หลังจากตกลงกับ อาร์แซน เวนเกอร์ และ สามารถขออนุญาต สโมสร เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก เรียบร้อย ภารกิจในการพา อาชาวิน มาเจอกับ เวนเกอร์ ก็เริ่มต้นขึ้น แน่นอน มันคงไม่ใช่การนัดเจอกันแบบที่สาธารณะใดทั้งสิ้น เพราะ อาชาวิน เป็น นักเตะ มีสัญญากับต้นสังกัด และหากข่าวหลุดออกไปจะกลายเป็นเรื่องที่ต้องมีหลายฝ่ายได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะกับ สองสโมสร รวมถึงตัว อาชาวิน ด้วย
เดนนิส กำหนดวันนัดหมายคือวันที่ อาชาวิน จะต้องบินมาลอนดอน เพื่อทำงานถ่ายภาพเพื่อการตลาดกับ ไนกี้ เป็นวันนัดพบกับ อาร์แซน เวนเกอร์ โดยมี เดนนิส, โจ และ ฟิล เป็นสามคนรับทราบเรื่องนี้
“ผมไปรับ อาชาวิน หลังจากที่ถ่ายงานกับ ไนกี้ เสร็จ พาเขาขึ้นรถ และก็ขับรถพาเขามาที่ เอมิเรตส์ สตเดี้ยม แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นต้องมีการเปลี่ยนรถไปเป็นรถของฟิล เพื่อไม่ให้มีใครจำรถได้ หลังจากนั้นผมให้เขาขึ้นไปหลังรถ หมอบลงกับเบาะคนนั่ง และสวมหมวกเบสบอลไวด้วย พอเราขับรถมาถึง เดรตัน พาร์ค ซึ่งอยู่ใกล้สนามเอมิเรตส์ สเตเดี้ยม เราก็จอดเช็คว่าไม่มีใครตามมา หรืออยู่บริเวณนั้น ผมก็พาเขาออกไปเพื่อไปขึ้นรถของฟิลที่รออยู่ และนั่งรถคันนั้นไปที่ เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม” โจ แลชเตอร์ กล่าว
ฟิล ขับ มาเซราติสีเขียว มารับ อาชาวิน ที่ต่อมา อาชาวิน พูดติดตลกว่าหากย้ายมาอังกฤษเมื่อไร จะซื้อรถบแบบนี้สักคัน เข้าสู่ เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม ซึ่งวันนั้นเป็นวันงานเลี้ยงคริสต์มาสของพนักงานสโมสร นั่นทำให้พวกเขาสามารถที่จะเข้าไปในงานได้แบบไม่มีใครสังเกตเห็น เพื่อพบกับ อาร์แซน เวนเกอร์ และ เคน แฟลร์ ผู้บริหารคนสำคัญของสโมสรปืนใหญ่รอคอยพบกับเขา
อาชาวิน ผู้ซึ่งไม่เคยออกนอกรัสเซียมาก่อน นอกจากเพื่อการลงเล่นฟุตบอล เขาพูดภาษารัสเซียเป็นหลัก แต่เพื่อการเตรียมตัวในการย้ายทีมของเขา เขามีการลงเรียนภาษาอังกฤษมาบ้าง และนั่นทำให้การสนทนากับ เวนเกอร์ และ อาชาวิน เริ่มต้นด้วยการคุยกันแบบไม่ต้องมีล่าม (เวนเกอร์ พูดได้หลายภาษา ประกอบไปด้วย ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อิตาลี, สเปน และ เยอรมัน ซึ่งพูดได้อย่างคล่องปาก ส่วนภาษาญี่ปุ่น สามารถพูดได้พอสมควร)
“ผมมีสองคำถามสำหรับคุณ อย่างแรกเลยคือ คุณต้องการลงเล่นกับ อาร์เซนอล หรือเปล่า อีกคำถาม เขาคือเอเยนต์ของคุณใช่ไหม” เวนเกอร์ถาม อาชาวิน พร้อมกับชี้มาที่ เดนนิส เพื่อยืนยันให้แน่ชัด
คำตอบที่เวนเกอร์ได้รับคือ อาชาวิน อยากลงเล่นกับอาร์เซนอล และ เดนนิส แลชเตอร์ คือเอเยนต์ของเขา หลังจากนั้นมีการสนทนากันอีกเล็กน้อย ก่อนที่ เวนเกอร์ จะชวน อาชาวิน ไปดูภายในสนาม เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม
พวกเขาสองคนเดินไปด้วยกัน เพื่อดูสนาม แน่นอนว่า เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม เป็นหนึ่งในสนามแข่งที่ดีที่สุดในโลก เวลานั้นมันเพิ่งเปิดใช้งานได้เพียงสองปีเท่านั้น สนามที่ว่างเปล่าในวันนั้น มันทำให้เสียงมีความก้องกังวาน พร้อมกับหญ้าเขียวสด
หลังการพบกันเสร็จสิ้น ทุกอย่างดูจะเป็นไปได้สวย นักเตะ มีใจอยากย้าย สโมสรก็อยากได้ตัว อาชาวิน มาร่วมงานด้วย ที่เหลือก็ถึงเวลางานยากที่สุด กับการ เจรจาเรื่องเงินทองเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อให้การย้ายทีมเกิดขึ้นในตลาดการซื้อขายรอบเดือน มกราคม 2009 เป็นจริง
การเจรจาซื้อขายนักเตะตามปกติก็มักจะมีขั้นตอนหลักประกอบไปด้วย ตกลงค่าตัวกัน ตกลงค่าตัวนักเตะ หากเรียบร้อยก็ย้ายทีมได้…นั่นคือภาพรวมของการซื้อขาย
แต่สำหรับ เซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก ไม่ได้ง่ายแบบนั้น อย่างที่บอกไว้แต่แรกเริ่ม พวกเขาไม่ได้อยากขาย อาชาวิน และพวกเขามีแหล่งเงินทุนหนาเตอะอย่าง กาซพรอม อีกด้วย สิ่งเดียวที่ทำให้ดีลนี้เป็นไปได้คือ อังเดร อาชาวิน ปรารถนาที่จะย้ายออกจากเซนิตฯ
อาร์เซนอล เริ่มต้นการเจรจามาตลอดนับจากข้ามเข้าสู่ปี 2009 เป็นต้นมา แต่การซื้อขายของอาร์เซนอล มีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับการเงิน จากการที่สโมสรมีภาระหนี้สินในการสร้างสนาม เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม โดยดีลนี้ เคน แฟลร์ คือผู้ดูแลดีลนี้ หลังการออกจากสโมสรไปของ เดวิด ดีน ขณะที่ อิวาน กาซิดิส ในเวลานั้นยังไม่ได้เข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดย กาซิดิส เข้ารับตำแหน่งกับ อาร์เซนอล ในวันที่ 1 มกราคม 2009 ซึ่งเรียกว่าใหม่มากสำหรับการทำงานตรงนี้
ตลาดการซื้อขายรอบเดือนมกราคม 2009 ตามเดิมจะปิดตัวลงในวันที่ 31 มกราคม แต่ด้วยความที่ว่าเป็นวันเสาร์ ทำให้การซื้อขายในรอบนั้นปิดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2009 หรือวันจันทร์ ในขณะที่มีรายงานว่าช่วงปิดตลาดการซื้อขาย ลอนดอน จะต้องเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้ายด้วยพายุหิมะตกอย่างหนัก
ช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการปิดตลาด อาชาวิน ยังคงเป็นนักเตะของ เซนิตฯ และยังเดินทางไปเข้าแคมป์ที่ดูไบ กับทีม ขณะที่ อาร์เซนอล ยังหาข้อสรุปกับ เซนิตฯ ไม่ได้เลย อาร์เซนอล เสนอข้อเสนอไป 12 ล้านปอนด์ รวมถึงเชิญ เซนิตฯ มาลงเล่นใน เอมิเรตส์ คัพ ในช่วงปรีซีซั่นฤดูกาลถัดมา ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้เงินเข้ามาอีก 500,000 ปอนด์ รวม 12.5 ล้านปอนด์ แน่นอน เซนิตฯ ปฏิเสธ
“เรารู้ว่าถ้าเราปล่อยให้ อาชาวิน กลับไปรัสเซีย เราจะเสียโอกาสได้ตัวเขาไปเลย” โจ แลชเตอร์ กล่าว
จอน สมิธ แห่ง เอฟเอเอ อยากให้ทุกอย่างดำเนินเรื่องได้เร็ว และป้องกันความเสี่ยงเรื่องของปัญหาสภาพอากาศ เขาเสนอกับทีมดีลทั้งทีมว่าควรให้ อาชาวิน มาสแตนบายรอที่ลอนดอน เพื่อป้องกันความผิดพลาด
“ผมโทรหา อาร์แซน เกี่ยวกับการที่เราทุกคนรวมทั้ง อาชาวิน จะบินไปยังอังกฤษ ก่อนการเจรจาจะจบลง แต่เขาบอกกับเราว่าไม่ได้ เคน แฟลร์ คุยกับสโมสรแล้ว และ บอร์ดบริหารทีมบอกว่าถ้า อาชาวิน บินมาที่ลอนดอน ก่อนดีลจบ มันจะกลายเป็นการโยนแรงกดดันเรื่องการเงินมาที่อาร์เซนอลแทน” เดนนิส แลชเตอร์ กล่าว
โจ แลชเตอร์ เสนอให้ อาชาวิน ไปรอที่ ปารีส; ฝรั่งเศส แทนที่จะกลับไปที่รัสเซีย โดยมีการทำเรื่องแจ้งขออนุญาตกับ เซนิตฯ มีการจองที่พัก และห้องประชุม ของโรงแรมที่สนามบิน ชาร์ลส เดอ กูลส์ ในกรุงปารีส เพื่อไม่ให้เสียเวลาหากการเจรจาหาข้อสรุปได้ นักเตะ ก็พร้อมเดินทางทันที และหลีกเลี่ยงการพบกับผู้คน ไม่มีใครรู้ รวมทั้งสื่อมวลชนอังกฤษที่ตามหาข่าวนี้แน่นอน
วันเสาร์ที่ 31 มกราคม 2009
“เช้าวันเสาร์ ผมกำลังนั่งดู สกาย สปอร์ต ตอนนั้นเวลา 9 โมงครึ่ง ตอนนั้นมันมีแต่ เบรกกิ้ง นิวส์ เกี่ยวกับการซื้อขาย แต่มีผู้สื่อข่าวจากสกาย ที่อยู่ในดูไบ ที่เตรียมไปรายงานข่าวเกี่ยวกับการแข่ง กรังปรีส์ เขาอยู่ในโรงแรมที่ ทีม เซนิตฯ เก็บตัวอยู่ บอกว่า นักเตะ เซนิตฯ ทุกคนเตรียมเดินทางกลับ เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กแล้ว ส่วน อาชาวิน ไม่ได้กลับไปด้วย และคาดว่าจะเดินทางมายังลอนดอน บ่ายวันนั้น ผมหัวเราะแทบตาย” โจ กล่าว
การเจรจาระหว่างสองสโมสรยังคงหาข้อสรุปไม่ได้ อย่างที่กล่าวข้างต้น อาร์เซนอล ไม่ได้มีสถานการณ์ทางการเงินที่ดีมาก พวกเขาต้องรัดเข็มขัดเพื่อการชำระหนี้สิน และเมื่อเป็นเช่นนั้นจึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับการต้องลดค่าแรงของ นักเตะ ลงเพื่อช่วยให้การย้ายทีมมีความเป็นไปได้มากกว่าเดิม ว่าง่ายๆ ก็คือจ่ายให้น้อยลงเพื่อให้ อาร์เซนอล จ่ายไหว แต่มันก็ไม่ง่ายเลย เพรา อาชาวิน ก็ชัดเจนมากว่า เขามีตัวเลขในใจของเขา และเขาจะไม่ยอมลดค่าแรงของเขาเช่นกัน เมื่อเขาต้องย้ายมาเล่นยังอังกฤษ ค่าใช้จ่ายในชีวิตของเขาก็ต้องมากขึ้นตามไปด้วย ยังไม่รวมถึง โบนัส แบบที่เคยได้รับก็จะหายไปด้วยแน่นอน
“ที่ เซนิตฯ หากประสบความสำเร็จในฤดูกาลไหนก็ตาม นักเตะ จะได้อัพเงินเพิ่มเป็นสองเท่า และ อาชาวิน ก็เรียกร้องกับ ฟิล ว่า เขาต้องการรถยนต์หนึ่งคันในการเดินทางใช้ชีวิตในลอนดอนด้วย” เดนนิส กล่าว
ทนายความเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของดีลหาข้อตกลงร่วมกันกับ อาชาวิน พวกเขาใช้เวลากันทั้งคืน เพื่อให้คุยให้ลงตัว แต่มันก็ไม่สำเร็จ มีการโต้เถียงกันเกิดขึ้นไปมาดังลั่นห้อง
“ผมขอพูดอะไรหน่อยได้ไหม” เสียงหนึ่งดังขึ้น โจ แลชเตอร์ คือต้นเสียงนั้น
“ในฐานะของคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประโยชน์อันใดที่จะได้รับ “ผมขอพูดอะไรหน่อยได้ไหม อังเดร” เราทุกคนรู้จักคุณแทบจะเท่ากันหมด ยกเว้นเดนนิส ที่รู้จักคุณมากกว่าใคร ถ้ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงิน คุณต้องกลับไปที่ เซนิตฯ เพราะที่นี่ให้คุณไม่ได้แบบนั้นแน่ แต่ถ้าคุณต้องการความท้าทายให้ตัวคุณเองแบบที่คุณบอก ถ้าคุณต้องการย้ายมาเล่นในระดับนานาชาติ ให้ชื่อ อังเดร อาชาวิน เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก และอยากลงเล่นในพรีเมียร์ ลีก และทำให้ตัวเองอยู่ในระดับนั้น นี่คือโอกาสของคุณ”
“ถ้าคุณปฏิเสธข้อเสนอ คุณก็สามารถออกไป และไปมีชีวิตที่ดีมากในรัสเซียต่อไป แต่คุณจะต้องคาใจไปตลอดชีวิตแน่ เมื่อต้องตื่นเช้ามาบอกว่า มันจะเป็นอย่างไรนะ ถ้ามัน (การย้ายมาเล่นในอังกฤษ)เกิดขึ้น ในเมื่อคุณบอกเราทุกคนตลอดว่าอยากย้ายมาเล่นในพรีเมียร์ ลีก นี่คือราคาที่คุณต้องจ่าย และนี่คือทางเลือกที่คุณต้องเลือก”
อาชาวิน ได้ฟังที่โจพูดทั้งหมด และลุกขึ้นจากเก้าอี้ และบอกว่า “ผมจะออกไปดูเทนนิส” ว่าแล้วก็เดินออกจากประชุมไปเลย
การเจรจายังไม่เสร็จสิ้นลง ดีลที่ดำเนินมาจากวันแรกที่ เดนนิส รับสายโทรศัพท์ในปี 2007 กำลังเดินหน้าต่อไป หากมองเป็นการสร้างบ้าน ตอนนี้พวกเขาสร้างมันเป็นบ้านแล้ว แต่หลังคายังสร้างไม่เสร็จ ห้องน้ำก็ยังไม่เสร็จ ต่อไฟเข้าบ้านก็ยังไม่ได้ทำ ทุกอย่างดำเนินไป โดยมีระยะเวลาอีกไม่ถึงสองวัน เป็นสิ่งกำหนดว่า บ้านหลังนี้จะเสร็จ หรือจะปล่อยทิ้งร้าง
ด้วยสภาพอากาศที่เริ่มเลวร้ายมากขึ้น หากพายุหิมะเข้ามา การย้ายทีมของ อาชาวิน จะจบลงทันที เพราะไม่สามารถเซ็นสัญญากับสโมสรได้ทัน ดังนั้น ทีมงานทุกคน รวมทั้ง อาชาวิน เดินทางไปยัง ลอนดอน ทันที แม้ว่าการเจรจาทั้งค่าตัว และค่าเหนื่อย จะยังหาข้อสรุปไม่ได้เลยก็ตาม
พวกเขาเดินทางด้วยสายการบิน แอร์ ฟรานซ์ เที่ยวบินสุดท้ายของวันนั้น เป็นเที่ยวบินสุดท้ายก่อนที่สนามบินจะปิด เพื่อรับสถานการณ์พายุหิมะที่กำลังจะมาถึง แม้ว่าพายุหิมะจะสร้างความวุ่นวายให้กับเขา แต่ในทางกลับกัน ก็จะทำให้ผู้คนในลอนดอน โดยเฉพาะนักข่าวไม่มาสนใจพวกเขาเช่นเดียวกัน เมื่อเครื่องลงที่ ฮีธโทรว์ ในลอนดอน และพวกเขาทุกคนเข้าไปอยู่ที่ โรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่ง ใกล้กับ ลอนดอน โคลนีย์ สนามซ้อมของอาร์เซนอล ขณะที่ห้องว่างมีเพียงหนึ่งห้อง และ อาชาวิน กับ เดนนิส ต้องนอนบนเตียงเดียวกัน
เช้าวันต่อมา อาชาวิน ออกไปหน้าโรงแรม เพื่อโทรหาภรรยาของเขา และนักข่าวสามารถจับภาพของเขาไว้ได้! แม้ทีมงานจะรีบบอกเขาให้กลับเข้ามา แต่สุดท้ายทั้งอังกฤษก็รู้แล้วว่า อาชาวิน อยู่ในประเทศของพวกเขา และนั่นทำให้สถานการณ์ของ อาร์เซนอล ยากขึ้นทันที หากการเซ็นสัญญาครั้งนี้ล้มเหลว โดยเฉพาะกับผู้บริหารคนใหม่ ที่เพิ่งย้ายมาจากสหรัฐอเมริกาคนนี้
“อิวาน กาซิดิส” ชายผู้จะมาเป็นตัวแปรสำคัญต่อดีลของ อังเดร อาชาวิน และหวังว่ามันจะเป็นจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายของ มหากาพย์ การย้ายทีมครั้งนี้
โปรดติดตามบทสรุปโค้งสุดท้ายของ อาชาวิน ได้ในวันพรุ่งนี้