การอำลาทีมของ โรมัน อบราโมวิช (55 ปี) สร้างความตกใจ และไม่ตกใจให้กับวงการฟุตบอล โดยเฉพาะแฟนบอลเชลซี ที่หลายคนยังคงรู้สึกใจหายกับการตัดสินใจครั้งนี้ของ “เสี่ยหมี” ที่ทำให้ “เชลซี” กลายเป็น “เชลซี” ในแบบทุกวันนี้
ย้อนไปในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 เชลซี ยังคงเป็นทีมกลางตารางที่พยายามยกระดับทีมให้ขึ้นมาสู่ทีมแถวหน้าของพรีเมียร์ ลีก ภายใต้การดูแลของ เคน เบตส์ พวกเขาอาจไม่ใช่สโมสรแรกที่ “นำเข้า” นักเตะต่างชาติเข้ามาสู่ พรีเมียร์ ลีก แต่พวกเขากลายเป็นภาพจำของวงการฟุตบอลหน้าหนึ่งกับการตบเท้าเข้ามาของสตาร์ระดับชั้นนำอย่าง รุด กุลลิท, จานลูก้า วิอัลลี่, จานฟรังโก้ โซล่า, ฟรองค์ เลอเบิฟ หรือ มาร์กแซล เดอไซญี่ และอีกหลายต่อหลายคน พวกเขาสร้างชื่อได้อย่างน่าสนใจ เชลซี กลายเป็นทีมที่น่าติดตามมากขึ้นเรื่อย ๆ การคว้าแชมป์เอฟเอ คัพ หรือว่า คัพ วินเนอร์ส คัพ เป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่มันยังคง “ไปไม่สุด” เมื่อพวกเขาไม่สามารถคว้าแชมป์ พรีเมียร์ ลีก ได้สักครั้ง
จนกระทั่ง โรมัน อบราโมวิช ก้าวเข้ามาสู่ทีม ก้าวเข้ามาสู่ สแตมฟอร์ด บริดจ์ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
ทีมฟุตบอล ที่เจ้าของทีมก็ต้องมีใจรักฟุตบอล ฟุตบอลที่เป็นเพียงกีฬา มุมมองเปลี่ยนไป เมื่อ อบราโมวิช ก้าวเข้ามาพร้อมกับเงินมหาศาล ในฐานะอภิมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่ง เขาใช้เวลาไม่นานในการเจรจาขอซื้อทีม และก็ได้มันมาครอบครองด้วยเงิน 146 ล้านปอนด์ ในปี 2003 ยุคที่นักเตะที่แพงที่สุดในโลก อย่าง ซีเนอดีน ซีดาน ยังคงถูกประเมินมูลค่าที่อยู่ประมาณ 50 ล้านปอนด์เท่านั้น
การเข้ามาของเขากับระบบ “ทุนนิยม” ในยุคที่ไม่มี FFP ไม่มีการตรวจที่มาของเงิน ไม่มีอะไรห้ามปรามการใช้เงินของเขาได้ อยากได้ใครก็ซื้อ อยากขายใครก็ขาย ทุกอย่างบันดาลได้ด้วยเงิน ช่วงแรกของเขาถูกสื่อมวลชน แฟนบอลมากมายด่าดูแคลนว่า เชลซี เป็นเพียงของเล่นคนรวย ไม่นานก็คงเบื่อ และ เชลซี จะไหวเหรอ กับการใช้เงินมากมายขนาดนี้…19 ปีผ่านไป จนถึงวันนี้ เชลซี คว้าแชมป์ใหญ่ในยุคของเขามากถึง 21 ครั้ง และแชมป์อะไรก็ตามที่พวกเขามีสิทธิ์สามารถคว้าได้ พวกเขาคว้ามาได้แล้วทั้งหมด จากเสียงสงสัย กลายเป็นเสียงอิจฉาบ้างก็ว่า ทำไมทีมตัวเองไม่มีแบบนี้บ้าง…ว่ากันไป และผู้คนจำนวนมากในยุคนี้ เติบโตขึ้นมาในวัยเด็กด้วยการรู้จั เชลซี ที่มีเจ้าของชื่อ โรมัน อบราโมวิช หลายคนถวายหัวใจเป็น “สิงโตน้ำเงินคราม” ในยุคของเขา
สำหรับผู้เขียน การเข้ามาของ อบราโมวิช เป็นหนึ่งใน “หน้าประวัติศาสตร์” ของวงการฟุตบอลโลก ไม่ใช่แค่เพียง พรีเมียร์ ลีก เท่านั้น เพราะมันคือการเปิดยุคใหม่ของ “Football is Business” แบบเต็มตัว บนเวทีใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของวงการฟุตบอลระดับสโมสร ที่ต่อมามีอีกหลายสโมสร เดินตามรอย เชลซี บ้างก็ประสบความสำเร็จ (แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เปแอสเช) บ้างก็ล้มเหลว ถังแตก เงินสายป่านไม่ยาวพอ (อันจิ มาคาชคาล่า, มาลาก้า, อาแอส โมนาโก) และอีกหลายสโมสรนับไม่ถ้วนที่มีการเปลี่ยนมือเจ้าของสโมสรที่จากเดิมหลายสโมสร สโมสรฟุตบอล เปรียบเสมือน “มรดกตกทอด” รุ่นต่อรุ่น กลายมาอยู่ในมือ “นักธุรกิจ” จำนวนมาก อย่างล่าสุด เซาธ์แธมป์ตัน ก็เพิ่งเปลี่ยนมือจากเจ้าของชาวจีน กลายมาเป็น นักธุรกิจชาวเซอร์เบีย เรียบร้อยแล้ว
ในแง่ของแฟนบอล ฟุตบอล สนุกขึ้น แฟนตาซีขึ้น เหมือนกับเกม CM-FM ที่เราเคยเล่นกัน และเราก็ได้เห็นหลายอย่างในโลกฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นค่าตัวของนักเตะที่สูงขึ้น ค่าแรงที่จ่ายหนักกว่าเดิม ไปจนถึงเรื่องของที่ ยูฟ่า ต้องออกกฎหลายข้อในการป้องกันเรื่องของการใช้เงินเกินตัว, ฟอกเงิน ไปจนถึงการป้องกันการใช้เงินมากเกินไปของเหล่านักลงทุนที่อาจทำให้เกิด ภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง และจะทำให้เกิดภาวะล้มละลาย เป็นต้น
ทุกวันนี้ “ฟุตบอล” กลายเป็นเรื่องของ ธุรกิจ ที่เต็มไปด้วยแพสชั่น และความคาดหวังมากมายของแฟนบอลแต่ละทีม ยังคงเป็น “ศาสตร์” แบบเดิมที่เพิ่มเติมด้วยเรื่อง “เงินทอง” ที่ทำให้ทีมสามารถพัฒนาได้เร็วขึ้นกว่าเดิม และ อบราโมวิช คือจุดเริ่มเรื่องราวนี้
ตามรายงานจากแถลงการณ์อำลาครั้งนี้ อบราโมวิช ตัดสินใจเขียนขึ้นเพื่อบอกความในใจ พร้อมทั้งทำให้ผู้อ่านสัมผัสได้ชัดเจนว่าเขารู้สึก “เสียใจ และเสียดาย” กับการต้องวางมือในครั้งนี้ของตนเอง แต่ในเมื่อสถานการณ์ในระดับโลกที่เกิดขึ้นระหว่าง รัสเซีย – ยูเครน มันก็มีความชัดเจน และแรงกดดันจากทั่วยุโรป ก็พุ่งเป้ามายังเขา และนักธุรกิจใหญ่ชาวรัสเซียจำนวนมาก ซึ่งอาจมีความเกี่ยวข้องกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำของรัสเซีย การตัดสินใจครั้งนี้ คือการตัดสินใจเพื่อไม่ให้ เชลซี ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องไปด้วย และพร้อมยกหนี้สินที่ เชลซี ยืมเขามาจำนวน 1,500 ล้านปอนด์ให้ด้วยเหตุผลว่าเขาทำทั้งหมดด้วยความรักในทีม และอยากกลับไปที่ สแตมฟอร์ด บริดจ์ อีกสักครั้งเป็นการกล่าวลา แต่ ณ เวลานี้ เขายังไม่มีสิทธิ์นั้น
“I do believe this is in the best interest of the club.” หนึ่งในประโยคที่ยืนยันว่าเขาไตร่ตรองมาดีแล้วก่อนตัดสินใจครั้งนี้
การประกาศอำลาทีมที่สร้างมายาวนาน 19 ปี จะส่งผลกระทบหรือไม่กับวงการฟุตบอล ต้องบอกว่าแน่นอนว่าจะต้องมีบ้าง อย่างน้อย อบราโมวิช ก็เป็นคนแรกของวงการนี้ ชื่อของเขาจะอยู่ในความทรงจำ และฐานข้อมูลของ พรีเมียร์ ลีก ตลอดไป แต่มุมมองของในวงการฟุตบอล การจากไปของ โรมัน ก็ไม่ต่างจาก คนรวยคนหนึ่งตัดสินใจอำลาธุรกิจนี้ เพื่อจะไปทำอย่างอื่นต่อไปในอนาคต ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตรงข้ามกับแฟนบอล เชลซี ที่ต้องมีความกังวลไม่มากก็น้อยกับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะทุกการเปลี่ยนแปลง มีทั้งด้านดี และด้านร้าย แฝงอยู่เสมอ
แนวคิดการลงทุนของ อบราโมวิช แพสชั่นในการอยากเห็น สิงโตน้ำเงินครามของเขา คำรามไปทั่วยุโรป และวงการโลก ทำให้ เชลซี มีวันนี้ได้อย่างภาคภูมิ มีวันนี้ที่พวกเขาคือสโมสรแถวหน้าของ พรีเมียร์ ลีก และโลกฟุตบอล และทีมที่ประสบความสำเร็จสูงที่สุดในกรุงลอนดอน เมืองที่มีสโมสรฟุตบอลอาชีพจำนวนมากกว่า 10 สโมสรปักหลักอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมมากแค่ไหน (15 คน) ทีมจะไม่ประสบความสำเร็จในฤดูกาลใดตราบใดยังมีอบราโมวิชอยู่มั่นใจได้เลยว่าเชลซีจะกลับมาได้อย่างแน่นอนและมันก็เป็นเช่นนั้นเรื่อยมา
สื่อคาดว่า อบราโมวิช พร้อมขายหุ้นทั้งหมดของสโมสรแลกกับจำนวนเงิน 3,000 ล้านปอนด์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงมากในยุคของสถานการณ์โลกทั้ง โรคระบาด และในภาวะความไม่สงบในยุโรป แม้จะมีข่าวว่ามีนักธุรกิจหลายคนสนใจก็ตามที แต่การซื้อขายในราคาจำนวนนี้ ไม่ง่ายอย่างแน่นอนที่จะจบลงในเวลาอันสั้น และเชื่อเหลือเกินว่า อบราโมวิช คงต้องมีการคุยหลายเรื่องเกี่ยวกับ “ฟุตบอล” นอกเหนือจากเรื่อง “เงิน” อย่างแน่นอน เพราะเมื่อคุณอยู่กับสิ่งใดมายาวนาน ความผูกพันย่อมต้องมีเป็นธรรมดาจะมากหรือน้อยเท่านั้น แต่ ณ เวลานี้ ทุกอย่างยังเป็นของ อบราโมวิช และรอคอยต่อไปว่าจะมีการยื่นข้อเสนอซื้ออย่างเป็นทางการเข้ามาเมื่อใด
เชลซีกำลังจะได้เจอกับช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของพวกเขาอีกครั้งแบบในวันที่อบราโมวิชเข้ามามาวันนี้เมื่อเขากำลังจะจากไปการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเกิดขึ้นอีกครั้งเพราะการเปลี่ยนแปลงอันเป็นนิรันดร์
หากเทียบกับ นิวคาสเซิ่ล ที่ต้องใช้คำว่า “ปลดแอก” จาก ไมค์ แอชลีย์ มาสู่สโมสรฟุตบอลที่รวยที่สุดในโลก เชลซี “ผู้มาก่อนกาล” ในยุคสมัยแรกเริ่มของระบบทุนนิยมก็ต้องใช้คำว่า “เปลี่ยนแผ่นดิน” ก็คงไม่ผิดนัก ที่เหลือก็รอดูว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ จะนำมาซึ่งอะไรบ้างสำหรับพวกเขา
หลังจากนี้คือเครื่องหมายคำถามที่รอคำตอบ…โดยเฉพาะหัวใจคน “สิงโตน้ำเงินคราม” ทั่วโลก