กลายเป็นทีมแรกที่บอกลา พรีเมียร์ ลีก อย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับ “ดาบคู่” เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ซึ่งกลับมาเล่นในลีกสูงสุด เป็นฤดูกาลที่สอง แต่ก็เจอ “Second Syndrome” เล่นงานเข้าให้อีกหนึ่งทีม
“Second Syndrome” มักเกิดขึ้นได้กับหลายวงการ อย่างวงการดนตรี ก็มักจะพูดว่า อัลบั้มสอง หรือ ซิงเกิ้ลที่สอง มักไม่ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ฤดูกาลแรกจบอันดับ 9 ด้วยฟอร์มที่ฆ่าได้ทุกทีม มาวันนี้พวกเขาตกชั้น อันดับ 20 ที่พวกเขาจองยาวมาตั้งแต่ต้นฤดูกาล
32 เกม ชนะ 4 เสมอ 2 แพ้ 26 ได้ 14 คะแนน ในขณะที่เหลือ 6 เกมสุดท้าย พวกเขาอาจจบฤดูกาลนี้ ด้วยการเป็นอันดับบ๊วยของลีก ค่อนข้างสูง ส่วนที่เหลืออยู่อย่าง เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน, ฟูแล่ม หรืออาจรวมถึง นิวคาสเซิ่ล และ ไบร์ทตัน ก็ยังคงต้องดิ้นรนกันทุกเกมเพื่อให้สุดท้าย สถานะพรีเมียร์ ลีก อันหมายถึง เงินสนับสนุนจำนวนหลายสิบล้านปอนด์ จะเข้ามายังสโมสรแน่นอน เงินจำนวนนี้ สามารถทำให้พวกเขาหายใจคล่องคอได้อีกมาก ยิ่งในสถานการณ์เศรษฐกิจ ยุคโควิด-19 ด้วยแล้ว มันยิ่งกว่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า สำหรับสโมสร ขนาดเล็กที่ก้าวมาเป็นหางแถวของลีกใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
หากมองกันโดยทั่วไปแล้ว เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ก็เหมือนกับทีมที่ฟอร์มห่วย และตกชั้นไปตามผลงาน แต่แท้จริงแล้ว มันมีอะไรที่มากกว่านั้น เพราะตลอด 2 ฤดูกาลของพวกเขา มีเรื่องเปลี่ยนแปลงหลายเรื่องที่ หลายคนอาจไม่ทราบ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “เจ้าของสโมสร”
ในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากเรื่องของ โควิด-19 แล้ว เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด มีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า “หักเหลี่ยม” กันภายในสโมสร ระหว่างผู้ถือหุ้นใหญ่ของสโมสร อันได้แก่ เควิน แมคคาบี้ และ เจ้าชาย อับดุลลาห์ หนึ่งในสมาชิกราชวงศ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
โดยต้องย้อนไปเมื่อปี 2013 แมคคาบี้ ได้มีการติดต่อ เจ้าชายอับดุลลาห์ เข้ามาร่วมทุน โดยยื่นข้อเสนอด้วยหุ้นจำนวน 50 % แลกกับเงินจำนวน 10 ล้านปอนด์ โดยมีการตกลงกันว่า ถ้าเจ้าชายอับดุลลาห์ สามารถถือหุ้นมาได้ 75 % ของสโมสร เขาจะได้สิทธิ์ซื้อสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็น สนามแข่งขัน, ระบบเยาวชน และอื่น ๆ มูลค่ารวมสูงสุดอยู่ที่ 50 ล้านปอนด์ มาจาก เควิน แมคคาบี้ ทั้งหมด
ณ.เวลานั้น เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ยังอยู่ในระดับ ลีก วัน ทุกอย่างก็น่าจะไปได้สวย เมื่อ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด หลังการเข้ามาเทคโอเวอร์ 3 ปี พวกเขาเลื่อนชั้นมาเล่นใน เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ได้สำเร็จ ก่อนที่จะใช้เวลาอีกสองฤดูกาล เลื่อนมาเล่นในลีกสูงสุด ที่พวกเขาห่างหายมาตั้งแต่ปี 1994 ได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตามในช่วงเวลา 6 ปี ก่อนการขึ้นมาสู่ลีกสูงสุด พวกเขาสองคนกลับทำงานร่วมกันไม่ค่อยจะราบรื่นนัก จนกระทั่งในเดือนธันวาคม ปี 2017 เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ทีมระดับเดอะ แชมเปี้ยนชิพ แมคคาร์บี้ ได้ทำการขอซื้อหุ้นจำนวน 50 % คืนจากเจ้าชายอับดุลลาห์ ด้วยจำนวนเงิน 5 ล้านปอนด์ ผ่านทางการยื่นแจ้งเตือนทางเอกสาร (Serves Notice) อย่างไรก็ตามวันต่อมา เจ้าชายอับดุลลาห์ ส่งเอกสารแจ้งเตือน (Serves counter-notice) ไปยัง แมคคาร์บี้ โดยระบุว่า เขาไม่ได้คิดจะขายหุ้น และพร้อมที่จะทำการเพิ่มหุ้นด้วยการซื้อหุ้นให้เท่ากับ หรือมากกว่า 75 % ของสโมสร ผ่านการตั้งบริษัทใหม่เข้ามาถือหุ้นในส่วนนี้
แน่นอนเมื่อความเห็นไม่ตรงกันขั้นรุนแรง การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยศาลก็เกิดขึ้น และใช้เวลายาวนานถึง 2 ปี 1 เดือน ศาลได้ทำการพิจารณาจาก เอกสารทั้งหมด ตัดสินให้ เจ้าชายอับดุลลาห์ ชนะในเรื่องนี้ โดย แมคคาร์บี้ ถูกบังคับขายหุ้นจำนวน 50 % ที่เหลือ ด้วยจำนวนเงิน 5 ล้านปอนด์ ให้กับ เจ้าชาย อับดุลลาห์ โดยอ้างอิงจากเอกสาร Serve Notice ในปี 2017 ที่ แมคคารบี้ ขอซื้อหุ้นจาก เจ้าชายอับดุลลาห์ ในราคา 5 ล้านปอนด์ และเจ้าชายมีการส่งเอกสารแจ้งเตือน (Serves counter-notice) อันเป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์พันธะผูกพันที่เรียกกันว่า “Roulette Notice” ทำให้ราคาของมูลค่าหุ้นของ แมคคาร์บี้ ที่ต้องการเงิน 5 ล้านปอนด์ กลายเป็น ราคาทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันโดยปริยาย แม้ว่า สโมสรจะขึ้นชั้นมาเล่นใน พรีเมียร์ ลีก และมีมูลค่ามากขึ้นหลายเท่าตัวก็ตาม อย่างไรก็ตาม เจ้าชายอับดุลลาห์ ยังคงต้องทำตามเงื่อนไขข้อตกลงเดิมในการซื้อสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็น สนามแข่งขัน, ระบบเยาวชน และอื่น ๆ มูลค่ารวมสูงสุดอยู่ที่ 50 ล้านปอนด์ มาจาก เควิน แมคคาบี้ ทั้งหมดอยู่เช่นเดิม โดยทั้งหมดจะกลายเป็นทรัพย์สินของสโมสร เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ดนั่นเอง
เรื่องเจ้าของสโมสรยุติลงอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมกราคม 2020 หลังจากที่ เควิน แมคคาร์บี้ ไม่ยื่นอุทรณ์ในเรื่องนี้ เจ้าชาย อับดุลลาห์ จึงเป็นผู้ถือครองสโมสรนี้แบบเต็มตัว ปัจจุบันเขาได้แต่งตั้ง เจ้าชาย มูซาอัด บิน คาลิด อัล ซาอุด ลูกเขยของเขาเองขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานสโมสร เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ส่วนตัวเขาถือครอง และเป็นผู้บริหารอยู่เบื้องหลัง
เจ้าชาย อับดุลลาห์ ไม่ใช่เพียงแต่เป็นเจ้าชายเพียงอย่างเดียว แต่เขายังคงเป็นนักธุรกิจคนหนึ่งด้วย และในธุรกิจของวงการฟุตบอล เขาเคยผ่านงานเป็นประธานสโมสร อัล-ฮิลาล สโมสรใน ซาอุดิอาระเบียมาแล้ว ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก่อนที่จะมาเป็นเจ้าของ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด และตอนนี้ขายังคงเป็นเจ้าของสโมสร หรือหุ้นส่วนกับสโมสรในประเทศ เบลเยี่ยม และ อินเดีย อีกด้วย
ฤดูกาล 2020-2021 การระบาดของไวรัสโควิด – 19 ส่งผลหลายเรื่องกับทุกสโมสร แน่นอน เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด เองก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีการเสริมทัพมากถึง 8 คนในตลาดรอบแรกของฤดูกาล แต่ผลงานกลับย่ำแย่ และสุดท้ายพวกเขาก็ถึงการต้องตกชั้นในที่สุด อย่างไรก็ตาม เจ้าชาย อับดุลลาห์ ก็ชัดเจนกับการไม่ยี่หระในการตกชั้นครั้งนี้ และแผนงานของเขากลับชัดเจนในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปลด คริส ไวลด์เดอร์ ที่ทำงานร่วมกันมายาวนาน แต่ไม่สามารถพาทีมรอดตกชั้นได้ เช่นเดียวกับการแต่งตั้ง พอล เฮคกิ้งบอทท่อม ซึ่งเป็นโค้ชทีมอายุต่ำกว่า 23 ปี เข้ามารับงานแทนชั่วคราว เพื่อรอการแต่งตั้งโค้ชใหม่เพื่อสู้ศึก เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ต่อไป
แน่นอนว่าการตกชั้นในครั้งนี้ จะส่งผลหลายเรื่องกับทีม โดยเฉพาะกับรายได้ที่ลดลง ทั้งเรื่องของ ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ไปจนถึงเหล่าผู้สนับสนุนของสโมสร และการเปลี่ยนแปลงก็น่าจะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอน ตั้งแต่โค้ช รวมถึง นักเตะ ซึ่งในส่วนของ นักเตะนั้น นักเตะหลายคนของพวกเขา น่าจะได้ย้ายออกไปไม่ว่าจะเป็น จอห์น ลุนสตราม, ซานเดอร์ เบิร์ก, เอนด้า สตีเว่นส์ ไปจนถึงกองหน้าอย่าง เดวิด แมคโกรดิก เป็นต้น แต่ก็เช่นเดียวกันที่ว่า พวกเขาเองก็ไม่ใช่ไม่เคยตกชั้น และพวกเขาก็รู้เต็มอกว่า หากปีหน้าพวกเขาสามารถรักษานักเตะแกนหลักบางส่วนเอาไว้ได้ และเติมผู้เล่นใหม่ที่เข้ากับระบบของ โค้ชใหม่ พวกเขาก็มีสิทธิ์กลับมาสู่ พรีเมียร์ ลีก ได้ในเวลาปีเดียว แบบที่ นอริช ซิตี้ ทำได้สำเร็จในปีนี้
การเข้ามาของเจ้าชาย อับดุลลาห์ ในฐานะเจ้าของสโมสรแบบเบ็ดเสร็จ เริ่มต้นด้วยความยากลำบาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเส้นทางที่ยากลำบากเสียทีเดียวเช่นเดียวกัน