หลังการกลายเป็น ผู้ถือหุ้นใหญ่ ของ อาร์เซนอล เรียบร้อย โครเอนเก้ ยังเหลือหุ้นอีกหนึ่งส่วน ที่ยังคงต้องการ นั่นคือหุ้นของ อลิเชร์ อุสมานอฟ ซึ่งต่อมาเขามีหุ้นอยู่ในมืออีกประมาณ 30 % ด้วยกัน ท่ามกลางข่าวมากมาย เกี่ยวกับความไม่แน่นอนของ อาร์เซนอล
อิวาน กาซิดิส ผู้ซึ่งเข้ามาสู่ทีมตั้งแต่ปี 2009 ในฐานะของผู้บริหารคนใหม่ของทีม ท่ามกลางข่าวลือเกี่ยวกับ ความเข้ากันไม่ค่อยได้ ระหว่าง กาซิดิส และ เวนเกอร์ ในเรื่องของแนวทางการทำทีม
อาร์เซนอล ไม่ได้แชมป์อะไรมายาวนานถึง 6 ปี จนถึงปี 2011 ที่ โครเอนเก้ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนใหญ่ ท่ามกลางความไม่พอใจของแฟนบอลมากขึ้นเรื่อย ๆ เกี่ยวกับการไร้ความสำเร็จมาอย่างยาวนาน และการชำระหนี้สินในการสร้าง เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม ที่ทำให้ต้อง “ขายตัวหลัก ดันดาวรุ่ง” กลายเป็นทีมที่ลดระดับจากการลุ้นแชมป์ กลายเป็นทีมที่ลุ้นไปเพียงพื้นที่แชมเปี้ยนส์ ลีก เท่านั้น
การเข้ามาของ โครเอนเก้ ที่ควรจะเป็นการเข้ามาของ “นายทุน” ที่พร้อมจะลงทุนให้สโมสรเพื่อพาทีมไปข้างหน้า แต่กลับกลายเป็นว่า อาร์เซนอล กลายเป็นทีมที่ไม่ได้มีการลงทุนที่หวือหวาแต่อย่างใด พวกเขากลายเป็นทีมที่รักษาสมดุลการซื้อขายได้ค่อนข้างดีมากในแต่ละฤดูกาล พวกเขาแทบจะไม่ได้ลงทุนอะไรมากนักในแต่ละปี แม้ว่าจะมีการซื้อขาย นักเตะ ระดับโลกด้วยค่าตัวเป็นสถิติสโมสรอย่าง เมซุต เออซิล หรือว่า นักเตะ ที่กลายเป็นที่รักของสโมสรอย่าง ซานติ กาซอร์ล่า ก็ตาม
ในขณะที่แฟนบอลต่างไม่พอใจกับการบริหารงานของ สแตน โครเอนเก้ มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ แต่กลับ โครเอนก้ ทำเรื่องสวนทางกัน ในขณะที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ เชลซี รวมถึง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลับยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่อง และนั่นทำให้พวกเขาก้าวขึ้นมาลุ้นแชมป์ พรีเมียร์ ลีก แบบเต็มตัว
“สำหรับผมในฐานะการเป็นเจ้าของ ผมต้องอยู่กับความเป็นจริง ถ้าคุณต้องการคว้าแชมป์ คุณจะไม่มีวันมีส่วนร่วม สำหรับผมแล้ว การเป็นเจ้าของที่ดี จำเป็นต้องดูทั้งสองเรื่อง (การบริหาร และการแข่งขัน) ถ้าคุณไม่มีธุรกิจที่ดี คุณก็จะไม่มีทางที่จะออกไปแข่งขัน และเก็บนักเตะที่ดีที่สุดไว้กับทีมได้ เว้นเสียแต่ว่า คุณต้องการเพียงแค่ที่มาของแหล่งรายได้อื่น”
“ในพรีเมียร์ ลีก มันเหมือนกับว่ามีคนจากตะวันออกกลาง ที่ซื้อน้ำมันราคาแพงกว่า 100 เหรียญสหรัฐ ผู้คนที่นั่นสามารถจะซื้ออะไรได้ ขอเพียงพวกเขาต้องการเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นจากกลุ่มคนเหล่านั้น นั่นก็คือพวกเขาอาจจะเสียความสนใจในทีมไปเมื่อไรก็ได้ ผมไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะทำแบบนั้นทุกคน แต่มันก็อาจเป็นแบบนั้นก็ได้ อะไรมันก็เกิดขึ้นได้แน่นอน เพราะนี่คือธุรกิจที่ใช้เงินจำนวนมาก และนั่นอาจทำให้พวกเขาตัดสินใจกลับบ้าน และหากเป็นแบบนั้นจริง แฟนบอลก็จะต้องเสียใจ”
“อะไรที่ผมได้เรียนรู้จากอังกฤษหรือ…ผมได้เรียนรู้อะไรมากมายเกี่ยวกับเรื่องความหมายของแบรนด์ มันยิ่งใหญ่ขนาดไหน ทุกเกมในบ้านของ อาร์เซนอล จะมีสุภาพบุรุษจากแดนไกลมากมาย เดินทางมาจากหลายประเทศ อย่างเช่นใน แอฟริกาใต้ เพื่อมาชมเกม นั่นคือพลังของแบรนด์ และสิ่งที่กีฬาสร้างสรรค์ขึ้น”
อาร์เซนอล ยังคงไม่ได้อยู่ในสถานะของการลุ้นแชมป์ พรีเมียร์ ลีก เช่นเดียวกับสถานการณ์ของการถือหุ้นที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งในปี 2018 ทุกอย่างก็ถึงจุดจบของเรื่องราว เมื่อ อลิเชร์ อุสมานอฟ “เบื่อ” กับการที่จะต้องกลายมาเป็นเพียงผู้ถือหุ้นลำดับสอง และตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดของเขาให้กับ โครเอนเก้ ด้วยจำนวนเงิน 550 ล้านปอนด์ และนั่นทำให้ โครเอนเก้ ถือครองหุ้นมาถึง 93.6 % ท่ามกลางการวิจารณ์จากแฟนบอลว่า “วันที่น่าสยดสยอง”
“มันช่างเป็นวันที่น่าสยดสยอง สำหรับสโมสร อาร์เซนอล สแตน โครเอนเก้ ก้าวเข้าสู่อาร์เซนอล และครอบครองสโมสร ให้กลายเป็น “สโมสรส่วนตัว” พร้อมกับสามารถที่จะทำอะไรก็ได้ตามใจต้องการของเขา ไม่จะเป็นต้องมีการประชุมสามัญประจำปี ไม่มีการตรวจสอบ หรือถอดถอนกรรมการของสโมสรใด ๆ มันเป็นเรื่องที่น่ากังวลเหลือเกิน อาร์เซนอล เป็นสโมสรฟุตบอลที่ไม่ใช่ใครสักคนจะกลายเป็นเจ้าของมัน แต่ตอนนี้มันเป็นเช่นนั้นไปเสียแล้ว”
หลังการถือครองแบบเบ็ดเสร็จของ โครเอนเก้ สโมสรอาร์เซนอล ก็มีการเปลียนแปลงเกิดขึ้นตามมา นั่นคือการออกจากตำแหน่งของ อาร์แซน เวนเกอร์ ท่ามกลางข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า อาร์เซนอล ต้องการมีการจ้างงานในตำแหน่ง “ผู้อำนวยการกีฬา” (Sporting Director) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในสโมสร และเป็นตำแหน่งที่มักมีในสโมสรยุโรป ซึ่งจะทำหน้าที่ในการดูแลเกี่ยวกับการซื้อขาย นักเตะ โดยตรง ซึ่งโดยปกติแล้ว การซื้อขายทั้งหมด อาร์แซน เวนเกอร์ จะเป็นผู้ถือสิทธิ์ขาดทั้งหมด ยิ่งในวันที่ เดวิด ดีน ไม่ได้อยู่เป็นคู่คิดของเขาอีกต่อไปแล้ว เวนเกอร์ แทบจะทำทุกอย่างเองเกือบทั้งหมด และนั่นทำให้หลายครั้งเกิดความล่าช้า แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ ก็เป็นการลดอำนาจของเวนเกอร์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน
เมื่อ อาร์เซนอล ที่ซึ่งไม่สามารถเข้าสู่แชมเปี้ยนส์ ลีก เป็นฤดูกาลที่สองติดต่อกัน อาร์แซน เวนเกอร์ ก็ตัดสินใจที่จะยุติ 22 ปี ของการคุมทีมนี้ และเข้าสู่ยุคใหม่ของการเป็น “เฮดโค้ช” ไม่ใช่ “ผู้จัดการทีม” อีกต่อไป
14 ปีผ่านไป หลังจากการเข้ามาของ สแตน โครเอนเก้ ครั้งแรกจนถึงปี 2021
จบบริบูรณ์