สังคมออนไลน์ และอินเทอร์เน็ต เป็นหนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนโลกของเราให้กลายเป็น ยุคของดิจิตอลแบบเต็มตัว ทุกอย่างมีความรวดเร็วมาก ทั้งในเรื่องของ ข้อมูลข่าวสาร ไปจนถึงทุกธุรกิจ ที่มันสะดวกสบายยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามเรื่องดีก็มี เรื่องแย่ก็มีไม่น้อย โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่า “Cyber Bullying”
“Cyber Bullying” หรือการเหยียดเพศ หรือดูถูกผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ถูกนำมาพูดถึงในวงการฟุตบอล และวงการกีฬา กันอย่างหนัก หลังจากที่มีการ “Cyber Bullying” นักเตะ หลายคน รวมถึงผู้ตัดสิน
ต้องบอกก่อนว่าการ “Bully” มันไม่ใช่เรื่องใหม่ของ วงการฟุตบอล และมันเป็นส่วนหนึ่งของ “สันดาน” มนุษย์ ที่เกิดขึ้นในสังคม กันมาอย่างยาวนาน เพียงแค่ว่า เมื่อก่อนนี้ทุกอย่างยังคงอยู่ในการ “ออฟไลน์” คุยกันในวงสังคมของใครของมัน แต่เมื่อ สังคมออนไลน์ เกิดขึ้น การแสดงความคิดเห็น กลายเป็นวงกว้างมากขึ้น และ “มากคนก็มากความ” ความคิดเห็นมันไม่ตรงกัน ปัญหาก็ตามมา
Twitter กลายเป็นหนึ่งในสังคมออนไลน์ ที่มีการระบุว่า “Cyber Bullying” มากที่สุด ตามด้วย Facebook และ Instagram ส่วนในประเทศไทย YouTube ก็เป็นอีกช่องทางที่คุณจะได้เจอเรื่องแบบนี้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะข่าวกีฬา, การเมือง หรือว่าข่าวบันเทิง ซึ่งทั้งหมดนี้ ส่วนมากจะมีการใช้งาน “Fake Account” หรือบัญชีผู้ใช้งานปลอม เข้ามาเพื่อทำการ ด่า หรือ ดูถูกกันในสังคมออนไลน์ทุกเรื่องราว “เรื่องราวที่หากเจอหน้ากัน อาจจะไม่กล้าจะพูดออกมา”
ในวงการกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล มีการตื่นตัวกันมากในระยะหลังในเรื่องนี้ กับการเติบโตของ สังคมออนไลน์ ในทุกแพลตฟอร์ม และเมื่ออะไร ๆ ไม่เป็นไปตามที่ผู้ใช้งานออนไลน์ไม่พอใจ ก็จะทำการด่าทอ ดูถูก ลามปามจนถึงขู่ฆ่า กันก็มีมาแล้ว
ยาน ฮันด้า นักเตะดาวรุ่งของสวอนซี ซิตี้, ลอเรน เจมส์ นักเตะทีมหญิงของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ไมค์ ดีน กรรมการระดับ พรีเมียร์ ลีก และล่าสุดกับ สตีฟ บรู๊ซ ผู้จัดการทีม นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ที่โดนการ “Cyber Bullying” อย่างหนัก
ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เรื่องนี้ รุนแรงมากยิ่งขึ้น (จริง ๆ ต้องบอกว่า มันไม่ได้รุนแรงขึ้น แค่เปลี่ยนจากในสนาม มาเป็นโลกออนไลน์เท่านั้น) เนื่องจากไม่มีผู้ชมเข้าชมเกมการแข่งขันได้ ทุกคน อยู่แต่ในบ้าน รับชมเกมการแข่งขัน ไม่พอใจอะไรก็ตะโกนด่าผ่านหน้าจอ ตามด้วยพิมพ์ลงบนข้อความใน สังคมออนไลน์ เท่านี้ก็จบ ยิ่งหากใช้บัญชีปลอม ทุกอย่างก็ยิ่งง่าย ไม่ต้องกลัวใครรู้ ด่าอย่างเดียว ไม่มีใครรู้จัก ทำอะไรก็ได้ตามใจ นี่คือปัญหาใหญ่มาก ที่โลกของเรากำลังต้องเจอ
มีการรายงานว่าในช่วง นับตั้งแต่ช่วงปลายฤดูกาลที่แล้ว มีการเก็บข้อมูล โดยบริษัทเกี่ยวกับสถิติ ไปเก็บข้อมูลการเก็บคำที่เกี่ยวกับการ “Bully” โดยมีมากกว่า 3,000 ข้อความ ที่พวกเขาพบเจอใน บัญชี ทวิตเตอร์ ของนักเตะชื่อดังจำนวน 44 คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีถึง 43 % ที่ระบุข้อความ เหยียดหยาม ดูถูก และอีก 29 % คือข้อความพร้อมกับสัญลักษณ์ อิโมจิคอน ที่หยาบคาย และแทบทั้งหมดมีการ Tag ไปยัง ทวิตเตอร์ ของเหล่านักเตะโดยตรงอีกด้วย
พรีเมียร์ ลีก และ ตำรวจอังกฤษ ต่างทำงานหนัก เพื่อจะพยายามยับยั้งในเรื่องนี้ ล่าสุดสัปดาห์ที่แล้ว มีการจับตัว วัยรุ่น วัย 21 ปี หลังจากมีหลักฐานว่าเขามีการโพสข้อความมากมายในการเหยียดหยาม และขู่ฆ่า นักเตะ เชลซี เมื่อปีที่แล้ว และพวกเขาจะพยายามต่อไป ในเคสของ อเล็กซ์ ยานเควิช นักเตะ เซาธ์แธมป์ตัน และ ยาน ฮันด้า นักเตะ สวอนซี ซึ่งทั้งสองคน โดนโจมตีอย่างหนักจากสิ่งที่พวกเขาทำในสนามฟุตบอล
นับวันปัญหานี้ยังคงไม่มีท่าทีจะลดลง ตรงกันข้ามจะมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นหนึ่งในประเด็นสนทนาของ นักเตะ และสโมสรในพรีเมียร์ ลีกด้วย
“มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานมากแล้ว มันเกิดขึ้นกับพ่อผมมาตลอด ตั้งแต่เข้ามารับงานคุมทีม เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นจนมันเหมือนเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ความจริง มันไม่เป็นแบบนั้นเลย ฟุตบอล เป็นเรื่องของความคิดเห็น การโต้เถียง และจังหวะดราม่า มากมายในเกม ที่มันสามารถแปรเปลี่ยนเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด และเลวร้ายที่สุด สำหรับคนหนึ่งคนได้เลย ผู้จัดการทีม และ นักเตะ ก็คนหนึ่งคน พวกเขามีโอกาสในการก่อความผิดพลาด เช่นเดียวกับ กรรมการ หรือว่า นักข่าว แต่พอพวกเขาทำผิดพลาด พวกเขาก็มักจะโดนถล่ม โดยความเห็นที่เต็มไปด้วยความโกรธ หรือคำด่าทอที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง นั่นกลายเป็นสิ่งที่โดนกันมาตลอด” อเล็กซ์ บรู๊ซ อดีต นักเตะ อาชีพ และ ลูกชายของ สตีฟ บรู๊ซ ผู้จัดการทีม นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด กล่าวถึงสิ่งที่ พ่อของเขาโดนมาตลอด
“กรรมการในพรีเมียร์ ลีก อย่าง ไมค์ ดีน ที่โดนบูลลี่จากแฟนบอล มักจะถูกระบุว่า ไม่ควรมีสังคมออนไลน์ ไว้ใช้งาน ด้วยเหตุผลดังกล่าว เพราะหากพวกเขาทำอะไรผิดพลาด มันก็จะเกิดสิ่งที่ตามมานั่นคือการบูลลี่ ทั้งสิ้น” ทอม เว็บบ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยใน พอร์ทสมัธ กล่าว
“การบูลลี่ หรือการเหยียดเพศ หรือเชื้อชาติ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะ บุคคล เพียงอย่างเดียว แต่ยังลามไปจนถึงครอบครัว และคนรอบข้าง ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หรือจะบอกว่ามันไม่มีทางเลยด้วยซ้ำ ที่จะหลีกหนีพ้น ถ้าคุณเป็นส่วนหนึ่งของ โลกออนไลน์ ไม่ว่าวันไหน ไม่ว่าผลการแข่งขันจะเป็นอย่างไร หากเกิดอะไรที่ผู้คน ไม่ชอบ ไม่พอใจ ในตัวคุณ ข้อความแห่งการเหยียดหยามก็จะเกิดขึ้น ได้ทุกเวลา”
และมันไม่ใช่ปัญหาที่แก้ไขได้ง่าย ๆ เพราะมันคือส่วนหนึ่งของ “สันดาน” ของมนุษย์ เราอย่างหนึ่ง ขึ้นกับว่า ใครจะใช้ หรือไม่ใช้มันเท่านั้น