การเจรจาเพื่อขอซื้อหุ้นของสโมสรจาก นีน่า เบรสเวลล์-สมิธ ของ สแตน โครเอนเก้ ยังคงดำเนินต่อไป และในปี 2011 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อ แดนนี่ ฟิตซ์แมน ได้ทำการขายหุ้นส่วนสุดท้ายของเขาให้กับ โครเอนเก้ (ติดตามอ่านได้ใน Part 2) และอีกสองวันหลังจากขายหุ้น เขาก็จากโลกนี้ไปด้วยโรคมะเร็งในลำคอ
การเจรจากับ นีน่า เบรสเวลล์-สมิธ ซึ่งถือหุ้นจำนวนเยอะที่สุด ในเวลานั้น นอกจากตัวเขา และ อุสมานอฟ โดยในช่วงเวลานั้นมีข่าวลือออกมาว่า โครเอนเก้ จะขายหุ้นของ แรมส์ ที่เขาได้มาตั้งแต่ช่วงปี 1995 ออกจากมือไป แต่สุดท้ายแล้วเรื่องนี้ก็ไม่เกิดขึ้น สำหรับราคาหุ้นของของ นีน่า เบรสเวลล์-สมิธ จำนวน 16 % ได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าประมาณ 80-84 ล้านปอนด์
สุดท้ายแล้วหลังการเจรจาซื้อขายที่ “ตื๊อด้วยเงินเท่านั้นที่ครองโลก” จบลง โครเอนเก้ คว้าชัยชนะเหนือ อุสมานอฟ ในการเอาชนะใจ นีน่า เบรสเวลล์-สมิธ ที่ยอมขายหุ้นทั้งหมดของเธอให้กับเขา
ท่ามกลางสถานการณ์ของระบบ ทุนนิยม ที่เข้ามาสู่ พรีเมียร์ ลีก อย่างหนัก เชลซี ในปี 2003 เป็นจุดเริ่มต้น การเช้ามาของ ตระกูล เกลเซอร์ สู่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, การเข้ามาของกลุ่มทุนอาหรับที่แปรสภาพ “เรือใบสีฟ้า” กลายเป็นมาเป็น “เรือใบพันล้าน” แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เป็นอีกทีมที่กลายเป็นหน้าใหม่ของพื้นที่การลุ้นแชมป์
ทุกทีมกำลังอยู่ในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ “การแข่งขันที่เข้มข้น” ยิ่งกว่าเดิมแต่สำหรับ อาร์เซนอล การแย่งชิงอำนาจในองค์กรของตนเอง เป็นเรื่องที่น่าขำขัน เมื่อพวกเขามองเห็น โครเอนเก้ คือคนที่ใช่ และ อุสมานอฟ คือที่คนทำลาย แทนที่จะมองถึงการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน พวกเขาเลือกที่จะ “ล๊อคดาวน์” ในการจะไม่ขายหุ้นที่ถืออยู่ของตนเองให้กับบุคคลภายนอก ยกเว้นคนในครอบครัวเดียวกันเท่านั้น และมีการขยายเวลาในกฎนี้หลายรอบจนสุดท้าย มีการตกลงว่า หุ้นจะขายได้ แต่คนที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมจะเป็น “ทางเลือกแรก” ที่ได้สิทธิ์ซื้อก่อน โดยมีกำหนดไว้จนถึงเดือนตุลาคม 2012
อุสมานอฟ ผู้ซึ่งได้รับการระบุว่าเป็นแฟนบอลของ อาร์เซนอล เช่นเดียวกับ ฟาฮัด โมชิริ เพื่อนของเขาควรจะเป็นคนที่เข้ามาสู่สโมสร เพื่อช่วยเหลือสโมสร แต่กลายเป็นว่าการเข้ามาของเขา กลายเป็นเรื่องที่ไม่ต้องการของ โครเอนเก้ รวมถึง บอร์ดบริหารในช่วงนั้นด้วย เขาโดนตีกันออกไป และนั่นคือผิดพลาดอย่างร้ายแรง เช่นเดียวกับ เดวิด ดีน ผู้ซึ่ง “พลาด” ในการพา โครเอนเก้ มาสู่ทีม พยายามอย่างหนักที่จะทำให้ สถานการณ์พลิกกลับอีกด้าน แต่ ณ เวลานั้น เขาไม่ได้รับความเชื่อมั่นจาก บอร์ดบริหาร อีกต่อไปแล้ว และแน่นอน โครเอนเก้ ก็ไม่จำเป็นต้องสนใจอีกต่อไป
การได้หุ้นของ นีน่า เบรสเวลล์-สมิธ จำนวน 16 % ทำให้ โครเอนเก้ ถือหุ้นมากที่สุดของสโมสรทันที โดยเขาได้หุ้นใหญ่ ๆ มาจากสี่ส่วนคือ
นอกจากนั้นเขายังได้หุ้นประปรายอีกเล็กน้อยจากหลายส่วนรวมกัน ทำให้สุดท้ายแล้ว สแตน โครเอนเก้ ถือหุ้นประมาณ 63 % ของสโมสร ขณะที่ อุสมานอฟ ยังคงอยู่ที่ประมาณ 26 % และหุ้นจากส่วนอื่นรายย่อยอีกประมาณ 11 % ก่อนที่ท้ายที่สุดแล้วในปี 2013 อุสมานอฟจะสามารถหาหุ้นมาเติมได้จนถึงหลัก 30 % ในที่สุด
“มันเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่สุด ที่ฉันขายหุ้นของฉันให้กับเขา เดวิด ดีน และ อุสมานอฟ ควรมีสิทธิ์มีเสียงในบอร์ดบริหาร เพื่อนำอาร์เซนอลไปข้างหน้า”
“โครเอนเก้ ได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ และก็ไม่ฟังคนอื่นแล้ว ไม่ทำความเข้าใจอะไรกับแฟนบอลที่รัก และให้จิตวิญญาณของตนเองกับสโมสร เราเคยเป็นสโมสรที่เต็มไปด้วยความรู้สึกแบบครอบครัว แต่มันไม่ใช่แบบนั้นอีกต่อไปแล้ว”
“ถ้าเงินมันเป็นสิ่งที่เย้ายวนใจในการทำให้คนเลือกจะไขว่ขว้ามัน การเข้ามาของเขามันก็ถูกแล้ว แต่ฟุตบอล เป็นธุรกิจที่ต้องมาพร้อมกับความมุ่งมั่น และรักในสิ่งที่ทำ และ โครเอนเก้ ไม่แสดงออกมาเลย นับจากได้ถือครองมัน เขาแสดงให้เห็นว่าเขาแทบไม่ใส่ใจกับสิ่งที่เขาได้ไป และทำไมเขาถึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งของอาร์เซนอลด้วย ฉันไม่รู้เลย” นีน่า เบรสเวลล์-สมิธ ผู้ออกจากบอร์ดบริหารในปี 2008 และขายหุ้นของตนเองให้กับ โครเอนเก้ในปี 2011
หลังการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ “อาร์เซนอล” โครเอนเก้ กลายเป็นคนที่หาตัวยากในสนาม เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม เขาแทบไม่ได้อยู่ในอังกฤษเลย เขากลับไปให้ความสนใจธุรกิจอื่นในสหรัฐอเมริกา เป็นหลัก ในปี 2013 สองปีหลังการเทคโอเวอร์ เขาเริ่มต้นแนวคิดในการจะย้าย เซนหลุยส์ แรมส์ กลับสู่ แอลเอ แรมส์ พร้อมกับการประกาศสร้างสนามแข่งใหม่ของทีมใน แคร์ลิฟอร์เนีย ในปี 2015 ในช่วงเวลานั้น อาร์เซนอล ดูดีขึ้นบ้าง หลังผ่านการ “ปั้นนักเตะดาวรุ่ง ขายสตาร์ดัง” แทบทุกปีมาอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2007 เป็นต้นมา
2011-2012 อาร์เซนอล ยังคงต้องปล่อยตัว นักเตะ หลักอย่าง เชส ฟาเบรกาส และ ซามีร์ นาสรี่ ออกจากทีม พร้อมกับการ “ซื้อแบบขาดสติ” ในการคว้า 6 นักเตะในช่วง 3 วันสุดท้ายของตลาดการซื้อขายเดือนสิงหาคม 2011 หลังจากโดน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขยี้หมดสภาพ 8-2
2012-2013 พวกเขาลงทุนครั้งใหญ่สุดในรอบหลายปี กับการเซ็นสัญญา ลูคัส โพดอลสกี้, โอลิวิเยร์ ชิรูด์ และ ซานติ กาซอร์ล่า เข้ามาเสริมทีม
2013-2014 พวกเขาลงทุน 42.5 ล้านปอนด์ สถิติสโมสรนำตัว เมซุต เออซิล มาร่วมงานด้วย พร้อมกับหยุดการไม่ได้แชมป์ใดมาตั้งแต่ปี 2005 กับการคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ
2014-2015 อเล็กซิส ซานเชส มาร่วมงานกับปืนใหญ่ พวกเขาได้แชมป์เอฟเอ คัพ ในสมัยที่สองติดต่อกัน
ในช่วง 4 ปีแรก ทีมมีการเปลี่ยนแปลงหลายส่วน การเข้ามาของ อิวาน กาซิดิส ตั้งแต่ปี 2009 ในฐานะของผู้บริหารยุคใหม่ของทีม การอำลาตำแหน่งของ ปีเตอร์-ฮิลล์ วู้ด ประธานสโมสรอาร์เซนอล “รุ่นที่สาม” ของครอบครัวสิ้นสุดลงที่เขาในปี 2013 ก่อนที่อีก 5 ปีต่อมา ปีเตอร์ ฮิลล์-วู้ด จะเสียชีวิตในปี 2018 ด้วยวัย 82 ปี
ทุกอย่างบนโลกมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน และสำหรับ อาร์เซนอล ทุกอย่างเกิดขึ้นในปี 2007 และเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ภายใต้ชายที่ชื่อว่า “สแตน โครเอนเก้”
โปรดติดตามตอนจบในตอนต่อไป