แอตเลติโก มาดริด หนึ่งในสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของ ลา ลีกา สเปน เพิ่งมีการเฉลิมฉลอง กับวาระครบรอบวันแห่งประวัติศาสตร์ของพวกเขาไปเมื่อวานนี้ (22 มกราคม)
22 มกราคม 1911 หรือเมื่อ 110 ปีก่อน สโมสร แอตเลติก คลับ เดอ มาดริด ได้ทำการสวมเสื้อสีแดง-ขาว ลงเล่นกับสโมสร สแปนิช ยิมนาสติก โซไซตี้ นั่นคือครั้งแรกที่สโมสรแห่งเมืองมาดริด มีการเลือกใช้สีนี้ลงสนาม มันเป็นเกมการแข่งขันรายการฟุตบอลถ้วยที่ชื่อว่า โรดริเกวซ อาซูอาก้า ฟุตบอลถ้วยสมัยเมื่อ 110 ปีก่อนหน้านั้น
ภาพของชายหนุ่มทั้ง 11 คนที่ถ่ายภาพก่อนเกมการแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น พวกเขาคงไม่คาดคิดว่า 110 ปีต่อมา ภาพที่ถ่ายกันในวันนั้นจะกลายเป็น ประวัติศาสตร์ตลอดไปของสโมสรแห่งนี้
นักเตะ “ตราหมี” ของทีมในยุคนั้น เพิ่งก่อตั้งทีมในปี 1903 หรือเพียง 8 ปี ก่อนหน้านี้ โดยสโมสรแห่งนี้ เกิดจากการรวมตัวกันของ นักเรียนสามคน ซึ่งเป็นชาวบาสก์ ที่อาศัยอยู่ในเมืองมาดริด พวกเขามาเรียนไกลบ้านเกิดของตนเอง ที่มีสโมสร แอตเลติก บิลเบา เป็นทีมประจำเมืองของพวกเขา แถมเพิ่งจะได้แชมป์ โคปา เดล เรย์ มาในปี 1903 ดังนั้นพวกเขาเคยคิดว่าจะตั้งทีมที่เป็นเหมือนกันอีกหนึ่งทีมในเมืองมาดริด หวังจะให้เป็น แอตเลติก บิลเบา สาขากรุงมาดริด นั้นคือความตั้งใจแรกเริ่มของพวกเขา
อย่างไรก็ตามสมัยนั้น แอตเลติก บิลเบา ไม่ได้ใช้เสื้อ “แดง-ขาว” แบบทุกวันนี้เช่นกัน พวกเขาใช้ “น้ำเงิน-ขาว” เป็นสีของสโมสร ดังนั้น ผู้ก่อตั้งสโมสร แอตเลติโก มาดริด ก็จึงเลือกใช้ “น้ำเงิน-ขาว” เป็นสีของสโมสรที่พวกเขาก่อตั้งขึ้น และให้ชื่อว่า “แอตเลติก คลับ เดอ มาดริด” หรือแปลไทยง่าย ๆ ตรงตัวว่า แอตเลติก คลับที่มาดริด นั่นเอง
อย่างไรก็ตามในปี 1909 ก็เกิดสิ่งที่ทำให้ “สีของสโมสร” ของทั้งสองสโมสรเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
ฆวน อีลอดัวร์ กองกลางชาวสเปน ของแอตเลติก บิลเบา เดินทางไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วงวันหยุดพักผ่อน โดยการเดินทางดังกล่าว เขาได้รับการฝากจากทาง บอร์ดบริหารของสโมสร ในการหาเสื้อแข่งขันที่เหมาะสมสำหรับ นักฟุตบอล มาด้วย เพราะใน ยุคสมัยนั้น อังกฤษ เป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมสิ่งทอชั้นนำ อย่างเช่น แบรนด์ที่ชื่อว่า “BUKTA” ก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ผลิตเสื้อแข่งฟุตบอล มาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 1879 และที่สำคัญยุคนั้น การเดินทางไม่ได้สะดวกสบาย การเดินทางด้วยเรือ ยังเป็นการเดินทางหลักของโลกในยุค 100 ปีที่แล้ว
เสื้อฟุตบอลสมัยก่อน มักจะใช้เป็นเสื้อเชิ้ตสีขาว ส่วนสีสันต่าง ๆ ก็จะใช้การเย็บมือในการมาแต่งเติมกันในภายหลัง แต่ไม่ใช่สำหรับในอังกฤษ ที่เวลานั้นพวกเขาเริ่มเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมโรงงาน ไปแล้ว (รวมถึง แอตเลติก บิลเบา และ แอตเลติโก มาดริด ในเวลานั้นก็ใช้วิธีแบบเดียวกัน) แต่ประเด็นที่ทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่หวังนั่นก็คือ อีลอดัวร์ ไม่สามารถหาเสื้อสีน้ำเงิน-ขาว ได้เลย ในลอนดอน
สุดท้ายเขาก็จากลอนดอนมาด้วยมือเปล่า ไม่สามารถหาเสื้อสี “น้ำเงิน-ขาว” ได้เลย และเดินทางไปยังเมือง เซาธ์แธมป์ตัน ซึ่งเวลานั้น คือเมืองท่าของอังกฤษ (เรือ ไททานิค ที่โด่งดัง ก็ออกจากท่าในเมืองเซาธ์แธมป์ตัน) อีลอดัวร์ ต้องกลับบ้านด้วยการขึ้นเรือที่นั่น และนั่นเองที่ทำให้เขาได้พบกับ เสื้อ “แดง-ขาว” ของสโมสร “นักบุญแดนใต้” เซาธ์แธมป์ตัน ซึ่งมีความสวยงาม และตัดสินใจซื้อเสื้อมาทั้งหมดจำนวน 50 ตัว ด้วยกัน และเดินทางกลับไปยังสเปน
เมื่อกลับไปถึง สเปน เจ้าเสื้อ “น้ำเงิน-ขาว” กลายมาเป็น “แดง-ขาว” กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกัน ก่อนที่สุดท้ายแล้ว แอตเลติก บิลเบา จะเก็บเสื้อเอาไว้จำนวน 25 ตัว เพื่อเตรียมที่จะนำไปเปิดตัวใช้งานอย่างเป็นทางการในปี 1910 ขณะที่อีก 25 ตัว ถูกส่งมายังกรุงมาดริด เพื่อให้สโมสร แอตเลติก คลับ เดอ มาดริด ได้ใช้งานกัน และแน่นอน มันถูกใช้งานจริงในวันที่ 22 มกราคม 1911 หรือก็คือ 110 ปีที่แล้วนั่นเอง
ทั้งนี้ แอตเลติก คลับ เดอ มาดริด ไม่ได้มีการเปลี่ยนชื่อแต่อย่างใด แค่เรียกชื่อสโมสรให้สั้นลง กลายเป็น แอตเลติโก มาดริด สโมสรที่ครองใจแฟนบอลหลายล้านคนทั่วโลก มาอย่างยาวนานถึง 117 ปี แล้วนั่นเอง โดยการใช้งานสีแดง และขาว ของสโมสรแห่งนี้ ทำให้ต่อมาพวกเขามีสมญานามที่ชื่อว่า “ลอส โคลโชเนรอส” หรือก็คือ “ที่นอน” เนื่องจากในยุคสมัยนั้นที่นอน มักใช้สีแดง และขาว เป็นสีหลักนั่นเอง
นอกจากนี้ แอตเลติโก มาดริด ยังถูกเรียกว่า “อินดิออส” (อินเดียนแดง) เพราะในช่วงทศวรรษที่ 70-80 พวกเขาเซ็นสัญญากับ นักเตะ จากทวีป อเมริกาใต้ เข้ามาร่วมทีมหลายคน โดยเฉพาะการเข้ามาของ ฮูโก้ ซานเชส ยอดหัวหอกทีมชาติเม็กซิโก ก็ได้รับฉายาว่า “อินดิโอ” อันหมายถึง อินเดียนแดง เช่นดียวกับ มาสคอตของพวกเขาก็ใช้ชื่อว่า “อินดี้” เช่นเดียวกัน
ความสำเร็จของ “แอตเลติกแห่งมาดริด”