ufabet ทีเด็ด บอล วันนี้ ราคา บอล

From F*ck to Trust the process

รายทางที่สำคัญไม่น้อยกว่าปลายทางของอาร์เซนอล

 

     สำหรับแฟนบอลอาร์เซนอลแล้ว ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าทุกคนคงมีความสุขกับปี 2023 ที่เพิ่งเข้าสู่วันที่สองอย่างแน่นอน เมื่อวันนี้ทีมรักยังคงอยู่ในตำแหน่งจ่าฝูง พร้อมกับความฝันมากมายเกี่ยวกับการจะได้เห็นความสำเร็จในฤดูกาลนี้ หลังจาก เอฟเอ คัพ 2020 คือความสำเร็จล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อน และการกลับไปเล่นในแชมเปี้ยนส์ ลีก อีกครั้งสำหรับทีมนั้นห่างหายไปนานนับจากปี 2017 เป็นต้นมา

 

     หากคุณเกิดทันดูปาทริค วิเอร่า กัปตันทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของอาร์เซนอลชูถ้วยแชมป์พรีเมียร์ ลีก ในฤดูกาล 2003-2004 ที่กลายเป็นตำนาน “ไร้พ่าย” ของสโมสร โปรดทราบด้วยการแจ้งเตือนนี้ว่า คุณมีอายุเพิ่มขึ้นอีก 20 ปีแล้วจากวันนั้น…ผู้เขียนก็เช่นกัน

 

     เป็นสองทศวรรษที่กำลังผ่านพ้นไปด้วยความขมมากกว่าหวาน หลายครั้งขมคมจนสำรอกออกมาก็ยังไม่พอ หลายครั้งหวานอมแต่ก็ยังมีขมกลืนกับทีมที่ตัวเองเชียร์มาตลอดชีวิต อย่างไรก็ตามหากเลือกที่จะรักแล้ว ก็พร้อมที่จะรอ แม้จะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคต เพียงแต่รู้แค่ว่าทำได้แค่รอต่อไป

 

     “หากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รอคอยแชมป์ลีกสูงสุดนาน 26 ปี / ลิเวอร์พูล 30 ปี / แมนเชสเตอร์ ซิตี้ 44 ปี / เชลซี 50 ปี กับการเป็นแฟนอาร์เซนอลที่รอคอยมา 20 ปี มันก็ยังไม่นานนักหรอก”

2020 จุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนแปลง

     สแตน โครเอนเก้ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของสโมสรอาร์เซนอล 93.6 % เขาเข้ามาในทีมตั้งแต่ช่วงปี 2010 เป็นต้นมาจากหุ้นประมาณ 10 % ก่อนจะมาคว้าชัยชนะเหนือ อลิเชร์ อุสมานอฟ และซื้อหุ้น 30 % สุดท้ายจากเศรษฐีรัสเซียในปี 2018 ถ้านับกันตามการเทคโอเวอร์แบบเบ็ดเสร็จนี่ก็ผ่านไป 4 ปีแล้ว

 

     สแตน โครเอนเก้ มีสิ่งที่สามารถเรียกว่า “อาณาจักรกีฬา” ของตนเองในอเมริกันได้อย่างเต็มปาก แค่ธุรกิจในบ้านเกิดก็มากมายจนไม่รู้จะเอาเวลาไหนบินมาอังกฤษเพื่อมาดูธุรกิจกีฬานอกบ้านเกิดอย่างอาร์เซนอลแล้ว ดังนั้น จอช โครเอนเก้ ลูกชายของเขาจึงเหมือนกับตัวแทนที่มารับงานแทน จอช มาทำงานกับอาร์เซนอลในฐานะของผู้บริหารคนหนึ่งที่ไม่มีอำนาจในการบริหารตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา ก่อนที่จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้นหลังการเทคโอเวอร์ของตระกูลในปี 2018

 

     ในช่วงปี 2018-2020 อาร์เซนอลมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น การเข้ามาของ ราอูล ซาเนฮี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2018 / การตัดสินใจลงจากตำแหน่งของ อาร์แซน เวนเกอร์ ในเดือนพฤษภาคม 2018 และการเข้ามาของอูไน อเมรี่ นายใหญ่คนใหม่ในสนาม “เฮดโค้ช” คนแรกในประวัติศาสตร์สโมสร ตามด้วยอีกไม่กี่เดือนต่อมา อิวาน กาซิดิส ผู้บริหารใหญ่ที่เป็นทั้งเพื่อนร่วมงานและไม้เบื่อไม้เมากับอาร์แซน เวนเกอร์ ก็ลาออกไปรับงานกับ เอซี มิลาน และการขึ้นมารับงานเป็นหนึ่งในหัวเรือใหญ่ของ วิไน เวนกาเทสเซม ที่เริ่มต้นการทำงานที่อาร์เซนอลในฐานะของ Officer คนหนึ่งสู่การเป็น Executive Director ของสโมสร รวมถึงการเข้ามาสู่บ้านหลังเดิมอีกครั้งในรอบ 14 ปีของ เอดู กาสปาร์

 

     ผลงานในสนามที่ล้มเหลวนำมาซึ่งการกระเด็นออกจากเก้าอี้ของเฮดโค้ชชาวสเปน, การเข้ามาของ เฟดริก ลุงเบิร์ก เป็นการชั่วคราว, การโบกมือลาของ “แมวมองตาเพชร” สเวน มิสลินสตัด และการเข้ามาของ มิเคล อาร์เตต้า และการจากไปของ ฮุสส์ ฟาห์มี่ ที่อยู่กับทีมมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

 

     ทุกการเปลี่ยนแปลงมักเกิดสิ่งใหม่ขึ้นเสมอ การจากไปของ ราอูล ซาเนฮี นำมาซึ่งเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากนั่นคือการลงมาทำงานแบบเต็มตัวของ จอช โครเอนเก้ ในการดูแลงานซื้อขายและบริหารทีม พร้อมกับการเข้ามาของ ทิม ลูอิส ทนายความชาวอังกฤษผู้เป็นแฟนบอลอาร์เซนอลมายาวนาน และทำงานให้กับโครเอนเก้มาหลายปี เข้าสู่สโมสรในฐานะผู้บริหารที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่มีอำนาจ “ที่มองไม่เห็น” เพราะนี่คือคนที่เจ้าของทีมไว้ใจที่สุดคนหนึ่งในฐานะทนายความที่ดูแลปัญหาให้เขาทุกเรื่องหากมันเกิดขึ้นในอังกฤษ หรือในยุโรป และสแตนเลือกเข้ามาในบอร์ดโดยตรง

F*ck you to Trust you

     คำว่า “Trust the process” เป็นหนึ่งในคำพูดที่มักถูกพูดถึงเกี่ยวกับการทำงานของ อาร์แซน เวนเกอร์ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบเยาวชนของสโมสร และนำขึ้นมาเล่นสู่ทีมชุดใหญ่ เวนเกอร์ นำเสนอเรื่องของการ ”ลงทุน” กับทีมเยาวชนซึ่งลงทุนน้อยแต่จะให้ผลที่ดีแม้จะต้องใช้เวลายาวนานในการพัฒนาก็ตาม ยิ่งในช่วงที่ทีมมีปัญหาเกี่ยวกับการเป็นหนี้สนามใหม่อย่าง เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม ซึ่งงบ “บานปลาย” จากวันแรกที่ประเมินงบประมาณ 250 ล้านปอนด์ แต่ถึงที่สุดแล้วงบประมาณทะลุไปถึง 430 ล้านปอนด์ พร้อมกับการผ่อนชำระยาวนานเกินหนึ่งทศวรรษ “Trust the process” ยิ่งถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้น และเมื่อมาถึงการทำงานของทีมงานชุดใหม่ คำกล่าวนี้ก็ยังมีการนำมาใช้เป็น “ม็อตโต้” หลักของการทำงานโปรเจคต์นี้

 

     “Trust the Process” เริ่มต้นอย่างไม่เป็นทางการในปี 2020 หลังการเข้ามาของ มิเคล อาร์เตต้า ประมาณ 9 เดือน เขาถูกเปลี่ยนสถานะจากสถานะของ “เฮดโค้ช” กลายมาเป็น “ผู้จัดการทีมชุดใหญ่” (First Team Manager) ในเดือนกันยายน 2020 หนึ่งในสิทธิ์ที่เปลี่ยนไปคือเรื่องของการทำงานร่วมกับ เอดู กาสปาร์ ในเรื่องเกี่ยวกับการตัดสินใจ และมีส่วนร่วมในการซื้อขายนักเตะของทีม

 

     ในช่วงต้นฤดูกาล 2020-2021 อาร์เซนอล มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งในการบริหารงานเรื่องของ “ฟุตบอล” กับการปลด ราอูล ซาเนฮี ออกจากตำแหน่ง Head of Football Operations และผลักดัน เอดู ขึ้นมารับหน้าที่ในส่วนนี้แทนในฐานะของ Technical Director [ก่อนที่ปัจจุบัน เอดู จะได้ตำแหน่งงานสูงขึ้นเป็น Sporting Director ในเดือนพฤศจิกายน 2022] ในสถานการณ์ที่ โควิด-19 ยังเข้ามาในโลกไม่ถึงหนึ่งปีเต็ม ทีมยังมีการดึง ริชาร์ด การ์ลิค ซึ่งเคยทำงานกับเอฟเออังกฤษมาก่อนเข้ามาร่วมงานด้วยในฐานะของ Director of Football ดูแลเรื่องของสัญญานักเตะทั้งสโมสร

 

     การเซ็นสัญญา วิลเลี่ยน เข้ามาสู่ทีมเป็นส่วนหนึ่งในแผนงานที่ ซาเนฮี ต้องการให้เกิดขึ้น และเป็นผลงานสุดท้ายของเขากับทีม โดย ซาเนฮี มองว่าการเสริมนักเตะที่มีประสบการณ์เข้ามาสู่ทีมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอาร์เซนอล แต่แล้วผลงานที่ออกมาก็อย่างที่เห็นกัน วิลเลี่ยน ล้มเหลวกับอาร์เซนอล และออกจากทีมไปในเวลาเพียงหนึ่งฤดูกาล พร้อมกับการเป็นนักเตะคนล่าสุดที่อายุเกิน 30 ปีที่อาร์เซนอลเซ็นสัญญาเข้ามาร่วมทีม

 

     อาร์เซนอลในฤดูกาล 2020-2021 ชื่อของ วิลเลี่ยน, กาเบรียล มากัญเยส, อเล็กซ์ รูนาร์สัน และ โธมัส ปาเตย์ เข้าสู่ทีมในตลาดสิงหาคม 2020 ตามด้วย แมตต์ ไรอัน และ มาร์ติน เออเดการ์ด ในเดือนมกราคม 2021 อาร์เตต้า ประเมินทีมทั้งหมดที่มี คัดเลือกนักเตะที่ต้องการเก็บไว้ใช้งาน พร้อมกับมองหาองค์ประกอบใหม่ที่ต้องการควบคู่กับปรับโครงสร้างของทีมด้วยการเริ่มโละนักเตะทีมชุดใหญ่ออกจากทีม ซึ่งทำต่อเนื่องมาถึงจนถึงในฤดูกาลปัจจุบัน แต่ผลที่ออกมาคือความล้มเหลวครั้งใหญ่ของทีมที่จบด้วยอันดับ 8 และไม่ได้เข้าไปเล่นฟุตบอลยุโรปเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ฤดูกาล 1995-1996 เป็นต้นมา และกลายเป็นที่มาของ “F*ck the process” ที่ชื่อของ มิเคล อาร์เตต้า ถูกนำไปแขวนถึงความมือไม่ถึงของเขาในเวลานั้นกับการจะพาทีมประสบความสำเร็จได้

“ก่อนจะเชื่อมั่นในระบบ ต้องเชื่อมั่นในคนสร้างระบบเป็นอันดับแรก”

     อ้างอิงจากการสัมภาษณ์ของ มิเคล อาร์เตต้า ที่เคยกล่าวถึงช่วงเวลาของการได้รับการติดต่อรับงานคุมทีม เขาระบุว่า เขาไม่มีความมั่นใจเลยในการรับงานนี้แม้จะมีเป้าหมายในการทำงานเป็นโค้ชใหญ่ในอนาคตก็ตาม แต่ก็ไม่คิดว่างานแรกของตนเองจะเป็นงานระดับสโมสรอาร์เซนอล อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้เขาเลือกรับงานนี้  นั่นคือ “ความเชื่อใจในกันและกัน” ระหว่างเขา และบอร์ดบริหารซึ่งหว่านล้อมและสนับสนุนเขา ณ เวลานั้นทั้งหมดเป็นเพียง “คำพูด” ของเหล่าบอร์ดบริหารของทีมที่ยืนยันว่า พวกเขาจะสนับสนุนอาร์เตต้ากับการทำงานนี้อย่างที่สุด  ซึ่งสิ่งเหล่านั้นสะท้อนออกมาให้เห็นแง่ของการลงทุนที่ทั้ง อาร์เตต้า และ บอร์ดบริหาร “ต่างตอบแทน” กันและกันอยู่ในเวลานี้

 

     หลังจบฤดูกาลแห่งความล้มเหลวที่สุดครั้งหนึ่ง จอช โครเอนเก้ ลูกชายของสแตน โครเอนเก้ ลูกชายผู้ถือหุ้นใหญ่สุดของสโมสร ผู้ซึ่งเข้ามาอยู่ในบอร์ดบริหารของอาร์เซนอลในแบบไม่มีอำนาจในการจัดการมาตั้งแต่ปี 2013 กลายเป็นคีย์แมนสำคัญของเรื่องราวแห่งการเปลี่ยนแปลง

 

     หากคุณเป็นแฟนบอลอาร์เซนอล #KroenkeOut เป็นหนึ่งใน # ที่คุณต้องเคยเห็นหรืออาจจะเคยใช้มันในการระบายอารมณ์ถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ผู้มั่งคั่งแต่ไม่ค่อยจะจ่ายเงินในการพัฒนาทีม แต่การเข้ามาของ จอช ในฐานะผู้บริหารเต็มตัว โน้มน้าวใจ “พ่อ” ของตัวเองในเรื่องของการอนุมัติเงินลงทุนที่สโมสรอาร์เซนอล อันหมายถึงความเสี่ยงที่มีโอกาสทั้งสำเร็จและล้มเหลว ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนโดยตรง โดยมี ทิม ลูอิส คอยเป็นเหมือนที่ปรึกษาคนสำคัญ เชื่อมทั้งหมดเอาไว้ด้วยกันทั้งส่วนบริหาร (โครเอนเก้ – เวนกาเทสเซม – เอดู กาสปาร์ และบอร์ดบริหาร) และส่วนในสนาม (มิเคล อาร์เตต้า และทีมงาน)

 

     ในสนามซ้อม มิเคล อาร์เตต้า ได้รับไฟเขียวในการหาบุคลากรมาเสริมทีมงานของเขา จากวันแรกที่มีกัน 3-4 คน มาวันนี้มีเกือบสิบคนแล้วที่กลายเป็น #ArtetaTeam ไม่ว่าจะเป็น คาร์ลอส เกวสต้า ที่ทำงานเป็นนักบำบัดจิต และวิเคราะห์การเล่นของผู้เล่นแต่ละคน, นิโกล่าส์ โจเวอร์ โค้ชเฉพาะทางเรื่องการเล่นเซตเพลย์ของทีม, อินากิ กาน่า โค้ชผู้รักษาประตู และแน่นอนสามผู้ช่วยของเขา มิเกล โมลิน่า, สตีฟ ราวด์ และ อัลเบิร์จ สตูเวนเบิร์ก

 

     หลังบ้านปรับเปลี่ยนใหม่หลายบุคลากรที่ไม่ถูกกล่าวถึง (Uncredited) ถูกจ้างงานเข้ามา ระบบเดิมที่ใช้งานอยู่และดีพอสำหรับยุคใหม่ยังคงอยู่ต่อไปเช่นระบบ StatDNA ที่เก็บข้อมูลนักเตะทั่วโลกเอาไว้สำหรับการให้ทีมมาวิเคราะห์ข้อมูลผู้เล่นตั้งแต่ช่วงปี 2012 ก็ยังคงอยู่ในแผนงาน การสร้างแผนกการทำงานค้นหานักเตะที่ เอดู ตั้งขึ้นใหม่ แทนที่ของเดิมที่ใช้ระบบแมวมองเป็นหลัก และช่วงหนึ่งการทำงานร่วมกับ เอเยนต์นักเตะ ผ่านระบบ “ความสัมพันธ์ส่วนตัวที่เกินพอดี” ถูกนำมาใช้แบบไม่ถูกต้อง การปรับเปลี่ยนตรงนี้จึงมีการปรับทั้งระบบ ทุกวันนี้อาร์เซนอล มีแมวมองประจำสโมสรหลายคน มีแผนกในเรื่องนี้โดยตรงในการทำงานร่วมกับ StatDNA ร่วมกับ มิเคล อาร์เตต้า และทีมงานในการวิเคราะห์ข้อมูลว่า นักเตะคนใด ตำแหน่งใด ในสโมสรโด น่าสนใจบ้าง หากต้องการนักเตะใหม่เข้ามาร่วมงานด้วย

 

     ตัวสโมสรเองมีการสร้าง “แรงจูงใจ” และ “แรงกระตุ้น” ให้กับนักเตะและแฟนบอล พวกเขาลงทุนรีโนเวทภายในสนามซ้อมของทีมใหม่หมด เพื่อเปลี่ยนแปลงและสร้างบรรยากาศใหม่ ๆ เช่นเดียวกับในสนาม เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม การนำเพลง The Angels ของ หลุยส์ ดันฟอร์ด มาเปิดให้กำลังทีมใจก่อนเกม เป็นหนึ่งในเพลงฮิตของสนามแห่งนี้ และในเวลาเดียวกันทีมกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการปรับปรุงสนามใหม่ภายใต้คอนเซปต์ “แฟนบอล” เพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกับทีม

2022-2023 จึงเป็นฤดูกาลสำคัญ

     การเสริมทีม อาร์เซนอล วางแผนใหม่หมดกับการทำงานเรื่องนี้ หลังการประชุมระหว่าง จอช​ โครเอนเก้ – วิไน เวนกาเทสเซม และ เอดู กาสปาร์ สำหรับการตลาดในฤดูกาล 2021-2022 พวกเขาวางแผนบนพื้นฐาน 5 ข้อประกอบไปด้วย

 

  • อายุนักเตะต้องไม่เกิน 25 ปี
  • ต้องมีประสบการณ์ในการเล่นระดับสโมสรชุดใหญ่ หรือหากมีในระดับทีมชาติมาบ้างก็ยิ่งดี
  • ราคาค่าตัวสมเหตุสมผล
  • นักเตะต้อง “มีใจ” อยากมาเล่นกับสโมสรอาร์เซนอล
  • นักเตะต้องเหมาะกับระบบการเล่นของทีมที่คุมทีมโดยมิเคล อาร์เตต้า

 

     และนี่คือรายชื่อและอายุนักเตะอาร์เซนอลในยุคของ มิเคล อาร์เตต้า ที่ทำการซื้อหรือยืมเข้ามาร่วมทีม โดยอายุในวงเล็บคืออายุในช่วงเวลาที่เซ็นสัญญามาร่วมทีม

 

2019-2020

 

  • ปาโบล มารี [27 ปี ยืมตัวก่อนซื้อขาด]
  • เซดริก โซอาเรส [29 ปี ยืมตัวก่อนซื้อขาด]

 

2020-2021

 

  • วิลเลี่ยน [32 ปี]
  • กาเบรียล มากัญเยส [23 ปี]
  • อเล็กซ์ รูนาร์สัน [25 ปี]
  • โธมัส ปาเตย์ [27 ปี]
  • ดานี่ เซบายอส [24 ปี ยืมตัว]
  • แมตต์ ไรอัน [28 ปี ยืมตัว]

 

2021-2022

 

  • นูโน่ ตาวาเรส [21 ปี]
  • อัลเบิร์ต แซมบี้ โลกอนก้า [22 ปี]
  • เบน ไวท์ [24 ปี]
  • มาร์ติน เออเดการ์ด [23 ปี ยืมตัวมกราคม 2021 ก่อนซื้อขาดสิงหาคม 2022]
  • อารอน แรมสเดล [23 ปี]
  • ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ [23 ปี]
  • ออสตัน ทรัสตี้ [23 ปี]

 

2022-2023

 

  • กาเบรียล เฆซุส [25 ปี]
  • ฟาบิโอ วิเอร่า [22 ปี]
  • มาร์ควินญอส [19 ปี]
  • แมตต์ เทอร์เนอร์ [27 ปี]
  • โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก้ [25 ปี]

 

     จะสังเกตได้ว่านักเตะตั้งแต่ฤดูกาล 2021-2022 เป็นต้นมา อายุนักเตะจะไม่เกิน 25 ปี เกือบทั้งสิ้น ยกเว้นในตำแหน่งนายทวาร แมตต์ เทอร์เนอร์ ซึ่ง มิเคล อาร์เตต้า ให้เหตุผลว่าในฐานะนายทวารที่จะมาแย่งมือหนึ่งกับ อารอน แรมสเดล เขาต้องการคนที่มีประสบการณ์มากว่านายทวารดาวรุ่ง ซึ่งจะวางตำแหน่งให้เป็นมือสาม ซึ่งในฤดูกาลนี้คือ คาร์ล ไฮน์ นายทวารทีมชาติเอสโตเนีย

 

การเลือกนักเตะอายุไม่ถึง 25 ปี หรือเทียบเท่า อาร์เซนอล มีเหตุผลสามส่วนคือ

 

  • เป็นช่วงอายุที่กำลังอยู่ในวัยที่ต้องความสำเร็จบนสภาพร่างกายที่หนุ่มแน่น
  • มีช่วงเวลาอย่างน้อย 5 ปีในการพัฒนาตนเองไปถึงจุดสูงสุดของอาชีพ
  • หากนักเตะไม่สามารถพัฒนาได้ตามที่ต้องการ อายุของผู้เล่นก็ยังสามารถปล่อยออกจากทีมได้ในแบบได้ราคาค่าตัวคืนกลับมา

 

     ดังนั้นทั้งหมดที่กล่าวมา “Process” ของอาร์เซนอลจึงไม่ต่างจากแผนงานชิ้นใหม่ของสโมสรที่มองรากฐานการสร้างทีมภายใน 3 ปี ที่พวกเขาต้องการเห็นผลของแผนงานว่าจะประสบความสำเร็จในรูปธรรม หรือนามธรรมมากน้อยแค่ไหน การ “ล้มเหลวที่ดี” กับการจบอันดับ 5 ในฤดูกาลที่แล้วแบบพลาดในช่วงโค้งสุดท้ายของฤดูกาล กลายเป็น “บทเรียน” สำคัญของทีมชุดนี้ ทีมที่ไม่ใช่แค่นักเตะในทีม แต่มันคือทั้งสโมสรอาร์เซนอล ในการทำงานร่วมกันว่า พวกเขาขาดอะไรและจะเติมเต็มอย่างไรเพื่อไม่ให้ล้มเหลวเช่นนั้นได้อีก

 

     2022-2023 จึงเป็นฤดูกาลสำคัญที่ถูกระบุให้เป็นช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวสิ่งที่ต่อสู้เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2020 ว่าแผนงานที่ทำมาตลอดเส้นทางนี้จะจบลงอย่างไร “Process” นี้จะ “ฟัก” หรือ จะ “ทรัสต์” อีก 5 เดือนต่อจากนี้เราจะได้รู้กันแล้ว!

Ads ทีเด็ด บอล เต็ง วันนี้ ฟุตบอล วันนี้