กลายเป็นประเด็นร้อนมาก หลังจบเกมที่ โมลินิวซ์ กราวด์ กับความพ่ายแพ้ของ อาร์เซนอล ที่มีต่อ “หมาป่า” วูลฟ์แฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์ส 2-1 ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ผลการแข่งขัน แต่อยู่ที่เรื่องของการตัดสินของ กรรมการ “เคร็ก พอว์สัน” ที่มีต่อเกมนี้
สองใบแดงในเกมเดียว ที่อาร์เซนอล ได้รับในเกมนี้ ทำให้พวกเขาเสียเปรียบอย่างยิ่งในเกมที่พวกเขา ณ.เวลาที่ 11 คนเท่ากันทั้งสองทีม พวกเขามีเกมที่ดีที่สุด เกมหนึ่งในฤดูกาลนี้
ก่อนเกม หมาป่า อยู่ในช่วงผลงานไม่สู้ดีนัก พวกเขามีปัญหาในเรื่องของความสม่ำเสมอ การเล่น โดยเฉพาะ เกมรุก กับการขาดหายไปของ ราอูล ฆิมิเนซ หัวหอกทีมชาติเม็กซิโก ที่ถึงเวลานี้ ยังไม่มีกองหน้าคนไหนในทีม ทดแทนการขาดหายไปของเขาได้ แม้จะมีการยืม วิลเลี่ยน โฆเซ่ มาจาก เรอัล โซเซียดาด ก็ต้องรอปรับตัวอีกสักระยะหนึ่ง
29 พฤศจิกายน 2020 เกมแรกที่ทั้งสองทีมพบกัน ราอูล ฆิมิเนซ บาดเจ็บ จากจังหวะเซตเพลย์ ที่ ดาวิด ลุยซ์ กระโดดโหม่งหมายจะทำประตู แต่กลายเป็นว่า ศรีษะไปกระแทกกัน สุดท้าย ฆินิเนซ กะโหลกร้าว ต้องพักยาว ส่วนลุยซ์ ก็ต้องพักฟื้นระยะหนึ่ง และในเกมนี้ ฆิมิเนซ เข้ามาชมในสนาม ส่วน ลุยซ์ กลายเป็น ประเด็นของเกมในวันนี้
อาร์เซนอล อยู่ในช่วงที่ฟอร์มเริ่มกลับมาได้บ้าง หลังจากเดือนพฤศจิกายน จนถึงก่อนช่วงคริสต์มาส พวกเขาไม่ชนะใครในลีกหลายเกม อันดับกราวรูด ไปเกือบถึงโซนตกชั้น และ มิเคล อาร์เตต้า โดนกดดันให้ออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ปืนใหญ่พลิกฟอร์มกลับมาได้ ไม่แพ้ใครในลีก 6 เกมรวด ก่อนทั้งสองทีมมาพบกัน
รูปเกมของอาร์เซนอล พวกเขาเล่นได้เด่นมากใน “45 นาที” เมื่อสามารถยิงขึ้นนำ และสามารถสร้างโอกาสได้มากมาย อาร์เซนอลใน 45 นาทีแรก มีทั้ง ยิงชนเสา, ยิงชนคาน, ยิงเข้าประตู มาครบ และ ประตูนำจากความสามารถเฉพาะตัวของ นิโกล่าส์ เปเป้ ก็ยิ่งทำให้ เวลานั้น แฟน อาร์เซนอล มีความเชื่อว่า วันนี้พวกเขาควรมีคะแนนกลับออกจากรังหมาป่า
อย่างไรก็ตาม ช่วงทดเวลาบาดเจ็บของครึ่งแรก เกิด “เทิร์นนิ่ง พอยต์” เมื่อเกิดการเสียบอลกลางสนาม และ ดาวิด ลุยซ์ ดันขึ้นสูง ลงมาไม่ทัน บอลมาถึง วิลเลี่ยน โฆเซ่ ในเขตโทษ ก่อนจะล้มลง กรรมการ ให้ใบแดงกับ กองหลังบราซิเลี่ยน ทันที หลังจากฟังคำตัดสินของ VAR อาร์เซนอล เสียทั้งจุดโทษ เสียทั้งใบแดง ในจังหวะเดียวกัน ในนาทีสุดท้ายของครึ่งแรก และแน่นอนพวกเขาเสียประตู
ต่อมาครึ่งหลัง ในสถานการณ์ 10 คน แต่พวกเขาเสียประตูที่สอง เจา มูตินโญ่ ยิงไกลสุดสวยเข้าไป ตามหลัง 2-1 อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น อาร์เซนอล ก็พยายามหาโอกาสยิงให้ได้ แต่ด้วยตัวเล่นน้อยกว่า และ วูลฟ์ส ก็เล่นไม่ประมาท ไม่เร่งเกมจนเกินไป บอลนำแล้วไม่จำเป็นต้องเร่งเกม แต่แล้วพวกเขาก็ยังพลาดอีก เมื่อ เลโน่ พยายามจะออกมาตัดบอลนอกเขตโทษ แล้วกะจังหวะบอลตกพลาด บอลโดนแขนของเขา และกรรมการเป็นอีกครั้งที่ให้ใบแดง โดยตรง อาร์เซนอลเหลือ 9 คน ในช่วง 20 นาทีสุดท้าย และจบเกมพวกเขาพ่ายไป 2-1
มองในแง่ของ “ฟุตบอล” อาร์เซนอล ผิดพลาด “น้อยนิดแต่มหาศาล” เพราะความผิดพลาดของพวกเขาส่งผลต่อรูปเกมทั้งเกมไปเลย โดยเฉพาะจังหวะของ ดาวิด ลุยซ์ ที่ดันขึ้นมาแล้วลงไม่ทัน ว่ากันง่าย ๆ คือ ประมาทไม่คิดว่าจะเสียบอลกลางทาง และกลับไปเล่นเกมรับไม่ทัน นำมาถึงจุดเสี่ยง และจบด้วยการเสียจุดโทษ เช่นเดียวกับ เลโน่ ที่ออกมาพลาด จนทำให้ตัวเองต้องเข้าไปอาบน้ำก่อนคนอื่น
มองในแง่ของ “การตัดสิน” ของกรรมการ ว่ากันตามกฎ จังหวะจุดโทษของเกมนี้ สามารถให้ได้ เมื่อมีการปะทะกันในเขตโทษ และทำลายจังหวะการเข้าทำประตูของฝ่ายรุก แต่อย่างไรก็ตาม จังหวะการให้ใบแดงทั้งสองใบที่เกิดขึ้น เคร็ก พอว์สัน ใช้การตัดสินของตนเอง ร่วมกับการ “ฟัง” กรรมการในห้อง VAR ระบุลงมาและตัดสินใจทันที ไม่มีการวิ่งไปดูจอข้างสนาม เพื่อดูจังหวะรีเพลย์ทั้งสองครั้ง
จังหวะของ ดาวิด ลุยซ์ (ซึ่งเป็นภาพที่โพสประกอบบทความ) จะเห็นว่า การปะทะกันเกิดจากการที่ ส้นเท้าของ วิลเลี่ยน โฆเซ่ ง้างยิงขึ้นมาโดนหัวเข่าของลุยซ์ ที่พยายามวิ่งตามหลังมา และล้มลง ว่ากันตามกฎแบบตรงไปตรงมา มันก็มีการปะทะกันจริง ให้จุดโทษได้ แต่ในแง่ของเจตนา ตรงนี้เกิดคำถามว่า กรรมการ มั่นใจถึงขนาดไหน ในการเลือกให้ใบแดง
หากมองว่าเป็น “Professional Foul” ในฐานะกองหลังตัวสุดท้าย ก็สามารถเข้าใจได้ แต่ถ้ามองจากสิ่งที่เกิดขึ้น มันเกิดจาก ลุยซ์ หรือเกิดจาก วิลเลี่ยน โฆเซ่ ทำให้เกิดจังหวะนี้ขึ้น ตรงนี้หากเป็นเมื่อก่อน มันก็คือ “แล้วแต่ดุลยพินิจ” ของกรรมการ
อย่างไรก็ตาม วงการฟุตบอลมี VAR (Video Assistant Referee) เข้ามาตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้ว เพื่อเข้ามาช่วยกรรมการในการตัดสินที่เป็นกลางมากยิ่งขึ้น และตามหลักใหญ่แล้ว VAR จะทำหน้าที่หลักคือช่วยตัดสินใจในจังหวะ “การให้ใบแดง” หรือ “การให้จุดโทษ” เป็นหลัก
จุดนี้ พอว์สัน ไม่มีการวิ่งไปดูจอข้างสนามเพื่อดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย เช่นเดียวกับ จังหวะใบแดงของ เลโน่ ที่เขาเลือกจะเชื่อในสิ่งที่ ผู้กำกับเส้นตีธงขึ้นมา และกรรมการห้อง VAR บอกว่าแฮนด์บอลนอกกรอบเขตโทษ
การกล่าวเช่นนี้ ไม่ได้ต้องการเรียกร้องให้เปลี่ยนผลการแข่งขัน หรืออย่างไร แต่เรากำลังพูดถึงมาตรฐานในการใช้งาน VAR ของพรีเมียร์ ลีก และการตัดสินของกรรมการ ที่ก็มีปัญหากันมาตลอดตั้งแต่เปิดใช้งาน แรกเริ่มเดิมที่ จอข้างสนาม ไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน จนสุดท้ายแล้วมีการเรียกร้องให้มีการติดตั้งจอข้างสนามจังหวะ ตัดสินใจสำคัญ (ให้ใบแดง และการให้จุดโทษ) ซึ่งเกมวันนี้ มีถึงสามจุด ในสองเหตุการณ์ ที่ เคร็ก พอว์สัน เห็น “ครั้งเดียว” และฟังก่อนตัดสินใจ ไม่มีการดูซ้ำ
VAR เข้ามาเพื่อพยายามทำให้ทุกอย่างมันแฟร์ เหมือนที่พวกเขาตีวัดเส้นการล้ำหน้าที่วัดกันจนถึงส้นเท้า หรือแรกเริ่มวัดกันกระทั่ง “แขนเสื้อ” ว่าใครล้ำหน้า หรือไม่ล้ำหน้า การรับชมภาพรีเพลย์ คือการยืนยันความถูกต้องในการตัดสินในจังหวะสำคัญแบบนี้เช่นกัน
หากบอกว่า “เสียเวลา” และเคารพในการตัดสินใจของกรรมการห้อง VAR ที่ทำงานร่วมกัน เช่นนั้น เราจะมี จอข้างสนามไว้ทำไม และการตัดสินใจของกรรมการในสนาม ก็ไม่ใช่คนตัดสินใจสุดท้าย แต่คือคนในห้อง VAR ต่างหาก และในกรณีเรื่องของเสียเวลา การตีเส้นวัดการล้ำหน้าที่ทุกวันนี้ก็ยังบอกไม่ได้ว่า แต่ละเกมตีเส้นกันมีมาตรฐานแบบไหน ยังใช้เวลานานกว่าการวิ่งไปดูจอข้างสนามเสียอีก
อาร์เซนอล ผิดพลาดเองในทั้งสองกรณีนำมาซึ่งความบรรลัยของตนเอง แต่การตัดสินของกรรมการที่ทำให้เกิดความสงสัยในมาตรฐานของเขา คือสิ่งที่แย่ยิ่งกว่า เพราะการตัดสินใจที่ไม่ใช้งานอุปกรณ์ที่มีมาช่วยงานแบบเต็มที่ ก็คือความผิดพลาดของกรรมการเช่นกัน และกรรมการคนเดียวกันนี้ เกมนี้ก็ยังให้ลูกที่บอลออกหลัง เป็นลูกทุ่มมาแล้ว
สิ่งที่บทความนี้ต้องการกล่าวถึง คือ คำถามที่ว่า มาตรฐานการตัดสินของกรรมการ อยู่ตรงไหน และมันต้องดีกว่านี้หรือเปล่า ในการตัดสินใจชอตสำคัญ ที่จะส่งผลต่อทั้งเกมที่เหลือ
ยิ่งเมื่อเกมก่อน อาร์เซนอล เพิ่งมีประเด็นของ บรูโน่ เฟร์นานเดส เหยียบ เอ็นร้อยหวายของ กรานิท ชาก้า แบบชัดเจน แต่ VAR ประเมินว่า ไม่ใช่ใบแดง ไม่มีอะไรเกิดขึ้นทั้งนั้น แต่วันนี้ มาให้ใบแดงกับ ดาวิด ลุยซ์ ในจังหวะนี้
หรือแท้จริงแล้ว VAR ก็เป็นของเล่นมาหลอกแฟนบอลว่า มันช่วยสร้างความ “ยุติธรรม” ให้เกิดขึ้นในเกม แต่สุดท้ายก็ขึ้นกับ “ดุลยพินิจของกรรมการ” เมื่อที่ผ่านมา ไม่ว่าจะ ดุลยพินิจของ กรรมการในสนาม หรือจากห้อง VAR ก็ตาม
อาร์เซนอล จะไม่ใช่ทีมสุดท้ายที่โดนแบบนี้ และใครจะเป็นรายต่อไป ซึ่งจะมีแน่นอน หาก พรีเมียร์ ลีก ยังเลือกจะมองข้ามปัญหาในเรื่องนี้ และออกมาปกป้องคนขององค์กรตนเองแบบทุกครั้งที่มีการตัดสินที่ค้านสายตาคนทั้งโลก และกลายเป็นภาพเอามาล้อกัน ด่าทอใส่กัน เมื่อทีมรักของตนเองเสียประโยชน์ ทั้งที่ต้นตอของปัญหามันคือ มาตรฐานในการตัดสินที่ไม่มีความชัดเจน และปฏิบัติไม่เป็นแบบเดียวกันในทุกเกมการแข่งขันเช่นนี้