เรื่องในวันนี้ยังคงอยู่ในเรื่องของตลาดการซื้อขายกันอยู่ ท่ามกลางเกมทีมชาติที่ยังคงเหลืออีกชาติละหนึ่งเกม ก่อนที่จะกลับมาลงเล่นในเกมลีกตามปกติ เรียกว่าเป็นช่วงที่หลายคนรอคอยแทบจะไม่ไหวที่จะได้เห็น นักเตะ ใหม่ของทีมรักลงสนาม แต่เหมือน FIFA จะไม่เข้าใจ เอาเกมทีมชาติมาเบรกเอาไว้ก่อนเสียอย่างนั้น
อาร์เซนอล ปิดตลาดนี้ด้วยการเป็นทีมที่ลงทุนมากที่สุดในพรีเมียร์ ลีก แทบจะต้องขยี้ตากันเลยว่าจริงหรือ กับการลงทุนสูงสุด เพราะนานมากแล้วที่จะเกิดเหตุการณ์นี้กับ อาร์เซนอล ว่าง่าย ๆ นับจากมี พรีเมียร์ ลีก เป็นต้นมา นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่ อาร์เซนอล ลงทุนมากขนาดนี้ ภายใต้แนวคิดเกี่ยวกับการเลือกเฟ้นหา นักเตะ เยาวชน หรือดาวรุ่งคุณภาพดีเข้าสู่ทีม อ้างอิงจากสัมภาษณ์ของ วิไน เวนกาเทสเซม ผู้บริหารใหญ่คนหนึ่งของสโมสรปืนใหญ่ ยืนยันว่าที่ลงทุนในตลาดรอบนี้ อายุน้อยกว่า 23 หรือเทียบเท่านั้นเป็นเรื่องที่วางแผนระยะยาวไว้แล้ว
“เราอยู่ในความจริงที่ว่าระยะห่างจากสิ่งที่เราเป็น และสิ่งที่เราต้องการไปถึง มันมีห่างกันเกินไป ดังนั้นเราจึงต้องการหาวิธีในการลดระยะมัน ดังนั้นเราจึงเลือกการซื้อขายที่เน้นไปที่ดาวรุ่งที่อายุน้อยเป็นหลัก กับการหากนักเตะความสามารถดีทั่วโลก ร่วมกับการพัฒนาทีมเยาวชนของเราควบคู่กันไป ภายใต้การคุมทีมของ มิเคล อาร์เตต้า มันเป็นแนวทางที่ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทันที หรือข้ามคืน แต่เราเชื่อว่าเราสามารถทำมันออกมาดีได้ และเป็นเส้นทางที่ดีสำหรับอนาคตที่ดี และยั่งยืนของอาร์เซนอล” วิไน เวนกาเทสเซม
ช่วงเดือนมิถุนายน มีข่าวออกมาเกี่ยวกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบ “แมวมอง” ของสโมสรใหม่หมด การจากไปของ สตีฟ โรวลีย์ หัวหน้าแมวมองในปี 2018, การจากไปของ สเวน มิสลินสตัด “แมวมองตาเพชร” ในปี 2019 และล่าสุด ฟรานซิส คาจิเกา แมวมองคนเก่งอีกหนึ่งคนที่ออกจากทีมไปในปีนี้ อาร์เซนอล เลือกเดินเส้นทางใหม่กับการทำให้ระบบแมวมองกลายเป็น “แผนก” หนึ่งในสโมสร โดยในตลาดการซื้อขายรอบสิงหาคม 2021 มีตัวละครหลักในทีมงาน อาร์เซนอล สามคนคือ
เอดู กาสปาร์ : ผู้เป็นผู้อำนวยการด้านเทคนิคของสโมสร ผู้ซึ่งโดนแฟนบอลเข้าไป “Abuse” หลังจากมีภาพเขาพักผ่อนกับครอบครัว แล้วกล่าวหาว่า เอดู น่ารังเกียจที่ไม่ยอมออกไปดีลเจรจานักเตะแต่กลับมาพักผ่อนแบบดูมีความสุข…พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รู้เลยหรือว่า “โลก” มันมีการประชุมแบบออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชันหลายรูปแบบ และสิ่งเหล่านั้นมันทำให้ปิดดีลการเจรจาได้ไม่ต่างจากการเดินทางไปด้วยตนเอง ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 การออกเดินทางให้น้อยก็เสี่ยงน้อยกว่าแน่นอน ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจที่ปีนี้เราจะไม่เห็นเอดู บินไปสเปน, อิตาลี หรือว่าที่ไหนในแง่ของธุรกิจ และเชื่อว่านับจากนี้ หากไม่ใช่เรื่องสำคัญจริง เทคโนโลยีจะเข้ามาลดเวลาในการทำงานส่วนนี้ในวงการฟุตบอลได้อีกเยอะ
มิเคล อาร์เตต้า : ในฐานะของผู้จัดการทีม ที่ได้รับสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องการซื้อขายมาตั้งแต่ปีที่แล้ว “คนซื้อนักเตะต้องได้ใช้งานนักเตะ” นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ อาร์เตต้า มาอยู่ในส่วนนี้ ผิดกับ อูไน อเมรี่ โค้ชคนก่อนหน้านี้ ที่ไม่มีเอี่ยวในเรื่องนี้ (จนเป็นประเด็นที่ออกมาบ่นหลังจาก โดนไล่ออกว่า เขาไม่ได้อยากได้ นิโกล่าส์ เปเป้ (72 ล้านปอนด์ ผ่อนยาว 5 ปี) เขาอยากได้ วิลฟรีด ซาฮา (80 ล้านปอนด์ จ่ายสดเท่านั้น) ต่างหาก)
ริชาร์ด การ์ลิค : การจากทีมไปของ ฮุสส์ ฟาห์มี่ “ผู้ดูแลเงิน และเรื่องของกฎหมาย” ที่ออกไปช่วงปลายปี 2020 ทำให้ทีมได้ การ์ลิค ที่เคยทำงานกับ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน และพรีเมียร์ ลีก เข้ามารับงานนี้แทน
อาร์เซนอล เปลี่ยนแนวคิดในเรื่องของการใช้งานแมวมองแบบเดิม + ระบบวิเคราะห์ข้อมูล กลายมาสร้างเป็นแผนกหนึ่งแผนกที่ร่วมกันทำและใช้ชื่อว่า “Football Intelligence” และมีทีมงานในนั้นหลายคนประกอบไปด้วย
เจสัน อายโต้ : คนนี้ทำงานมาตั้งแต่ปี 2019 ทำหน้าที่ในเรื่องของประสานงานเกี่ยวกับการนำเข้านักเตะเข้าสู่ทีม
มาร์ค เคอร์ติส : แมวมองของทีมชุดใหญ่
เบน แนปเปอร์ : “Loan Managers” ซึ่งอยู่มาตั้งแต่ยุคของ อูไน อเมรี่ กับหน้าที่ในการดูแล “ความเป็นอยู่-โอกาสลงสนาม และผลงาน” ของนักเตะที่ทีมส่งออกไปยืมตัวทุกคน
โทลลี่ โคบอร์น : ดูแลในเรื่องของวิเคราะห์สถิติ และข้อมูล โดยยังไม่รวมถึงเรื่องของ นิสัยส่วนตัว หรือทัศนคติของผู้เล่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของ แมวมอง ในการเข้าไปจัดการหาข้อมูลในส่วนนี้
ทุกข้อมูลจะต้องผ่านเข้ามายังแผนก ทำงานร่วมกัน และรายตรงถึงเอดู ทั้งเรื่องของแผนการทำทีมของ อาร์เตต้า, การเลือกนักเตะที่จะไป “มอง”, การยืมตัวนักเตะ โดยในทีมงานของแมวมองนั้นก็ยังมีแมวมองอีกจำนวนหนึ่งถูกเซ็นสัญญาจ้างงานเข้ามาร่วมแผนก และจะแบ่งแยกไปตามพื้นที่ของทวีปว่าใครจะรับผิดชอบในส่วนไหนบ้าง
การค้นหานักเตะหนึ่งคนของ อาร์เซนอล จะมีการนำเรื่องของ ข้อมูลทั้งคลิปวิดีโอ ทั้งสถิติการเล่น มานั่งพูดคุยกันทุกฝ่ายโดยมีแกนหลักคือ เอดู, อาร์เตต้า และการ์ลิค ว่า “นักเตะ” คนนี้สมควรจะลงทุนเข้าสู่ทีมหรือไม่ ซึ่งหากใครดู ซีรีส์เรื่อง “Hot Stove League” มาก่อนจะเห็นภาพชัดเจนเลยว่า มันคือการทำงานร่วมกันระหว่าง “คนเจรจาดีลนักเตะ-ทีมงานโค้ช-ทีมการตลาด ทีมแมวมองและข้อมูลสถิติ” การได้นักเตะหนึ่งคนเข้าสู่ทีม ไม่ใช่เพียงแค่ความสามารถ แต่มันต้องขึ้นกับราคาของนักเตะ อ้างอิงตามงบประมาณที่มี เพื่อให้ดีลหนึ่งดีลเกิดขึ้น
ริชาร์ด การ์ลิค ทำอะไรบ้าง แน่นอนเขาถูกจ้างงานมาดูแลเรื่องงบประมาณ และกฎหมายเกี่ยวกับสัญญา ของ นักเตะ การทำงานของเขาจึงสำคัญมากที่จะต้องทราบในรายละเอียดของดีล แต่ในบางดีล คอนเนคชั่นของเขาที่ผ่านงานมาแล้วกับ พรีเมียร์ ลีก ทำให้เขารู้จักคนมากมายในลีกนี้ ดีลของ เบน ไวท์ คุยกันราบรื่น (แม้ตัวเลขจะไม่ได้ราบรื่น) เพราะ การ์ลิค และผู้บริหารของ ไบร์ทตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบี้ยน เคยทำงานด้วยกันมาก่อน ก็คุยกันง่าย ถ้อยทีถ้อยอาศัย ทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี รวมถึงการต่อสัญญาใหม่ นักเตะ อย่าง เอมิล สมิธ โรว์ หรือว่า คีแรน เทียร์นีย์ เขาก็เป็นคนดูแลเรื่องนี้โดยตรง
บอร์ดบริหารของอาร์เซนอล กำลังเอาอนาคตของสโมสรเป็นเดิมพันในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ กับความเชื่อในตัวแนวคิดการสร้างทีมของบุคลากร และแนวทางการทำงาน “Trust the process” นี้ว่าคือทางเลือกที่ใช่อย่างยั่งยืน แต่ถ้าผลงานไม่เป็นตามหวัง พวกเขาจะทำอย่างไร มี “แพลนบี” เอาไว้หรือเปล่า
นับเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่อีกหนึ่งรอบสำหรับ อาร์เซนอล เมื่อ บอร์ดบริหาร เชื่อมั่นในการทำงานของ เอดู กาสปาร์ ในฐานะของผู้อำนวยการด้านเทคนิค ที่ซึ่งเข้ามาเปลี่ยนแปลงหลังบ้านของทีม และทำงานร่วมกับ มิเคล อาร์เตต้า ผู้จัดการทีมหนุ่มประสบการณ์น้อยคนนี้ต่อไป ในแง่ของโครงสร้างมันก็ “ดูดี” แต่ในเรื่องของผลงานการพ่ายแพ้สามเกมแรกในพรีเมียร์ ลีก ในแบบที่ยิงคู่แข่งไม่ได้เลย มันก็คือ “ความล้มเหลวที่รับไม่ได้”
อาร์เตต้า บอกว่าเขาต้องการเวลาในการปรับปรุงทีม แต่มันจะ “เมื่อไร” ถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าที่เห็น และมันจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ยังเป็นคำถามที่รอคอยการพิสูจน์ด้วยเวลาเท่านั้น
เริ่มต้นที่เกมกับ นอริช ซิตี้ สุดสัปดาห์หน้าก่อนเป็นอันดับแรก!!
ขอขอบคุณรายละเอียดบางส่วนของ ดิ แอตเลติก และบางส่วนจากข้อมูลจากการค้นหา และความทรงจำของผู้เขียน