ปลายฤดูกาล 2018-2019 หลังการปรับตำแหน่งภายในองค์กรเพียง 6 เดือน อาร์เซนอล เสีย สเวน มิสลินสตัด ออกจากทีม หลังจากที่เขาถูกระบุว่ามีปรัชญาการทำงานที่ไม่สอดคล้องกับอาร์เซนอล (หรือว่าง่าย ๆ ว่าทำงานไม่เข้ากับบุคลากรฝ่ายจัดการ ณ เวลานั้น) ทำให้เขาตัดสินใจอำลาทีมไปท่ามกลางความเสียดายของแฟนบอลหลายคน ปัจจุบัน มิสลินสตัด ไปทำงานกับ สตุ๊ทการ์ท ในฐานะผู้อำนวยการกีฬาของสโมสรตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2019 เป็นต้นมา โดยในตำแหน่งของมินสลินสตัดกับ หัวหน้าแมวมอง (Head of recruitments) ถูกส่งต่อไปยัง ฟรานซิส คาจิเกา ซึ่งเป็นแมวมองที่ทำงานกับอาร์เซนอลมาอย่างยาวนานรับงานนี้แทน โดย คาจิเกา มีผลงานโดดเด่นไม่ว่าจะเป็นการนำ เชส ฟาเบรกาส มาสู่อาร์เซนอล หรือว่า ซานติ กาซอร์ล่า เป็นต้น
เอดู กาสปาร์ อดีตกองกลางอาร์เซนอลตกลงมาร่วมงานกับอาร์เซนอลในหน้าร้อนของปี 2019 หลังจากเขาผ่านงานกับทีมชาติบราซิล และงานกับสโมสรในบราซิลมายาวนาน 8 ปี การกลับมาที่อาร์เซนอล คือหนึ่งในความฝันของเขา เพราะที่นี่คือสโมสรในยุโรปที่เขาประสบความสำเร็จมากที่สุด เขารู้จักสโมสรเป็นอย่างดี ผ่านช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ในฐานะสมาชิกของทีมไร้พ่าย และการกลับมาครั้งนี้มาพร้อมกับคอนเนคชั่นมากมายในบราซิล ที่ต้องบอกว่านักเตะบราซิลทั้งลีกต้องรู้จักเขา เพราะนี่คือคนของทีมชาติบราซิล คือหนึ่งในคนที่ผ่านฟุตบอลยุโรปที่นักเตะอเมริกาใต้อยากไปค้าแข้งที่นั่นสักครั้ง
การทำงานในสถานะของผู้อำนวยการด้านเทคนิค เอดู คือคนที่ซาเนฮีพอใจอย่างมาก เพราะเขามองว่าตำแหน่งงานนี้ มันสำคัญอย่างยิ่งกับฟุตบอลสมัยใหม่
“เวลานั้นผู้อำนวยการกีฬา (Sporting Director) หรือผู้อำนวยการด้านเทคนิค (Technical Director) เป็นอะไรที่ใหม่มากในฟุตบอลอังกฤษ เอดู เข้ามาทำงานในส่วนสำคัญมากกับทีมชุดใหญ่ และต้องทำงานร่วมกับทีมเยาวชนไปจนถึงเขาต้องรู้เรื่องของตลาดการซื้อขายด้วยในเวลาเดียวกัน”
งานชิ้นแรกของเอดูในการทำงานที่อาร์เซนอล คือการมีส่วนในดีลของการเซ็นสัญญา กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ มาร่วมงานด้วยจากสโมสรอิตัวร์โน่ สโมสรระดับล่างของบราซิล ซึ่งแมวมองอาร์เซนอลติดตามดูฟอร์มนานถึง 4-6 เดือนด้วยกัน เครดิตนี้ต้องให้กับ ฟรานซิส คาจิเกา อดีตแมวมองของอาร์เซนอล ซึ่งเห็นศักยภาพของเด็กหนุ่มที่มีเชื้อสายอิตาเลี่ยนคนนี้ และสุดท้ายก็ได้เขามาร่วมงานกับอาร์เซนอลในที่สุดท่ามกลางการเซ็นสัญญานักเตะหน้าใหม่หลายคน โดยเฉพาะ นิโกล่าส์ เปเป้ ปีกค่าตัว 72 ล้านปอนด์ ที่ถูกคาดหวังสูงที่สุด แต่ผลงานกลับน่าผิดหวังมากที่สุด กับปัจจุบันที่ย้ายไปอยู่กับ นีซ ในแบบยืมตัว มาร์ติเนลลี่ กับค่าตัวประมาณ 6 ล้านปอนด์ ก้าวไปสู่ทีมชุดใหญ่ได้อย่างโดดเด่น จนถึงขั้นติดชาติบราซิลชุดใหญ่ไปเรียบร้อยแล้ว
“ผมไม่เคยเห็นด้วยเลยกับการที่สโมสรจะเรียก “เฮดโค้ช” ว่า “ผู้จัดการทีม” เฮดโค้ชสำหรับทีมชุดใหญ่นั่นล่ะคือตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว ทุกวันนี้งานในสนามก็มากพออยู่แล้ว ผมต้องการให้เขาสนใจแต่เรื่องในสนามเท่านั้น อะไรก็ตามที่จะทำให้เขาเสียสมาธิทั้งที่มันไม่ใช่ความรับผิดชอบของคุณ อย่างเช่นการเตรียมตัวการเดินทาง, สนามซ้อม, งบประมาณ อะไรก็ตามเราจะหาคนมาดูแล ส่วนโค้ชหน้าที่ของเขาคือเกมที่กำลังจะลงเล่น เขาต้องทำให้ทีมเป็นผู้ชนะกลับมาออกมา” นั่นคือแนวคิดของ ซาเนฮี ที่ต้องการเห็นอาร์เซนอลในแบบนี้
อาร์เซนอล “ควรจะ” เดินหน้าต่อไปได้ดีหลังการปรับโครงสร้างในรอบนี้ อย่างไรก็ตามฝ่ายบริหารที่ประกอบไปด้วย ราอูล ซาเนฮี [หัวหน้าทีมบริหารด้านฟุตบอล], เอดู กาสปาร์ [ผู้อำนวยการด้านเทคนิค], วิไน เวนกาเทสเซม [ผู้อำนวยการบริหาร], ฟรานซิส คาจิเกา [หัวหน้าแมวมอง] และ ฮุสส์ ฟาห์มี่ [ผู้ดูแลเรื่องการเงินและสัญญาของนักเตะ] โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งปีพวกเขาได้ผู้จัดการทีมเยาวชนคนใหม่ที่ชื่อว่า แพร์ แมร์เตซัคเกอร์ มาดูแลภาพรวมของทีมเยาวชนที่รู้จักกันในนาม Hale End Academy #MadeInHaleEnd
แต่ผลงานของอาร์เซนอลกลับมีปัญหา อูไน อเมรี่ ทำผลงานได้น่าผิดหวังพวกเขา 11 เกมสุดท้ายของอเมรี่ในพรีเมียร์ ลีก เขาพาทีมชนะเพียงสองเกม และฟางเส้นสุดท้ายมาขาดลงในความพ่ายแพ้ต่อไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต ในยูโรป้า ลีก และสุดท้ายทีมเลือกปลดเขาออกจากทีม บนการตัดสินใจซึ่ง ซาเนฮี และ เอดู ซึ่งรวมถึงการเฟ้นหาผู้จัดการทีมคนใหม่
“ตอนที่ อูไน อเมรี่ ออกจากทีมไป การตัดสินใจคัดเลือกโค้ชคนใหม่ เอดู ในฐานะของผู้อำนวยการด้านเทคนิคก็มีส่วนในกระบวนการค้นหาด้วยบนพื้นฐานที่ว่าเราต้องการคนที่เข้าใจปรัชญาของสโมสร และสามารถทำงานในระบบที่เราสร้างขึ้น สำหรับผมแล้วการได้ตัว มิเคล อาร์เตต้า มาร่วมงานด้วยกันเป็นอะไรที่สมบูรณ์แบบมากในทีมงานของเรา”
“ผมเหมือนเป็นผู้กำกับในวงออเคสตร้า คนในวงคือทรัพยากรชั้นยอดที่มีศักยภาพ แต่เราต้องควบคุมการทำงานในเวลาเดียวกันเพื่อให้เพลงที่บรรเลงออกมาเพราะ และทีมอาร์เซนอลตอนนั้นทุกอย่างยอดเยี่ยมมาก”
อาร์เซนอลในยุคของ มิเคล อาร์เตต้า เริ่มต้นอย่างกระท่อนกระแท่นมีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นทีมเข้าสู่โหมดของการ “รื้อระบบ ปรับเปลี่ยนทีม พร้อมกับฟื้นฟูจิตใจและปรับทัศนคติการทำงาน” (ซึ่งขั้นตอนในส่วนนี้ถึงวันนี้ก็ยังคงหลงเหลืออยู่บางส่วนในการจัดการ) แต่ก็เป็นอีกครั้งเมื่ออาร์เซนอลซึ่งกำลังอยู่ในช่วงพยายามฟื้นตัวกับผลการแข่งขันที่ย่ำแย่ทุกอย่างก็จำเป็นที่จะต้องหยุดชะงักลงด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ทุกการทำงานของทุกอาชีพต้องหยุดลงชั่วคราว และฟุตบอลคือหนึ่งในความบันเทิงที่จำเป็นต้องหยุดทันที จากการแพร่ระบาดที่ติดผ่านทางลมหายใจได้
พรีเมียร์ ลีก ใช้เวลานานถึง 3 เดือนในความพยายามที่สุดท้ายก็สามารถกลับมาแข่งขันต่อไปได้ในเดือนมิถุนายน 2020 ภายใต้โปรเจคต์ที่ชื่อว่า “Re-Start” ซึ่งลงแข่งขันในแบบไม่มีผู้ชมเข้าสนาม และสุดท้ายอาร์เซนอลจบฤดูกาลด้วยอันดับ 8 ในลีก แต่ได้แชมป์เอฟเอ คัพ ในวันสุดท้ายของการแข่งขันเป็นแชมป์สมัยที่ 14 ของสโมสร และทำให้พวกเขายังได้เล่นฟุตบอลยุโรปในปีหน้า
การได้แชมป์เอฟเอ คัพ เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมสำหรับทีม แต่สำหรับในแง่การเงินมันแทบไม่มีผลอะไรเลย เมื่อทีมไม่ได้เข้าสู่แชมเปี้ยนส์ ลีก อีกครั้ง และด้วยการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรง อาร์เซนอล กลายเป็นทีมแรกที่ประกาศการขอลดค่าแรงนักเตะภายในทีมรวมถึงทีมงาน 12.5 % ขณะที่ทีมบริหารรับเงินเพียง 25 % จากเงินเดือนปกติเป็นเวลา 12 เดือน และสุดท้ายพวกเขามีการตัดสินใจปลดพนักงานจำนวน 55 คนออกจากสโมสร หนึ่งในนั้นคือฟรานซิส คาจิเกา หัวหน้าแมวมองของทีม และทีมงานอีกหลายคนในส่วนนี้ ก่อนที่อีกเพียงไม่กี่วันต่อมา ในเดือนสิงหาคม 2020 ราอูล ซาเนฮี กลายเป็นคนที่ 56 ที่โดนให้ออกจากตำแหน่งของตนเองจากการแถลงอย่างเป็นทางการของ สแตน โครเอนเก้ และการออกของเขาทำให้ วิไน เวนกาเทสเซม ควบรวมตำแหน่งและอำนาจให้กลับมาอยู่ในตัวคนเดียวแบบที่ อิวาน กาซิดิส เคยได้รับมาก่อน ในฐานะของหัวผู้บริหารของสโมสรอาร์เซนอล
“ราอูลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญสำหรับอาร์เซนอลตลอดการทำงานของเขาที่นี่ และเขาจะเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรนี้เสมอ เราขอบคุณเขาสำหรับการทำงานหนัก และขอให้เขาโชคดี” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์จากโครเอนเก้ผ่านทางเว็บไซต์สโมสร
การโดนปลดแบบทันทีทันใดของซาเนฮี มาพร้อมกับข่าวลืออย่างมากในช่วงนั้น โดยเฉพาะเรื่องของข่าวการตรวจสอบภายในองค์กรเกี่ยวกับการซื้อขายหลายครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือดีล 72 ล้านปอนด์ของ นิโกล่าส์ เปเป้ จากลีลล์ ซึ่งแน่นอนว่าเขากลายเป็นดีลที่ล้มเหลวที่สุดครั้งหนึ่งของอาร์เซนอลเมื่อมองถึงจำนวนเงินที่ลงทุนไปกับเขา
รายละเอียดดีลของ เปเป้ มีความไม่ชัดเจนแม้กระทั่งในส่วนของสื่อมวลชนเองก็รายงานตัวเลขในช่วงนั้นไม่ตรงกันบ้างก็ว่า อาร์เซนอล จ่ายเงินก้อนแรกในวันที่ได้ตัวมาร่วมงานด้วย 10 ล้านปอนด์ บ้างก็ 20 ล้านปอนด์ แต่ที่รายงานตรงกันคือส่วนต่างที่เหลือไม่ว่าจะเท่าไรจะใช้วิธีการ “ผ่อนจ่าย” ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเท่ากับสัญญาที่นักเตะเซ็นสัญญากับอาร์เซนอลไว้ โดยเปเป้ เซ็นสัญญากับอาร์เซนอลจนถึงกลางปี 2024 ซึ่งในเรื่องนี้ อาร์เซนอล ไม่เคยพูดถึงอย่างเป็นทางการแม้แต่ครั้งเดียว ว่าสุดท้ายสโมสรมีการตรวจสอบในเรื่องนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ณ เวลานั้น การออกจากตำแหน่งของซาเนฮี มีข่าวเล็ก ๆ ออกมาหนึ่งข่าวก่อนหน้านั้นเพียงหนึ่งเดือน กับการที่ โครเอนเก้ ประกาศแต่งตั้ง ทิม ลูอิส เข้ามาเป็นผู้บริหารคนหนึ่งในสโมสรแบบไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ (Non-Executive) และมาดูแลเรื่องของกฎหมายต่าง ๆ ก่อนที่สุดท้าย ซาเนฮี จะโดนปลดออกจากตำแหน่ง ขณะที่อีกสองเดือนต่อมา ฮุสส์ ฟาห์มี่ ซึ่งทำงานกับทีมตั้งแต่ปี 2017 ก็ตัดสินใจลาออกไปอีกคน และปัจจุบันหากแฟนบอลที่เคยชม “All or Notihng” สารคดีของอาร์เซนอลที่ฉายผ่านทาง Amazon Prime Video จะเห็นได้ว่า ลูอิส เหมือนเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญของมิเคล อาร์เตต้า และ เอดู รวมถึงเป็น “สายตรง” กับครอบครัวโครเอนเก้ เพราะเขาคือทนายความมือดีของสแตน โครเอนเก้ มาอย่างยาวนานในการจัดการเรื่องวุ่นวายด้านกฎหมายที่เกิดขึ้นในอังกฤษของโครเอนเก้ และครอบครัว
ตามรายงานจาก อีเอสพีเอ็น กล่าวอ้างถึงแหล่งข่าวว่า ซาเนฮี ถูกตัดสินปลดออกจากตำแหน่งด้วยเหตุจากการที่ก่อความผิดพลาดหลายต่อหลายครั้งในการซื้อขายที่ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น และเรื่องนี้กล่าวถึงความสนิทสนมกับเอเยนต์นักเตะแบบเกินพอดี และเรื่องนี้เกี่ยวกับการออกจากทีมไปของ สเวน มิสลินสตัด โดยตรงในปี 2019 โดย “แมวมองตาเพชร” ระบุเอาไว้ถึงสาเหตุการออกจากงานที่ลอนดอนซึ่งทำได้เพียง 14 เดือนเอาไว้ดังนี้
“เรามีแนวคิดการทำงานที่ต่างกัน ก่อนหน้านี้เรามีระบบการทำงานในการซื้อขายที่เป็นระบบ มีข้อมูลนักเตะที่มีคุณภาพทั้งแบบข้อมูลและวิดีโอวิเคราะห์ ซึ่งอาร์เซนอลเป็นเจ้าของเองทั้งหมด และนั่นทำให้เรามีโอกาสทำอะไรกับข้อมูลได้เยอะมากเอามาใช้ในตลาดการซื้อขายได้ในทุกตำแหน่งในทีม อย่างไรก็ตามเขามองถึงเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสโมสร หรือเอเยนต์ภายใต้เครือข่ายของเขาเองมากกว่า” สเวน มิสลินสตัด กล่าว
ในแง่ของของ “ซาเนฮี” กับเหตุผลของการออกจากตำแหน่งของตนเองสัมภาษณ์ผ่าน ดิ แอตเลติก
สิงหาคม 2020 – กันยายน 2022 เป็นช่วงเวลาที่ ซาเนฮี ไม่ออกมาพูดอะไรเลยจนวันนี้ที่เขามาพูดถึงในเรื่องการลาออกของตนเอง โดยที่ไม่มีการกล่าวถึงเคสของเปเป้ รวมถึงการซื้อขายต่าง ๆ ที่ ณ เวลาที่โดนปลดออกจากทีม และการสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่เขารับงานกับ เรอัล ซาราโกซ่า แล้ว
“ก่อนอื่นเลยผมไม่ได้คิดว่าตัวเองโดนหักหลังอะไรจากโครเอนเก้ พวกเขามีธุรกิจด้านกีฬาอย่างประเภท (โครเอนเก้ มีธุรกิจที่เป็น “อเมริกันเกมส์” ครบทั้งหมด ยังไม่รวมถึงธุรกิจนอกเหนือจากกีฬาอีกหลายอย่าง และไม่รวมธุรกิจของ แอน วอลตัน ภรรยา ซึ่งเป็นทายาทของกลุ่ม “วอลมาร์ท”) การระบาดของโควิด-19 กระทบทั้งหมดของธุรกิจเขา เกมไม่ได้มีการแข่งขัน แต่การจ่ายเงินเดือนยังคงต้องมีต่อไป ไม่สามารถได้รายได้การถ่ายทอดสด พวกเขาก็ต้องเริ่มวิตกกังวล ซึ่งเป็นการวิตกกังวลที่เข้าใจได้ โลกมีวิกฤตโรคระบาดอย่างรุนแรง แต่คุณรู้ไหม ผมมั่นใจว่าถ้าไม่มีโควิด-19 ผมจะได้อยู่กับอาร์เซนอลต่อไป เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผมกับพวกเขายอดเยี่ยมมาก”
“การทำงานร่วมกันระหว่าง ผม – มิเคล อาร์เตต้า – เอดู – ฮุสส์ ฟาห์มี่ และ แพร์ แมร์เตซัคเกอร์ สำหรับผมมันคือดรีมทีมเลยล่ะ แต่พอเกิดโควิด-19 จนต้องเบรกการแข่งขันในเดือนมีนาคม 2020 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป และผมต้องออกจากทีม เรื่องมันก็มีเท่านั้น ทุกวันนี้พวกเขากลับมาใช้ระบบผู้จัดการทีมอีกครั้ง นั่นคือเรื่องที่ผิดพลาดสำหรับผม แต่นั่นก็เป็นเรื่องของพวกเขาแล้วล่ะ”
การออกจากตำแหน่งของซาเนฮี กลายเป็นเรื่องใหญ่หลังบ้านของอาร์เซนอลไม่น้อย เอดู ถูกดันขึ้นมารับผิดชอบงานในส่วนของ ซาเนฮี เป็นการชั่วคราวและสุดท้ายก็กลายเป็นถาวร พวกเขาเสีย ฟาห์มี่ ไปและได้ ทิม ลูอิส มาร่วมงานแทน สถานการณ์ในสนามของพวกเขาสุดย่ำแย่ในฤดูกาล 2020-2021 อาร์เตต้า เคยสร้างสถิติไม่น่าจดจำกับการไม่ชนะใคร 7 เกมติดต่อกัน [เสมอ 2 แพ้ 5] ในพรีเมียร์ ลีก ท่ามกลางเก้าอี้ร้อนที่ทีมยังคงเลือกมั่นใจในตัวของเขาแม้จะจบด้วยการได้อันดับ 8 และคราวนี้ไม่มีฟุตบอลยุโรปให้ลงเล่นอีกต่อไป
2021-2022 อีกหนึ่งฤดูกาลที่แชมเปี้ยนส์ ลีก ยังคงเป็นแค่ความฝัน และมันดูห่างไกลออกไปทุกที จอร์จ โครเอนเก้ บุตรชายของสแตน โครเอนเก้ ที่เข้ามาเป็นบอร์ดบริหารของสโมสรในแบบไม่มีอำนาจใดตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ก้าวขึ้นมาสู่ทีมแบบเต็มตัว หลังจากที่ศึกษางานและมีส่วนกับทีมมากขึ้นมาตลอด 7 ปี เขาเลือกลงมาทำงานร่วมกับ อาร์เตต้า ที่ถูกปรับตำแหน่งจาก “เฮดโค้ช” กลายมาเป็น “ผู้จัดการทีม” ดังเดิมโดยมีหน้าที่ในส่วนของการช่วยเหลือเอดูในการซื้อขายนักเตะ ซึ่งมีการตัดสินใจร่วมกัน โดยมี ทิม ลูอิส และ วิไน เวนกาเทสเซม คือสองผู้บริหาร และทีมงานที่คอยช่วยเหลือในส่วนต่าง ๆ ในการผลักดันทีมภายใต้แนวคิดใหม่ในชื่อเดิมที่ว่า “Trust The Process” ซึ่งเป็นคำพูดที่ อาร์แซน เวนเกอร์ เคยพูดไว้เมื่อหลายปีก่อนในการทำงาน เวนเกอร์ กลายเป็นบุคคลสำคัญของสโมสรอีกครั้งในแบบเขาไม่ได้กลับมาที่สโมสรเลยนับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา
อาร์เซนอล เริ่มต้นฤดูกาล 2021-2022 ด้วยแนวคิดการสร้างทีมด้วยนักเตะอายุน้อย มีความสามารถที่น่าสนใจ มีประสบการณ์ระดับลีกสูงสุดมาพอสมควร หรือหากมีประสบการณ์ในทีมชาติด้วยก็ยิ่งดีที่สำคัญต้องเข้ากับปรัชญาการทำทีมของอาร์เตต้า โดยพวกเขามีการนำแนวคิดของอาร์แซน เวนเกอร์ ผู้ซึ่งเคยเป็นโค้ชของทั้ง เอดู และ อาร์เตต้า เข้ามาปรับใช้ให้เข้ากับยุคสมัย ทีมเริ่มต้นตั้งแต่การสร้างความสัมพันธ์กับแฟนบอลใหม่หมด ทุกการประชาสัมพันธ์ ทุกการสัมภาษณ์การพูดถึงแฟนบอลเป็นส่วนหนึ่งที่จะถูกกล่าวถึงอยู่เสมอในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างพลังของนักเตะหมายเลข 12 ให้กลับมาสู่ทีม การปรับเปลี่ยนการตกแต่งภายในสนามซ้อม และสนามแข่งทั้งหมด ที่เต็มไปด้วยข้อความที่มีแรงกระตุ้น การให้กำลังใจ ไปจนถึงมองหาแรงบันดาลใจใหม่ภายใต้รูปลักษณ์ใหม่ และแน่นอนการลงทุนที่มากขึ้นจากครอบครัวโครเอนเก้ นำโดย จอช โครเอนเก้ เป็นหนึ่งในคนสำคัญของแผนงานนี้
อาร์เซนอลจบฤดูกาล 2021-2022 พวกเขายังคงรอคอยการไปแชมเปี้ยนส์ ลีก อีกหนึ่งฤดูกาล พวกเขาตามหลังหนึ่งคะแนนจากพื้นที่แชมเปี้ยนส์ ลีก ในวันสุดท้ายของฤดูกาล แต่การทำงานในแนวคิดเดิมยังคงเดินหน้าต่อไป พร้อมการเสริมทัพใหญ่อีกครั้งในฤดูกาล 2022-2023 ที่กำลังอยู่ในเส้นทางแห่งการแข่งขัน
ราอูล ซาเนฮี กำลังมีความสุขกับการทำงานที่ เรอัล ซาราโกซ่า ที่มีกลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสร พร้อมกับเงินทุนพอสมควรเพื่อเป้าหมายในการพาทีมสู่ ลาลีกา ให้จงได้ ภายใต้การคุมทีมของ ฆวน คาร์ลอส คาเซโด้ ผู้ซึ่งเข้ามารับงานคุมทีมในฤดูกาลนี้ หลังจากอยู่ภายใต้ร่มเงาของอูไน อเมรี่ ในฐานะมือขวามานานหลายปี และแน่นอน คาร์เซโด้ คือคนที่ ราอูล ซาเนฮี เลือกเข้ามาด้วยตนเองในงานนี้
จบบริบูรณ์