“สิงโตน้ำเงินคราม” เชลซี หนึ่งในสโมสรที่ได้ชื่อว่า เป็นหนึ่งในสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของ วงการฟุตบอลอังกฤษ ยุคปัจจุบัน และเป็นสัญลักษณ์ของจุดเริ่มต้นของ ระบบ ทุนนิยม ในวงการฟุตบอลอังกฤษ หลังการเข้ามาของ โรมัน อบราโมวิช เข้ามาซื้อกิจการของสโมสรในปี 2003 และเปลี่ยนให้ เชลซี ที่กลายเป็นทีมลุ้นแชมป์ กลายเป็นแชมป์พรีเมียร์ ลีก ได้ในเวลาเพียงสองปี หลังการเข้ามาของ “เสี่ยหมี” และเงินของเขาที่มากมายจนทำให้ต่อมา นักธุรกิจ มากมายเลือกเข้ามาลงทุนในธุรกิจนี้ และก็มีหลายคนที่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่อีกหลายคนก็ล้มเหลว กับการลงทุนแบบเจ็บปวดใจ
อย่างไรก็ตาม เชลซี แม้จะซื้อ นักเตะ ระดับโลกเข้าทีมมาหลายสิบคน สิ่งที่พวกเขาพยายามมาตลอดก็คือ การพัฒนาระบบเยาวชนของทีม ก่อนหน้าที่จะมีการเข้ามาของ อบราโมวิช พวกเขาเคยมีความสุขกับการเห็น จอห์น เทอร์รี่ ก้าวขึ้นมาจากทีมเยาวชน และสุดท้ายรับปลอกแขนกัปตันทีม หรือย้อนกลับไปกว่านั้น โจดี้ มอร์ริส กองกลางดาวรุ่งอีกคน ก็คือความภาคภูมิใจของทีม ก่อนที่จะหายไปด้วยการลงเงินมหาศาล เสกความสำเร็จแบบทันใจ ของมหาเศรษฐีชาวรัสเซีย
นีล บาธ แฟนบอลเชลซีมาตั้งแต่วัยเยาว์ และทำตามความฝันในการเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรแห่งนี้ แม้ว่าจะไม่ได้กลายเป็น นักเตะ ของทีม แต่เขาก็ทำงานเป็นหนึ่งของทีมงานโค้ช พัฒนาเยาวชนของสโมสร มาตั้งแต่ปี 2004 ได้เห็นการย้ายสนามซ้อมของทีมจากในย่าน ฮาร์ลิงตัน มาอยู่ที่ คอปแฮม จนถึงทุกวันนี้ โดย บาธ เคยทำงานกับเชลซีในฐานะ นักเรียน ทำงานพิเศษกับเชลซี มาตั้งแต่ปี 1992
เชลซี อาจจะเร่งซื้อความสำเร็จ แต่สำหรับระบบเยาวชนของพวกเขาก็มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และ พวกเขามีปรารถนาในการที่จะนำ นักเตะ เยาวชนฝีเท้าดี จากในอังกฤษ และในอีกหลายทวีปในโลก เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม เพื่ออนาคต เด็กเหล่านี้ อาจเป็นกำลังสำคัญของทีมก็เป็นได้
เชลซี ในระดับเยาวชนจัดว่าเป็นสโมสรที่มีความสำเร็จ มากที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป พวกเขาได้แชมป์ เอฟเอ คัพ ระดับเยาวชน หรือที่ชื่อว่า เอฟเอ ยูธ คัพ มากถึง 6 สมัย นับจากปี 2012 เป็นต้นมา รวมถึงคว้าแชมป์ ยูฟ่า ยูธ ลีก สองครั้งในปี 2015 และ 2016 อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักของสโมสร ไม่ใช่การได้แชมป์มากมายในระดับเยาวชน แต่มันคือการเห็น นักเตะ เยาวชน ดีพอจะได้รับโอกาสในการลงเล่นในระดับชุดใหญ่
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อเมื่อ การพัฒนาระบบเยาวชน ถูกเบียดบังด้วยเงินตรา ที่ต้องการความสำเร็จแบบกึ่งสำเร็จรูป สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำให้ การพัฒนาระบบเยาวชนของ เชลซี กลับมาอีกครั้ง ก็คือเรื่องเกี่ยวกับ การเงินอีกเช่นกัน แม้จะต้องรอคอยยาวนานถึง 15 ปีก็ตาม
ในปี 2018 เชลซี ถูกยูฟ่า ลงดาบหนักในการสั่งแบนพวกเขาออกจากการซื้อขายสองรอบติดต่อกัน หลังละเมิดกฎระเบียบฟีฟ่าในการทำสัญญากับ นักเตะ เยาวชนอายุต่ำกว่าเกณฑ์ โดยผลการแบนจะมีผลถึงตลาดเดือนมกราคม 2020 (สุดท้าย เชลซี อุทรณ์โทษลดลงเหลือเพียงตลาดการซื้อขายรอบเดือนสิงหาคม 2019 เท่านั้นที่โดนแบน) พร้อมค่าปรับอีก 460,000 ปอนด์ รวมถึงสั่งปรับ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ หรือ เอฟเอ 390,000 ปอนด์ อย่างไรก็ตาม แต่โทษแบนไม่รวมถึงการห้ามปล่อยตัวนักเตะ และทีมฟุตบอลหญิงของสโมสร
ทั้งนี้ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เชลซี ทำผิดกฎซื้อ นักเตะ จำนวน 14 คน ซึ่งอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่ฟีฟ่ากำหนด โดยที่เป็นข่าวอื้อฉาวมากที่สุดก็คือ การเซ็นสัญญากับ เบอร์ทรานด์ ตราโอเร่ นักเตะ ดาวรุ่ง ทีมชาติบูร์กินาฟาโซ ที่ถูกปล่อยตัวไปให้โอลิมปิก ลียง เมื่อปี 2017 ซึ่งเชื่อกันว่า เชลซีเซ็นสัญญาตราโอเร่ ก่อนถึงวันเกิดอายุครบ 18 ปี และมอบข้อมูลให้กับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ ที่ทำให้เข้าใจผิดในเรื่องระยะเวลาที่การเซ็นสัญญาเกิดขึ้น โดยปัจจุบัน ตราโอเร่ ลงเล่นกับ แอสตัน วิลล่า
การโดนแบนครั้งนั้น ส่งผลค่อนข้างเยอะ สำหรับทีมที่เน้นการเสริมทีมด้วยการ “ทุ่มเงิน” เป็นหลัก แต่ก็เหมือนจะมีโชคไม่น้อย เมื่อพวกเขาแยกทางกับ เมาริซิโอ ซาร์รี่ นายใหญ่ชาวอิตาเลียน ที่แม้จะพาทีมคว้าแชมป์ ยูโรป้า ลีก ได้สำเร็จ แต่ผลงานก็ไม่น่าพอใจอยู่ดี และกลายเป็นแฟรงค์ แลมพาร์ต ที่เข้ามารับงานแทน พร้อมกับโปรเจคต์การดัน นักเตะ เยาวชน ขึ้นสู่ทีมหลายคนด้วยกัน
“การขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ของ นักเตะ เยาวชนเชลซี เหมือนกับรางวัลชิ้นใหญ่สำหรับเรา ตอบแทน 15 ปี ที่เราทำงานหนัก นับจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทีมเยาวชน เราไม่ได้อยากได้แชมป์ระดับเยาวชน แต่เราอยากได้ใครสักคนที่เติบโตกับเรา และขึ้นไปเล่นกับทีมชุดใหญ่ของสโมสรให้ได้”
“ก่อนหน้านี้เรามีความสุขที่ได้เห็น รูเบน ลอฟตัส-ชีค ขึ้นมาสู่ทีมชุดใหญ่ ได้เห็น อันเดรียส คริสเตนเซ่น ที่ใช้เวลาช่วงหนึ่งปีกับทีมเยาวชน มาเป็น นักเตะ หลักของทีม และลงเล่นกับทีมชาติเดนมาร์กชุดใหญ่ได้สำเร็จ แต่มาวันนี้ เราเห็น นักเตะ ดาวรุ่งของเราขึ้นมามากมาย ทั้ง รีส เจมส์, เมสัน เม้าท์, แทมมี่ อับราฮัม, คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย, ฟิคาโย่ โทโมริ หรือว่า บิลลี่ กิลมัวร์ และบางคนติดทีมชาติอังกฤษชุดใหญ่แล้ว” บาธ กล่าวอย่างพอใจกับความสำเร็จของทีมเยาวชนเชลซี
“นักเตะของเราส่วนมากจะอยู่กับเรามานานนับ 10 ปี หรือมากกว่านั้น พวกเขามาลงซ้อมด้วยกัน 5-6 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ดังนั้นพวกเขาจึงสนิทกันมาก รวมถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย ซึ่งนักเตะ ผู้ปกครอง มาจนถึงทีมงาน วันนี้เราพอใจกับสิ่งที่เราเดินทางร่วมกันมายาวนานมาก”
“แม้ปีนี้จะมีการเสริมทีมกันมากมาย หลังจากทีมพ้นโทษแบนแล้ว แต่ นักเตะ เยาวชนของพวกเราเกือบทั้งหมด ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของทีม และเราจะไม่หยุดยั้งมาตรฐานของเรา และเราต้องทำงานหนักต่อไป เพื่อให้ระบบเยาวชนของเชลซี คือระบบเยาวชนที่ดีที่สุดในโลกให้ได้”
“เชลซี คือสโมสรที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในการสร้าง นักเตะที่เก่งเพียงอย่างเดียว แต่เราคือทีมที่ต้องการสร้าง คนหนึ่งคน ผ่านวัฒนธรรมขององค์กรที่ดีงาม แต่ก่อนประสบความสำเร็จ “จิตใจที่ต่อสู้” คือหัวใจสำคัญของการประสบความสำเร็จ และไม่ย่อท้อต่อสิ่งใด”
“เมื่อคุณมีวัฒนธรรม และแนวคิดที่ตรงกัน มันก็ง่ายมากกว่าเดิมในการที่ทำงานร่วมกันเป็นทีม ทีมที่ต้องการประสบความสำเร็จอีกครั้ง”