำผิดมากกว่า 100 ครั้ง โดยในรายละเอียดของแถลงการณ์นั้นมีการแบ่งแยกออกมาด้วยกัน 5 ประเด็นหลักเกี่ยวกับเรื่องราวอันประกอบไปด้วย
โดยในทุกประเด็นพรีเมียร์ ลีก ก็มีการแจกแยกย่อยออกมาว่ามีความผิดตามกฎข้อใดบ้าง ซึ่งว่ากันตามตรงแฟนบอลน้อยมากที่จะใส่ใจในเรื่องนี้ แต่สำหรับพรีเมียร์ ลีก นี่คือกฎที่ออกมาเพื่อควบคุมการทำงานสโมสรทั้งหมดในการทำงานภายใต้กฎเดียวกัน และทั้งหมดนำมาซึ่งการแถลงการณ์ดังกล่าว
แน่นอนเมื่อมีการแถลงการณ์ออกมาเช่นนี้ ทางแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ก็มีการออกแถลงการณ์ทันที
“สโมสรสรฟุตบอล แมนเชสเตอร์ ซิตี้ รู้สึกประหลาดใจกับการถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดกฎของ พรีเมียร์ลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่และมีการจัดเตรียมเอกสารซึ่งมีรายละเอียดจำนวนมากให้กับทาง EPL ไปก่อนหน้านี้”
“สโมสรมีความยินดีที่จะมีการพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้งโดยคณะกรรมการอิสระ เพื่อการพิจารณาอย่างเป็นกลางจากหลักฐานที่มีความครอบคลุมซึ่งไม่สามารถหักล้างได้เพื่อสนับสนุนจุดยืนของสโมสร ด้วยเหตุนี้เราจึงเฝ้ารอให้เรื่องนี้ยุติลงโดยเร็ว”
ต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในฐานะของผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดก็จำเป็นต้องชี้แจง ยื่นหลักฐานเอกสาร หรือหลักฐานในทุกรูปแบบที่สามารถทำได้ ชี้แจงกับทางพรีเมียร์ ลีก เพื่อเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง ตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร ขึ้นกับหลักฐานมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือมากพอหรือไม่ และแน่นอนรวมถึงการความเร็วในการสอบสวนที่ต้องไปสู้กันต่อ แต่ถึงตรงนี้จะบอกว่า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ “งานเข้า” หรือไม่ก็ต้องบอกว่าใช่เลย หลังจากที่เมื่อช่วงปี 2020 พวกเขาเคยรอดคดีในกรณีการละเมิดกฎการเงินของทางยูฟ่ามาแล้วครั้งหนึ่ง และมาครั้งนี้ พรีเมียร์ ลีก มาพร้อมกับข้อกล่าวหายาวเหยียดแบบยิบย่อยซึ่ง “เรือใบสีฟ้า” ต้องพิสูจน์ตนเอง
มาร์ติน ซีคเลอร์ นักข่าวจาก เดอะ ไทมส์ ซึ่งเป็นคนแรกที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ก่อนจะมีการแถลงการณ์ออกมาในเวลาต่อมา และทำให้นักข่าวกีฬาฟุตบอลทั้งโลกต้องมาตามข่าวนี้ ระบุว่า เคสดังกล่าวที่เกิดขึ้นแมนเชสเตอร์ ซิตี้ จะไม่สามารถทำการยื่นอุทรณ์ต่อศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาได้ด้วย ไม่เหมือนกับเคสในปี 2020 ซึ่งครั้งนั้นพวกเขารอดพ้นการโดนแบนจากการตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการกีฬา ซึ่งในส่วนนี้ต้องรอดูกันว่าจะเป็นอย่างไร เพราะอย่างที่ทราบกันว่า อนุญาโตตุลาการกีฬา เป็นหนึ่งองค์กรที่ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อมาดูแลจัดการในเรื่องของข้อพิพาททางกีฬาทั้งหมด
ต้องมารอดูกันอีกเช่นกันว่า บทลงโทษจากข้อกล่าวหาดังกล่าวคืออะไร และแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีอะไรมาหักล้างกับข้อกล่าวหาดังกล่าว และหากผิดจริงพวกเขาจะโดนอะไรบ้าง
เป็นไปได้หลายรูปแบบมากตั้งแต่เบาสุด ๆ กับการปรับเงิน ลากยาวไปจนถึงร้ายแรงที่สุดคือการตัดให้พ้นพรีเมียร์ ลีก กันไปเลย ซึ่งหากมองจากสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในลีกชั้นนำอย่าง เซเรีย อา ในกรณี กัลโช่โปลี ในช่วงปี 2006 ที่มีการพูดถึงเรื่องของการล็อคผู้ตัดสินในการช่วยให้ได้ผลการแข่งขันที่ต้องการ เน้นไปที่ ลูชาโน่ มอจจี้ ผู้บริหารของยูเวนตุสเวลานั้น ลุกลามไปจนกลายเป็นเรื่องราวที่หลายคนทราบกันว่า ยูเวนตุส ต้องตกชั้นในที่สุด แต่ในแง่ของคดีความก็ยาวนานเกือบ 10 ปี ซึ่งจบลงด้วยการ “หมดอายุความ”
หรืออย่างล่าสุดในกรณีที่มีการตัดคะแนนของยูเวนตุส จากกรณีที่ทาง FIGC หรือสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี ตัดสินให้ ยูเวนตุส โดนตัด 15 คะแนนจากการที่บัญชีการเงินในฤดูกาล 2019-2020 และ ฤดูกาล 2020-2021 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสโควิด-19 ทีมตรวจสอบพบว่าในช่วงฤดูกาล 2019-2021 มีการพบว่ามีรายจ่ายที่ไม่ถูกบันทึกลงไปในช่วง2 ฤดูกาลนั้น และมีบางเรื่องที่พบว่ามีความไม่ชัดเจนในการแจกแจงตัวเลข (ซึ่งตรงส่วนนี้ก็คือการที่มีข่าวระบุว่า ยูเวนตุส มีการตัดลดเงินค่าแรงของนักเตะลง และแจ้งบัญชีการเงินตามที่ลดลง แต่กลับมีการให้ส่วนต่างแยกอีกทีกับนักเตะ) ว่าง่าย ๆ คือพวกเขาจ่ายเงินเต็มจำนวน แต่แจ้งกับทางบัญชีการเงินว่าพวกเขามีการตัดลดเงินและส่งงบการเงินตามนั้น ซึ่งจะเข้าข่ายคล้าย ๆ กับเคสของการจ่ายเงินให้กับ โรเบร์โต้ มันชินี่
ในมุมมองความเห็นของผู้เขียนเรื่องของการโดนโทษของทางแมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีโอกาสสูงที่จะถูกลงโทษหากมีความผิดจริง แต่จะถึงขั้นหลุดจากสารบบของลีกหรือไม่ ก็ต้องบอกว่ายากถึงยากมา เพราะการสอบสวนกำลังพูดถึงการทำความผิดทางการเงินแทบทั้งสิ้น มิใช่ในกรณีที่มีการล็อคผู้ตัดสิน หรือจ้างนักกีฬาล้มบอล เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับ ยูเวนตุส หรือว่า โอลิมปิก มาร์กเซย์ ในช่วงปี 1993 ที่มีการริบแชมป์ลีก เอิง ซึ่งทั้งสองเคสจบลง ซึ่งไม่ว่าจะถูกหรือผิด จะจริงหรือไม่จริงอย่างไรก็ตาม บทลงโทษก็ออกมา และกลายเป็นบรรทัดฐานของความผิดในวงการฟุตบอล
แมนเชสเตอร์ ซิตี้ กลายเป็นหนึ่งใน “ไอคอน” ของวงการฟุตบอลโลก และพรีเมียร์ ลีก ไปแล้ว หากมีความผิดก็ลงโทษสถานหนักก็เป็นสิ่งที่ต้องมี แต่จะถึงขั้นต้องทำลายล้างกันไปเลย ความผิดก็ไม่ได้รุนแรงถึงขนาดนั้น
อย่างไรก็ตามแมนเชสเตอร์ ซิตี้ หากมีความผิดทางการเงินจริง เท่ากับพวกเขาใช้มัน “เพิ่มโอกาส” ในการสร้างความแข็งแกร่งให้มากกว่าสโมสรอื่น มองในเรื่องนี้โอกาสในเรื่องของการถูกลดชั้นอาจจะเป็นไปได้ยาก แต่ในเรื่องของการ “ตัดคะแนน” มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะเมื่อเทียบกับเคสที่เคยเกิดขึ้น บทลงโทษนี้ก็ถือว่าค่อนข้างหนักมากสำหรับทีมที่ขึ้นมาเป็นแถวหน้าของวงการฟุตบอลในช่วงหนึ่งทศวรรษหลังสุด และหากพรีเมียร์ ลีก ร่วมมือกับทาง ยูฟ่า ที่สองปีก่อนมีกรณีพิพาทกันมาแล้วเกิดร่วมมือกัน หาหลักฐานมาเอาผิดพวกเขาได้จริง เราอาจได้เห็นบทลงโทษที่มากกว่าเดิมอย่างเช่น ตัดคะแนนในลีก แบนจากฟุตบอลยุโรป หรือตลาดการซื้อขายนักเตะ จะจำนวนเท่าไรก็ว่ากันไป ก็มีความเป็นไปได้ทั้งหมด ส่วนที่หลายฝ่ายคิดว่าต้อง “ริบแชมป์” อันนี้ก็รอดูกันว่าความผิดของพวกเขามันสาหัสมากแค่ไหน
“ความจริงที่สามารถพิสูจน์ได้จะเป็นอาวุธและเกราะป้องกันที่ดีที่สุดในเวลาเดียวกัน”
แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้เวลาเอาความจริงมาพูดเพื่อต่อสู้เพื่อตนเองแล้ว