เป็นอันว่าฤดูกาล 2020-2021 ไม่มีอะไรให้ลุ้นกันอีกแล้ว นอกจากพื้นที่ฟุตบอลยุโรป หลังความพ่ายแพ้ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ส่งให้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ “เพื่อนบ้านที่น่ารำคาญ” ร่วมเมืองของพวกเขา เถลิงแชมป์พรีเมียร์ ลีก เป็นสมัยที่ 5 ในรอบ 10 ปีหลังสุด โดยสิบปีหลังสุด มีทีมที่ได้แชมป์ลีกเพียง 4 ทีมคือ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ (5), เชลซี (2), เลสเตอร์ ซิตี้, (1) แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (1) และลิเวอร์พูล (1) เรียกว่านี่คือ ยุครุ่งเรืองของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นดอกผลจากการลงทุนมาอย่างยาวนานของกลุ่มทุนอาบู ดาบี ที่เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรในปี 2008 เปลี่ยนจากทีมที่เคยตกชั้นไปจนถึงลีกวันมาแล้ว กลายมาเป็น แชมป์ ลีกสูงสุด ถึง 5 ครั้งในรอบ 10 ปีหลังสุดเช่นนี้
ในสัปดาห์เดียวกัน “สงครามหนีตกชั้น” ก็สิ้นสุดลงแล้ว พร้อมกับการจากไปของอีกสองสโมสร ในสัปดาห์เดียวกัน เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน และ ฟูแล่ม สองน้องใหม่ที่เพิ่งเลื่อนชั้นมา ตามหลัง เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ที่ฟอร์มย่ำแย่มาทั้งฤดูกาล ลงไปเล่นใน เดอะ แชมเปี้ยนชิพ ในฤดูกาลหน้าเรียบร้อย
ในส่วนของ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ต้องบอกว่าอาการไม่สู้ดีมาตั้งแต่ต้นฤดูกาลแล้ว สลาเวน บิลิช นายใหญ่ที่พาทีมเลื่อนชั้นขึ้นมา ไม่สามารถรักษาเก้าอี้ของตนเองได้ข้ามปี 2020 ก็ต้องอำลาทีมไป พวกเขาเลือก แซม อัลลาไดซ์ ที่มีประสบการณ์ในการคุมทีมหนีตายมานักต่อนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พวกเขาไม่ดีขึ้น
22 เกมในพรีเมียร์ ลีก ของ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ในยุคของ “บิ๊กแซม” ครึ่งหนึ่งจบด้วยความพ่ายแพ้ พร้อมจบด้วยชัยชนะเพียง 4 เกมเท่านั้น ที่สำคัญในตลาดการซื้อขายรอบเดือนมกราคม 2021 อัลลาไดซ์ เรียกร้องให้มีการเสริมทีมเข้ามาช่วยในการเอาตัวรอด แต่สุดท้ายแล้ว โรเบิร์ต สนอตตกราสส์, โอคาย โยโคสลู และ ไอน์สลีย์ เมดแลนด์-ไนลส์ ไม่สามารถช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก โดยในรายของ สนอตตกราสส์ หลุดจากทีมไปในช่วง 5 เกมสุดท้ายก่อนตกชั้น ดูทรงทีมแล้ว การตกชั้นครั้งนี้ พวกเขาคงได้มีการรื้อทีมกันหลายส่วนเลยทีเดียว รวมถึงตัวผู้จัดการทีมก็อาจเป็นหนึ่งในนั้นด้วยเช่นกัน
สำหรับ ฟูแล่ม 4 ฤดูกาลที่ผ่านมาชีวิตของพวกเขาเป็น “ลูกดิ่ง” ก็ไม่ปาน เพราะพวกเขาขึ้นลงมาสองรอบติดต่อกัน
การตกชั้นในฤดูกาล 2020-2021 ของฟูแล่ม เป็นการตกชั้นที่แตกต่างหลายอย่างจากในปี 2018-2019 อยู่พอสมควร ตั้งแต่ในส่วนของการลงทุน ซาอิด ข่าน เจ้าของสโมสรชาวปากีสถาน มีการปรับแนวทางการลงทุน จากเดิมที่ขึ้นชั้นมาครั้งก่อน พวกเขาลงทุนมากกว่า 100 ล้านปอนด์ กับ นักเตะ 19 คนเข้าร่วมทีม (13 ซื้อขาด 6 ยืมตัว) แต่สุดท้ายแล้วพวกเขาจบลงด้วยการตกชั้น และมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการทีมสามคน ด้วยกัน
การตกชั้นครั้งนั้นส่งผลอย่างยิ่งกับสถานการณ์ทั้งการเงิน และการบริหารจัดการผู้เล่นภายในทีมที่เสียผู้เล่นออกจากทีมไปมากถึง 28 คน ด้วยกัน ในทางกลับกันพวกเขาดึงนักเตะเข้ามาอีก 13 คน เพื่อปรับสมดุลภายในทีม ทั้งในเรื่องของ จำนวน นักเตะภายในทีม และสภาพการเงินของทีม ขณะที่ในส่วนของผู้จัดการทีม พวกเขาเชื่อมั่นในตัวของ สกอตต์ พาร์คเกอร์ ซึ่งเป็นผู้จัดการทีมคนสุดท้ายในช่วงที่ทีมตกชั้น คุมทีมต่อในระดับเดอะ แชมเปี้ยนชิพ ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาสู่ พรีเมียร์ ลีก อีกครั้งในที่สุด
การเลื่อนชั้นกลับมาของพวกเขา ครั้งนี้มาพร้อมกับการระมัดระวังในการซื้อขายมากกว่าเดิม กอปรกับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ที่ส่งผลรุนแรงกับเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้พวกเขาดึง นักเตะ เข้ามา 11 คน แต่เป็นการซื้อขาดเพียง 4 คนเท่านั้น ที่เหลือเป็นการยืมตัวทั้งหมด นั่นคือแผนการทำทีมของพวกเขา
ลูกทีมของ สกอตต์ พาร์คเกอร์ ต่างจาก เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ตรงที่พวกเขามีบางช่วงที่พวกเขามีโอกาสในการจะแซงหน้าทีมอื่นเพื่อให้พ้นโซนอันตราย แต่ก็ทำไม่สำเร็จ หากทีมจะเป็นแชมป์ “บางเกมเกือบแพ้แต่เสมอ เกือบเสมอแต่จบชนะ” แต่สำหรับฟูแล่ม “บางเกมเกือบเสมอแต่แพ้ และเกือบชนะแต่เสมอ”
อย่างเช่นสองเกมที่พวกเขาควรมี 4 คะแนนเป็นอย่างน้อย ในเกมพบกับ วูลฟ์ส พวกเขาแพ้ 1-0 ในนาที 90+3 และเกมกับ อาร์เซนอล พวกเขาเสมอ 1-1 โดยเสียประตูในนาทีที่ 90+7 เป็นอะไรที่ชัดเจนว่า พวกเขาขาดรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่กลายเป็น “น้อยนิดมหาศาล” จนนำมาซึ่งการตกชั้น
ความผิดพลาดในครั้งนี้ ฟูแล่ม นับว่าเสียหายน้อยกว่าในช่วงครั้งก่อนแน่นอน อย่างไรก็ตาม ฟูแล่ม ก็มีการเตรียมแผนในส่วนของฤดูกาลหน้าไว้แล้วว่า พวกเขามีการเตรียมงานอย่างไรบ้าง โดยตามข้อมูลจากสื่อในอังกฤษ ระบุออกมาดังต่อไป
ที่เหลือก็ขึ้นกับว่า แผนงานเหล่านี้จะสามารถเป็นไปตามแผนหรือไม่เท่านั้น