“My Precious” คำพูดที่ต้องลากเสียงยาว ๆ ให้ดูหลอนของตัวละคร กอลลั่ม ในมหากาพย์ภาพยนตร์ “The lord of the rings” ยังคงเป็นหนึ่งในคำที่หลายคนยังคงจดจำได้ไม่ลืม เช่นเดียวกับ เรื่องราวของการครอบครองอาณาจักร อาร์เซนอล ของ สแตน โครเอนเก้ ที่มาถึงวันนี้ครบรอบ 14 ปี แล้ว ที่นักธุรกิจสัญชาติอเมริกันคนนี้เข้ามามีส่วนในสโมสร แห่งลอนดอนเหนือ พร้อมกับการถือครองหุ้นจำนวน 93.6 % ที่ทำให้เขาเป็นเจ้าของสโมสรแห่งนี้ ที่ โครเอนเก้ หรือ “พ่อเก้” “ไอ้เก้” หรือ “เชี้ยเก้” ตามแต่สรรพนามที่แฟนบอลอาร์เซนอล มอบให้เขาเสมอมา ยังคงมองว่า อาร์เซนอล คือ “My Precious” ของเขา และมันได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และวันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงในเรื่องนี้กัน
โดยกว่าจะมาถึงวันนี้ สแตน โครเอนเก้ ผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้าง รวมถึงการเข้ามาของเขาเกิดขึ้นอย่างไร เราจะมาบอกเล่ากัน ผ่านตัวอักษร บนพื้นฐานของการหาข้อมูล และส่วนหนึ่งในความทรงจำของผู้เขียนรวมกัน หวังว่าจะเป็นงานที่สนุกในแง่ของเรื่องราวข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และจะทำให้ดีที่สุด หากผิดพลาดประการใด ตกหล่นอะไรไปขออภัย มา ณ โอกาสนี้
ในช่วงปี 1992 ฟุตบอลอังกฤษมีการ รีแบรนด์ ครั้งใหญ่จากฟุตบอล ดิวิชั่นหนึ่ง อังกฤษ มาเป็น พรีเมียร์ ลีก มันไม่ใช่แค่เพียงการเปลี่ยนชื่อเพียงอย่างเดียว แต่มันคือการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของการตลาดที่เดินเกมอย่างเต็มรูปแบบในการยกระดับ ฟุตบอลอังกฤษ ให้กลายเป็น “ฟุตบอลโลก” ในระดับสโมสร ที่ใครทั่วโลกต่างก็รู้จัก และติดตามทั่วโลก โดยในปี 1992 Sky Television ของ รูเพิร์ต เมอร์ด๊อก หนึ่งในนักธุรกิจในวงการสื่อ คือ การชนะประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1992 และมาถึงวันนี้กำลังเข้าสู่ปีที่ 30 ของพรีเมียร์ ลีก ทุกวันนี้มีมากกว่า 50 ประเทศที่มีการซื้อลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดสดการแข่งขัน ในหลากหลายช่องทาง แน่นอนเมื่อความนิยมมากขึ้น เงินก็มากขึ้นตาม สปอนเซอร์ผู้สนับสนุนที่เข้ามาสู่ พรีเมียร์ ลีก และ สโมสรก็มากขึ้น
อย่างไรก็ตามในช่วงกลางทศวรรษที่ 90 เงินที่มากขึ้น การต่อสู้ในสนามก็มากขึ้นตาม แน่นอนเจ้าของสโมสรในยุคนั้นเป็นของชาวอังกฤษ หรือในเครือสหราชอาณาจักร เป็นเจ้าของแทบทั้งสิ้น พวกเขาต่างนำเงินมาลงทุน เพื่อสโมสรของพวกเขา ใครมีมาก อยากประสบความสำเร็จ ก็อาจจะลงทุนมาก ลงทุนน้อยต่างกันออกไป แต่แน่นอน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คืออันดับหนึ่งของวงการฟุตบอล ด้วยความสามารถ และการลงทุนที่พร้อมสนับสนุน เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กับความสำเร็จที่มากที่สุดในช่วงทศวรรษที่ 90 ตามด้วย อาร์เซนอล รวมถึง แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ซึ่งสามารถแทรกขึ้นมาได้หนึ่งสมัย
หลายทีมพยายามสร้างทีมด้วยการลงทุนที่มากขึ้น เมื่อมากยิ่งขึ้น บางทีมก็ไปได้สวย เช่น เชลซี ที่มีสตาร์ต่างชาติยกระดับเข้ามากันหลายคน ตรงข้ามกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด ที่ลงทุนเพื่อฝันในการเป็นแชมป์พรีเมียร์ ลีก กลับกลายเป็นหายนะเมื่อพวกเขาล้มละลาย ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี หลังการลงทุนไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตามการเข้ามาของ “ทุนนิยม” เริ่มต้นแบบเห็นภาพชัดเจนคือ โรมัน อบราโมวิช ที่ซื้อหุ้นสโมสเชลซี แบบเบ็ดเสร็จ ในปี 2003 โดยใช้งานมากกว่า 200 ล้านปอนด์ในการเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสร รวมถึงเคลียร์หนี้สินทั้งหมด ที่มีอยู่ก่อนแล้วของทีม
การเข้ามาของเขา นำมาซึ่งการลงทุนหลายร้อยล้านปอนด์แบบทันทีทันใด เชลซี ยกระดับจากทีมกลางตาราง หรือทีมลุ้นพื้นที่ยุโรป กลายเป็น “เต็งแชมป์” ทันที และมันก็กลายเป็นความจริงหลังการเข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรในปีที่สองเท่านั้น หลังจากนั้นความสำเร็จก็ไม่เคยขาดหายไปตลอด 18 ปี สีน้ำเงินแห่งลอนดอน ยกระดับกลายเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของประเทศ และระบุคำว่า “Pride of London” ได้แบบเต็มภาคภูมิด้วยถ้วยแชมป์ที่พวกเขาทำได้
ความสำเร็จ ชื่อเสียง เงินตรา หลั่งไหลเข้ามา การทำธุรกิจกับ “อารมณ์” ของผู้คน มักทำรายได้ได้มากมายมหาศาล ยิ่งกับฟุตบอลด้วยแล้ว ลองได้รัก ลองได้หลง ยากนักที่จะถอนตัว
ความสำเร็จของ โรมัน อบราโมวิช ทำให้นักธุรกิจต่างชาติเริ่มหันมาสนใจการลงทุนในธุรกิจด้านกีฬามากขึ้น และแน่นอน พรีเมียร์ ลีก คือปลายทางของหลายคน รวมถึง สแตน โครเอนเก้
อาร์เซนอล ในช่วงปี 2000 มีแผนงานในการสร้างสนามเหย้าแห่งใหม่ในย่าน แอชเบอร์ตัน โกรฟ ซึ่งต้องบอกว่าทีมงานอาร์เซนอล เก่งมากที่สามารถเจรจา และขอซื้อพื้นที่การสร้างสนามแข่งใหม่ที่อยู่ใกล้กับสนามไฮบิวรี่เดิมเป็นอย่างมาก (ไฮบิวรี่ และ เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม ผู้คนสามารถเดินไปมาระหว่างสองสนามนี้ด้วยเวลาเพียง 5-7 นาทีเท่านั้น) และนั่นทำให้พวกเขามีการใช้เงินจำนวนมาก ในการจัดการให้ทุกอย่างเรียบร้อยในปี 2006 พร้อมกับการมองไปข้างหน้าต่อกับการ “หาแหล่งเงินทุน” จากต่างประเทศ เพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ของการแข่งขัน
เดวิด ดีน รองประธานสโมสร อาร์เซนอล ได้ชื่อว่าเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการฟุตบอลอย่างยิ่ง อดีตเจ้าของธุรกิจนำเข้าน้ำตาล มีบทบาทในวงการฟุตบอลอังกฤษ และเป็นหนึ่งในบุคคลที่เดินหน้าผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจาก ฟุตบอลดิวิชั่นหนึ่ง มาเป็น พรีเมียร์ ลีก ในปี 1992 รวมถึงเคยเป็นประธานกลุ่ม G-14 ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มสโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรปจำนวน 14 สโมสรด้วยกัน ก่อนที่กลุ่มจะล่มสลายไปในปี 2008 ยังไม่รวมถึงการที่เขาเข้ามาลงทุนกับ อาร์เซนอล มาตั้งแต่ปี 1983 และเคยมีหุ้นสูงสุดของสโมสรอยู่ที่ 42 % ในช่วงปี 1991 เรียกว่า ดีน ในแง่ของการบริหาร เขาเป็นหนึ่งในคนสำคัญยิ่งของปืนใหญ่ที่ทำให้ทีมก้าวผ่านช่วงเวลาในทศวรรษที่ 80 สู่ 90 ได้อย่างแข็งแรง กับเงินทุนของเขา พร้อมกับการพัฒนาในหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการได้รู้จักกับ อาร์แซน เวนเกอร์ ในปี 1990 เมื่อ เวนเกอร์ มีช่วงว่างพักเบรกซีซั่นของ อาแอส โมนาโก และ มาดูเกมที่สนาม ไฮบิวรี่ และกลายเป็นเพื่อนกัน จนนำมาซึ่งการย้ายมาคุมทีมของ โค้ชชาวฝรั่งเศสในปี 1996
ในปี 1983 สแตน โครเอนเก้ นักธุรกิจชาวอเมริกัน ชาวรัฐมิสซูรี่ เข้าสู่วงการธุรกิจแบบเต็มตัว เขาก่อตั้ง โครเอนเก้ กรุ๊ป ขึ้นเป็นครั้งแรก กับงานด้านอสังหาริมทรัพย์ทั้งการสร้างสรรพสินค้า และอาคารที่พักอาศัย และแน่นอนว่า หลายอาคารเหล่านั้นตั้งใกล้กับห้าง “วอลมาร์ท” (Walmart) ซึ่งเป็นห้างของตระกูล วอลตัน ตระกูลของ แอน วอลตัน โครเอนเก้ ผู้เป็นภรรยาของเขานั่นเอง ก่อนที่จะยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็น นักธุรกิจชั้นนำในวงการนี้เรื่อยมา รวมถึงการลงทุนเกี่ยวกับการซื้อที่ดิน ซึ่ง “แวคโกเนอร์ แรนซ์” ซึ่งโครเอนเก้ ซื้อมาเป็นเจ้าของในปี 2016 เป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของรัฐเท็กซัส ได้รับการระบุว่าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ที่สุดแบบในบริเวณรั้วเดียวกัน โดยมีพื้นที่มากถึง 510,527 เอเคอร์ หรือประมาณ 1,291,633 ไร่ ซึ่งใช้เงินไปมากกว่า 725 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการซื้อมาครอบครอง
1999 ในขณะที่ อาร์เซนอล กำลังเปิดตัว เธียร์รี่ อองรี กองหน้าคนใหม่ทีมชาติฝรั่งเศสเข้าสู่ทีม ในอีกซีกโลกหนึ่ง สแตน โครเอนเก้ เดินเข้าสู่วงการธุรกิจกีฬาเป็นครั้งแรก กับการก่อตั้ง โครเอนเก้ สปอร์ต แอนด์ เอนเตอร์เทนเมนต์ (KSE) ขึ้นและทำการซื้อสนามกีฬา บอล อารีน่า ซึ่งเป็นสนามเหย้าของทีมบาสเกตบอล เดนเวอร์ นัคเกตส์ และ โคลาราโด้ อวาแลนซ์ ทีมฮ๊อคกี้น้ำแข็ง รวมถึงเป็นเจ้าของร่วมในสนาม ดิ๊คส์ สปอร์ติ้ง กู้ดส์ สนามเหย้าของ โคโลราโด้ ราปิดส์ ทีม ซอคเกอร์ ในอเมริกา ซึ่งต่อมา KSE ก็สอยมาเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว เช่นเดียวกับทีมบาสเก็ตบอล และทีมฮ๊อคกี้น้ำแข็ง ต่อมา โครเอนเก้ ก็เก็บเรียบ ซื้อมาเป็นของตนเองทั้งหมด
“ผมเคยมาที่ เดนเวอร์ เมื่อสัก 30 ปีที่แล้ว และผมมีบ้านที่ สตีมโบ๊ท เดนเวอร์ เป็นเมืองที่ยอดเยี่ยม มีทีมกีฬาที่ยอดเยี่ยม และมีสนามกีฬาที่สุดยอด…ผมจะถือครองไว้สัก 25 ปีไหมน่ะเหรอ ใช่ ผมก็หวังว่าจะเป็นแบบนั้น” โครเอนเก้ วัย 53 ปี กล่าวในปี 2000 หลังจากตกลงซื้อทีมในเดนเวอร์ พร้อมสนามด้วยจำนวนเงิน 450 ล้านเหรียญสหรัฐ
เข้าสู่สหัสวรรษใหม่ ปี 2000 สแตน โครเอนเก้ เป็นเจ้าของทั้งทีม ซอคเกอร์, บาสเก็ตบอล และ ฮ๊อคกี้น้ำแข็ง ในเดนเวอร์ เรียบร้อยแล้ว แถมเวลานั้นเขาก็เริ่มมีเอี่ยวในทีม อเมริกันฟุตบอล เรียบร้อย และยังจะไม่หยุดเท่านี้ เพราะอีก 7 ปีข้างหน้า เขากำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรฟุตบอลในประเทศอังกฤษ “เมืองหลวงแห่งวงการฟุตบอล” นั่นเอง
โปรดติดตามตอนต่อไป