กลายเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่ง จากการที่มีการพูดคุยกันถึงปัญหาเกี่ยวกับการเล่นฟุตบอลด้วยศีรษะ หรือว่าง่ายๆ คือเล่นลูกโหม่ง จะมีผลทางด้านสมองในระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันมาบ่อยมากในช่วง 4-5 ปีหลัง
ลูกกลางอากาศ หรือการเล่นบอลยาว และโดดแย่งบอลกัน คือหนึ่งในแท็กติคสำคัญอย่างหนึ่งของวงการฟุตบอลที่มายาวนาน หลายทีมใช้การเล่นนี้เป็นจุดแข็งของทีม ไม่ว่าจะเป็นในเกมรุกหรือว่าเกมรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุกครั้งที่เล่นลูกตั้งเตะในลักษณะต่าง ๆ อย่างเช่นลูกเตะมุม เป็นต้น
“จ้าวเวหา” ในวงการฟุตบอลมีมากมายหลายคน ยอดกองหลังหลายคนที่โดดเด่นเรื่องลูกกลางอากาศ คือหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ถูกพูดถึงที่สุด จากหลากหลายงานวิจัยที่ออกมาจากคณะแพทย์หลากหลายแห่งในโลก
ตามรายงานจาก BBC เปิดเผยว่า นพ. เบนเน็ต โอนาลู ผู้ซึ่งค้นพบโรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมเรื้อรัง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า CTE (Chronic traumatic encephalopathy) อันเกิดจากการที่ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ และส่งผลในระยะยาว
ศีรษะ เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของร่างกาย จากความรู้พื้นฐานของคนทั่วไป ก็เป็นอันทราบดีกว่า “กลางกระหม่อม” ของเรานั้นเป็นจุดที่บางที่สุดจุดหนึ่งของร่างกาย ใครกะโหลกบาง แค่เอามือเคาะก็อาจจะรู้สึกแปล๊บ ๆ แล้ว ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงการโหม่งบอลที่แม้จะใช้ส่วนหนาของกะโหลก็ตาม แต่นานวันไปมันก็จะส่งผลต่อสมองของเราในอนาคต
ทุกวันนี้ สโมสรเน้นการพัฒนานักเตะของตนเอง หรือที่เรียกว่า อะคาเดมี่ ปั้นกันตั้งแต่อายุน้อย ๆ และยกระดับกันมาจนถึงชุดใหญ่ เด็กบางคนมาอยู่กับทีมตั้งแต่ 5-6 ปี ซึ่งในเรื่องของการพัฒนานั้น เป็นสิ่งสำคัญมาก ยิ่งอายุน้อย ก็พัฒนาได้ง่าย สอนง่าย จดจำเร็ว แก้ไขได้ง่าย “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก” ว่ากันแบบนั้นเลย
อย่างไรก็ตามคุณหมอ โอนาลู ระบุว่าในวัยเด็ก การโหม่งบอลก็ควรจะมีให้น้อย หรือว่าตามจริงคือ ยิ่งน้อยยิ่งดี ไม่มีเลยก็ยิ่งดี แต่ว่ากันตามบริบทของการเล่นฟุตบอลแล้ว การโหม่งบอล เป็นส่วนสำคัญในเกมการแข่งขันที่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
นึกภาพบอลโยนมาตรงกลางสนาม นักเตะทั้งสองฝ่ายจะทำอย่างไร ในการแย่งชิงบอลมาครอบครอง ถ้าไม่โหม่ง หรือต้องรอบอลตกก่อน แค่คิดก็เป็นไปไม่ได้แล้ว
แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ ในวงการฟุตบอล แม้จะเป็นเกมทดสอบนำร่องก็ตาม ตามรายงานจาก เดลีเมล์ สื่อในประเทศอังกฤษ ระบุว่ากำลังจะมีการจัดการแข่งขันฟุตบอลหนึ่งเกมที่จะมีการจำกัดการโหม่งบอลขึ้นเป็นครั้งแรกในวงการฟุตบอล
โดยในเกมการแข่งขัน “ทดลอง” นี้จะเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ ภายใต้การจัดขึ้นโดยองค์กร “Head for Change” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวกับเรื่องของการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับสมอง ซึ่งในส่วนเกี่ยวกับฟุตบอลนี้ได้รับการสนับสนุนจาก อดีต นักเตะ หลายคนไม่ว่าจะเป็น อลัน เชียเรอร์, คริส ซัตตัน, เควิน คีแกน รวมถึง ไบรอัน ดีน (เจ้าของสถิติ นักเตะ คนแรกที่ยิงประตูแรกในประวัติศาสตร์ของพรีเมียร์ ลีก ในฤดูกาล 1992-1993) เป็นต้น
โดยเกมดังกล่าวจะมีอดีตนักเตะอาชีพลงทำการแข่งขันกัน แบ่งออกเป็นสองครึ่ง ครึ่งแรกจะอนุญาตให้มีการ “โหม่ง” บอลได้เฉพาะในกรอบเขตโทษเท่านั้น ครึ่งหลังจะไม่มีการโหม่งบอลเลย และคาดว่าจะมีการทำการแข่งขันทดลองแบบนี้อีกหลายครั้ง เพื่อเก็บข้อมูล และความเป็นไปได้หากจะนำไปใช้ในการแข่งขันจริง ภายใต้การเก็บข้อมูล เพื่อนำไปวิจัยต่อของ คุณหมอ วิลลี่ สจ๊วร์ต จากมหาวิทยาลัย กลาสโกว์ ซึ่งจะมาดูเกี่ยวกับเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่าง “การโหม่งบอล และโรคเกี่ยวกับระบบประสาท” ซึ่งคุณหมอคนนี้นี่ล่ะ ที่เปิดเผยงานวิจัยในปี 2019 ที่ว่า นักฟุตบอลมีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไปในการเป็นโรคเกี่ยวกับสมองเสื่อม โดยเฉพาะคนที่เล่นลูกโหม่งบ่อย หรือถ้ามองในภาพรวม กองหลัง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ใช้การโหม่งมากที่สุด อาจมีความเสี่ยงสูงมากถึง 5 เท่าจากคนปกติทั่วไป และแน่นอน นายทวาร แทบไม่มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปเลย
พรีเมียร์ ลีก เองก็มีความสนใจในเรื่องนี้ และมีความพยายามในการหาทางในการดูแลจัดการในเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่น การออกคำแนะนำ และข้อมูลในเรื่องนี้ไปยังสโมสรฟุตบอลเกี่ยวกับการจำกัดการฝึกซ้อมด้วยศีรษะ ซึ่งตามความเป็นจริงนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาอีกหลายปี เพื่อหาข้อสรุปว่า การโหม่ง มากแค่ไหน หรือขนาดไหนจะส่งผลต่อสมองในระยะยาว และการทดลองในเกมดังกล่าวที่กำลังจะเกิดขึ้น จะสามารถบอกได้ถึงปัญหา และข้อมูลที่ชัดเจนบขึ้นบางส่วน เพื่อไปหาข้อสรุปร่วมกันในอนาคตต่อไป
ถึงตรงนี้จากข้อมูลที่ออกมาต่างชี้ชัดไปแล้วว่าการ “โหม่ง” จะมีผลต่อการทำให้สมองมีปัญหา (หรือจะบอกว่า อะไรก็ตามที่มากระแทกศีรษะบ่อย ๆ มันก็ส่งผลทั้งหมดนั่นละ) เพียงแต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่า มันต้องอยู่ในขอบเขตแค่ไหน เท่าไร อย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา และการศึกษากันอีกหลายปี แต่แน่นอนถึงตรงนี้ การโหม่งบอลจะยังคงมีต่อไป ในเกมการแข่งขัน เพียงแต่ นักเตะ ทุกคนจงระลึก และรับทราบไว้เสมอว่า ทุกครั้งที่โหม่งบอล มัน “อาจจะ” จะส่งผลเสียกับสมองของคุณได้ในระยะยาวได้ทุกเมื่อ และ ฟุตบอล อาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หากทุกอย่างมีความชัดเจนมากกว่านี้ บางทีอาจจะเป็นอีกหลายปี อาจจะไม่อยู่ในช่วงชีวิตของเราก็เป็นได้ที่จะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงนี้