จบเกมที่เอมิเรตส์ สเตเดี้ยม ด้วยความรู้สึกเป่าปากถอนหายใจเฮือกหนึ่ง ก่อนจะมานั่งคุยกับแฟนบอลสักเล็กน้อย พร้อมกับรอชมไฮไลต์ของเกมเพื่อมาเขียนถึงบทความนี้ ที่น่าเสียดายด้วยภารกิจการงานหลายอย่างทำให้ล่าช้าไปหนึ่งวัน แต่ก็ต้องขอบคุณที่ยังคงมีความเห็นจากแฟนบอลรอคอยความเห็นจากแฟนบอลคนหนึ่งเช่นผู้เขียนว่าอยากอ่านเรื่องราวนี้
บรรทัดนี้ขอขอบคำ “ขอบคุณ” แด่ผู้อ่านทุกท่านครับ
เกมสำคัญของฤดูกาลนี้อีกหนึ่งเกมผ่านไปเรียบร้อย อาร์เซนอล พบกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งที่ 3 ในฤดูกาลนี้เรียบร้อย ในเกมที่แบ่งประเด็นได้หลากหลายมาก แต่เพื่อความกระชับจะขอแยกออกมาเป็นส่วน ๆ เพื่อให้อ่านง่าย จบไวที่สุด ดังต่อไปนี้
อาร์เซนอล ก้าวมาสู่ผลงานในระดับท็อปในฤดูกาลนี้นี่คือเกมของ “จ่าฝูง” เจอกับ “แชมป์เก่า” ที่มีผลต่ออันดับกันโดยตรง มิเคล อาร์เตต้า จัดทัพใหญ่ที่สุดบนข่าวร้ายก่อนเกมที่เขาระบุว่า “มาช้ามากแต่ก็ดันมาจนได้” นั่นคืออาการบาดเจ็บของ โธมัส ปาเตย์ กองกลางคนสำคัญที่บาดเจ็บกล้ามเนื้อหลัง และต้องรอประเมินว่าจะต้องพักฟื้นนานแค่ไหน และทีมเลือกจอร์จินโญ่ ลงสนามมาแทนที่
4-2-3-1 / 3-2-4-1 เป็นสองแผนการเล่นที่อาร์เซนอล ใช้งานมาตลอดฤดูกาลนี้ว่าง่าย ๆ เรียนกันมา ซ้อมกันมาที่สองแผนนี้ มั่นใจที่สุดแล้วว่าดีที่สุด อาจมีบ้างกับการปรับผังการเล่นเป็น 4-3-3 หรือ 4-1-4-1 บ้างในระหว่างเกม ในวันที่ต้องมาเจอกับ “กระจกเงาสะท้อนตัวเอง” อย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เป๊ป กวาร์ดิโอล่า มีผลต่อเส้นทางอาชีพของ มิเคล อาร์เตต้า มากที่สุดคนหนึ่ง ตั้งแต่รูปแบบการเล่น ไปจนถึงการแต่งกาย ทำให้ว่ากันด้วยในภาพรวมสองทีมนี้มีความคล้ายคลึงกันในวิธีคิดของการเล่น แต่สิ่งที่สร้างความต่างให้กับเกมนี้ไม่ว่าจะเป็น
คุณภาพของเกมรุก :
อาร์เซนอล และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ วัดกันที่สถิติในข้อมูลล้วน ๆ อาร์เซนอลดูดีกว่าในหลายเรื่อง แต่ก็แย่กว่าในหลายเรื่องเช่นกัน ในตอนจบเกม อาร์เซนอล ครองบอลมากกว่าแมนเชสเตอร์ ซิตี้ด้วยสัดส่วน 64:36 การยิงประตู 10 : 9 แต่การยิงเข้ากรอบแย่มากเพราะมันคือ 1:6 นั่นหมายความได้สองอย่างคือ 1. อาร์เซนอลเกมรุกฟอร์มแย่มาก 2. เกมรับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ปัดป้องได้ดีมาก ซึ่งส่วนทางกับของเรือใบสีฟ้า ที่ 6 ครั้งที่เข้ากรอบคือ 3 ประตู และ 1 ครั้งที่เข้ากรอบของอาร์เซนอลคือประตูที่มาจากจุดโทษ
ทั้งสองทีมมีช่วงเวลาในการ “ขึงเกมรุก” เข้าใส่กันได้ในบางช่วงเวลา แต่ อาร์เซนอล ทำได้น้อยกว่า ระยะเวลาสั้นกว่า และพลาดมากกว่า การเล่นของทั้งสองทีมเน้นการเพรสซิ่งใส่กันตั้งแต่แดนบน บีบพื้นที่ไล่ตรงกลางสนาม อย่าหวังจะได้ออกบอลกันง่าย ๆ เกมตึงอยู่แบบนั้นตลอดทั้งเกม และนำมาซึ่งการตัดสินเกมในหัวข้อที่สอง ที่เป็นคีย์หลักของการตัดสินหาผู้ชนะ
ก่อนอื่นต้องบอกว่าทั้งสองทีมมีความผิดพลาดส่วนบุคคลตลอดทั้งเกมเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ความผิดพลาดไหนที่จะถูกระบุว่าว่า “พลาด” นั่นคือการพลาดแล้วสร้างความวายป่วงให้กับทีม ซึ่งอาร์เซนอลมีอย่างน้อย 2 ครั้งที่จุดเริ่มต้นคือความผิดพลาดของแนวรับที่พลาดในการเล่นพื้นฐานที่สุดอย่างหนึ่งนั่นคือการ “ส่งบอล” ที่เป็นข้อย้ำเตือนว่า “พื้นฐานสำคัญที่สุด”
ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ หนีความผิดไม่พ้นกับการส่งบอลคืนหลังที่เริ่มต้นจากการเตะเปิดเกมของ เอแดร์ซอน มาถึงซาลิบา โหม่งออกด้านข้างซึ่ง “โทมิ” มาถึงก่อนกรีลิชหลายก้าว แต่เขาเลือกที่จะตัดสินใจเตะคืนนายทวาร และมันไม่แรงพอจะไปถึง แน่นอนลูกนี้ เดอ บรอยน์ ยิงดีมาก แต่ที่ต้องชมคือการวิ่งไล่หาพื้นที่ของกองกลางเบลเยี่ยมที่รอคอยการเล่นพลาด ๆ แบบนี้ ขณะที่แนวรับอาร์เซนอลอย่าง ซาลิบา และอาจจะรวมถึง กาเบรียล ไม่ได้ระแวดระวังในส่วนนี้เลยว่าเพื่อนจะพลาด นำมาซึ่งความคิดที่ไม่ได้ตั้งใจจะไล่ตาม เดอ บรอยน์ ไปในเวลาเดียวกัน เพราะ “เพื่อนคงไม่พลาดหรอก” ภาพของการเคลื่อนที่ของ ซาลิบา และ กาเบรียล คือการ “วิ่งประคอง” ตำแหน่งของตนเองเพื่อรอการเซตเกมรุก ส่วน แรมสเดล ชัดเจนว่าไม่ออกมานอกเขตโทษอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อ โทมิยาสุ ออกบอลแบบนี้ ตัวรุกพร้อมเข้าใส่ ตัวรับไม่ได้คิดว่าจะเกิดปัญหา การเสียประตูก็เกิดขึ้น
จังหวะการเสียประตูที่สองก็มาจากการ “ส่งบอล” เช่นกัน กับการเพรสซิ่งบีบพื้นที่ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในบริบทของเกมครึ่งหลังคือการเร่งเกมสุดตัวเพื่อควานหาประตูที่สองในเกมนี้ และมันสร้างแรงกดดันให้กับแนวรับอาร์เซนอลเป็นอย่างมาก (ในส่วนนี้จะกล่าวถึงในหัวข้อ ประสบการณ์) หากดูจังหวะการได้บอลของ กาเบรียล ในจังหวะแรกจะเห็นได้ว่ามีผู้เล่นทีมเยือน 3 คน ปิดพื้นที่ ซ้าย-ขวา-หลัง หมดแล้ว ไอ้ครั้นจะส่งคืนโกล ถ้าน้ำหนักไม่มากพอ ก็อาจจะเสียท่าแบบที่โทมิยาสุพลาดมาแล้ว ไหนจะมี ฮาแลนด์ วิ่งอยู่ตัวบน ทุกอย่างคือ “เสี้ยววินาที” ของการตัดสินใจ และเขาเลือกหันหลังให้ประตู และออกบอลไปข้างหน้า
เบร์นาโด้ ซิลวา ที่วันนี้รับบทบาทในการตามประกบมาร์ติเนลลี่ และคอยเป็นลูกหาบในการช่องทางการลำเลียงบอลของอาร์เซนอล ตัดบอลได้ พวกเขาออกบอลเพียง “4 ครั้ง” นับจากได้บอล เบร์นาโด้ – ฮาแลนด์ – กุนโดแกน – กรีลิช ยิงประตู
แนวรับอาร์เซนอล พังพินาศอีกครั้ง เมื่อกองหลังตัวกลางพลาดเสียบอล จอร์จินโญ่ กลางรับที่ลงมาช่วยก็ต้องลงมารับงานแทน แต่ ฮาแลนด์ ก็ไม่ต่างกับกระสุนปืนใหญ่ ทั้งเร็วทั้งใหญ่ “จอร์จี้” หมดปัญญาจะไล่ตามทั้งช้ากว่า ยืนก็ห่างกว่า เพลย์นี้ ซาลิบา หมดทางเลือกต้องทิ้งตัวประกบ (กุนโดแกน) มาบีบพื้นที่ให้แคบลง โทมิยาสุ มาประกบกุนโดแกนแทน และใครประกบกรีลิช? ไม่มีแล้ว…แนวรับเทกันไปทั้งยวง โล้ไปทางซ้ายทั้งแผง ประตูนี้ก็เลยเกิดขึ้น
นักเตะอาร์เซนอลมองกันที่ 11 ตัวจริง เทียบกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ถือว่า “ไม่ขี้เหร่” เลย พวกเขาดูดีทีเดียวในหน้ากระดาษ แต่เมื่อลงสนามไปแล้ว “ความเป็นทีม” กับ “ความสามารถส่วนตัว” ไม่เป็นเนื้อเดียวกันเท่ากับแมนเชสเตอร์ ซิตี้
ในวันที่ระบบการเล่นแบบเดียวกัน (หรือคล้ายกัน) มาเจอกัน คิดถึงการเล่นหมากรุกแบบเรา ๆ ท่าน ๆ เคยเล่นกันก็น่าจะเห็นภาพง่ายขึ้นว่าต่อให้เราเดินเลียนแบบอีกฝั่งแบบทุกตา สุดท้ายเราก็มักจะเสียเปรียบอยู่ดี เพราะเกมมันถูกเซตให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบกันอยู่แล้ว แต่เกมฟุตบอลไม่ใช่หมากรุก “การเปลี่ยนแปลง” เป็นอิสระที่เป็นปัจเจกอิสระต่อกันในกรอบการทำงานร่วมกัน ดังนั้นผลที่ตามมากจึงทำให้มีโอกาสเกิดผลอะไรที่ตามมาในแบบที่ยากจะคาดเดา
อาร์เซนอลในวันนี้ เล่นกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ด้วยการมีอาวุธ และ เกราะป้องกันที่คล้าย ๆ กัน ขึ้นกับรายละเอียดแล้วล่ะว่า การเปลี่ยนแปลง การเคลื่อนที่ของผู้เล่นรายบุคคลจะทำอย่างไร เหมือนที่อาร์เซนอล เสียประตูแรกให้กับ เควิน เดอ บรอยน์ หรืออย่างการเสียประตูที่สามของเกมนี้ที่จุดเริ่มเกิดจากการเสียบอลในพื้นที่ตนเอง ด้วยการเจอบีบพื้นที่จน ทรอตซาร์เสียบอลให้กับ โรดรี้ ที่สำหรับผู้เขียนแล้ว กองกลางสเปนคนนี้คือ “นายท้ายเรือ” ผู้ควบคุมจังหวะที่วันนี้เกะกะมากในการขึ้นเกมของอาร์เซนอล มาเล่นร่วมกับ กุนโดแกน ที่เป็นตัวเชื่อมเกมที่ไม่เร็วไม่ช้าแต่คล่องตัว มี “อัจฉริยะ” เรื่องการออกบอลอย่าง เดอ บรอยน์ และมีตัวจบมหาประลัยแห่งยุคอย่างฮาแลนด์ ประตูที่สาม คือการเซตบอลที่ลงตัว บนความมั่วซั่วของแนวรับอาร์เซนอลที่ทั้งว้าวุ่นตามสไตล์วัยรุ่น และเหม่อลอยในการตามตัวประกบ เรียกว่าประตูนี้ น่าผิดหวังที่สุดในสามประตูที่เสียไปในมุมมองของผู้เขียน เพราะเกมนี้เรียกว่า “ยอม” ให้เกมนี้กับเขาไป เหมือนที่ มิเคล อาร์เตต้า กล่าวหลังเกมว่า อาร์เซนอล ให้เกมนี้กับคู่แข่งไปเอง
ตรงนี้ขอแยกเป็นสองส่วนนะครับ ส่วนแรกคือเรื่องของทีม และส่วนที่สองคือเรื่องบุคคล
อาร์เซนอล ในฤดูกาลนี้ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในวันที่พวกเขาเต็มไปด้วยความมั่นใจทีมชุดนี้เล่นกันได้ดี ดีมากจนน่ากลัว แต่ในสถานการณ์ที่ทีมไม่ชนะมาหลายเกมติดต่อกัน สิ่งที่อาร์เซนอลขาดหายไปคือ ความสงบนิ่ง และการตัดสินใจสำคัญในวินาทีสำคัญ ไม่ใช่แค่ในเกมนี้ เกมกับ เบรนท์ฟอร์ด หรืออย่าง เอฟเวอร์ตัน พวกเขาก็มีปัญหา แต่มาแผลแตกชัดเจนในเกมนี้ เกมนี้อาร์เซนอลมีโอกาสหลายครั้งที่จะเปลี่ยนเป็นประตูได้ แต่พวกเขาก็พลาดกันเอง สถิติมันไม่หลอกใคร แต่ทั้งหมดคือความผิดพลาดที่ฆ่าคู่แข่งไม่ตาย มองหน้ากันแบบไม่ต้องโทษใคร ทั้งทีมต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ต่างกับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มีในส่วนนี้มากกว่าจากประสบการณ์ของการลุ้นแชมป์มาตลอด “1 ทศวรรษ” ของพวกเขา ทีมตั้งแต่ยุคของ โรเบร์โต้ มันชินี่, มานูเอล เปเยกรินี่ และมาถึง เป๊ป กวาร์ดิโอล่า พวกเขาไม่เคยร้างลาสิ่งที่เรียกว่า “การลุ้นแชมป์” แบบที่เรียกว่าอันดับสองคือความล้มเหลวทุกกรณี ขณะที่ อาร์เซนอล เคยมีช่วงเวลาที่ “อันดับสี่ก็พอใจ” มานานเป็นทศวรรษ แถมระยะหลังอันดับสี่ก็ยังคว้ามาไม่ได้ด้วยซ้ำ พอมาวันนี้พวกเขาลืมตาอ้าปาก อยากจะลุ้นแชมป์พรีเมียร์ ลีก กับเขาบ้าง ประสบการณ์ในการรับมือกับแรงกดดันอยู่ตรงไหน ใครมีบ้าง และมันสอนกันไม่ได้ คุณต้องสัมผัสด้วยตนเอง เหมือนที่ โอเล็กซานเดอร์ ซินเชนโก้ พูดเอาไว้ตอนย้ายมาว่า เขาอยู่กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมแชมป์ที่มีหัวใจของการเป็นแชมป์ อาร์เซนอล มีตรงนี้หรือเปล่า คำตอบคือ อาร์เซนอล ยังไม่มี และพยายามสร้างมันด้วยประสบการณ์ที่กำลังเรียนรู้ แลกมากับความมุ่งมั่นแทบเป็นแทบตายในทุกการแข่งขัน นี่คือ “กำแพง” ที่อาร์เซนอลเพิ่งเคยก้าวมาถึงเป็นปีแรกเท่านั้นในรอบสิบปีหรือมากกว่านั้น หากอยากข้ามมันไปก็ต้องปีนข้ามไม่ก็ต้องทุบให้พัง เพราะกำแพงนี้ไม่มีบันไดให้ปีน ไม่มีประตูให้เปิดผ่าน ไม่มีความสบายใด ๆ ที่จะมาได้โดยง่าย เพราะอย่างนั้นมันถึงยิ่งใหญ่
ในส่วนของบุคคลว่ากันที่ตัวโค้ชกันก่อน
มิเคล อาร์เตต้า ในมุมมองความเห็นของผู้เขียน เป็นโค้ชที่ดีมากคนหนึ่ง เขามีไฟในการทำงาน มีแพสชั่น มีความมุ่งมั่นกระหายความสำเร็จ แต่สิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่คือเรื่องของสิ่งที่เขาเองก็ไม่เคยเจอมาก่อน ที่ผ่านมาเรื่องการลุ้นแชมป์ อาร์เตต้า พยายามอย่างมากที่จะ “สะกด” อารมณ์และความหวังเอาไว้ในใจ เพราะเขาเองก็รู้ว่ามันไม่ง่ายเลย เราจะได้อ่านได้ยินคำพูดที่ว่า “มีสมาธิในเกมต่อไป” “มองกันแบบเกมต่อเกม” ทั้งที่เขารู้อยู่เต็มอกว่าอะไรคืออะไร และเขาคิดมากยิ่งกว่าแฟนบอลแน่นอน
อย่างไรก็ตาม อาร์เตต้า ก็เจอกับ “กับดัก” ในความคิดของตนเองเช่นเดียวกัน มองในเรื่องของการจัดตัวผู้เล่นของเขาที่เริ่มจะซ้ำเดิมต่อเนื่องมากขึ้น การไว้ใจผู้เล่นที่ยังคงได้รับการลงตัวจริงต่อไป แม้จะฟอร์มตก โดยให้เหตุผลเกี่ยวกับการที่นักเตะเหล่านั้นทำผลงานลากทีมมาจนถึงตรงนี้ได้ พวกเขาควรได้เครดิต และโอกาส ขณะที่ตัวสำรองจากเดิมที่เขาก็พูดเองว่า ถ้าใครซ้อมดี หรือได้โอกาสแล้วทำได้ดีควรได้รับโอกาส แต่ถึงตรงนี้เมื่อเขาเลือก ทาเคฮิโระ โทมิยาสุ ลงมาเล่นแทน เบน ไวท์ แล้วสุดท้าย โทมิยาสุ ก่อความผิดพลาด เขาจะยังคงไว้ใจโทมิยาสุต่อไป หรือจะกลับไปใช้งาน ไวท์ ที่ฟอร์มไม่แรง ร่างกายอ่อนล้าในระยะหลังทันทีเลยหรือเปล่า เช่นเดียวกับ กาเบรียล มาร์ติเนลลี่ ที่เกมนี้ไม่มีโอกาสยิงแม้แต่ครั้งเดียว เพื่อเปิดโอกาสให้กับ เลอันโดร ทรอตซาร์ ในฐานะตัวจริงไหม ตรงนี้ต้องติดตามกันต่อไป กับในวันนี้ที่คุณมีผู้เล่นเต็มทีมมีทางเลือกคนที่ 12-13-14-15-16-17 แบบที่เป็นตัวจริงของสโมสรอื่นหรือในทีมมาก่อน ไม่ใช่ดาวรุ่งหน้าใสใส่เสื้อหมายเลขเกิน 50 รอโอกาสข้างสนามแบบปีก่อน การไว้ใจและแผนสอง ยังเป็นสิ่งที่ยังไม่เห็นในทีมชุดนี้มากนักตลอดสองฤดูกาลที่ผ่านมา
ในส่วนของผู้เล่น ส่วนตัวผู้เขียนไม่อยากจะเจาะจงลงไปมากนัก แต่จะขอเขียนถึงในแง่ที่เห็นภาพง่ายที่สุด เพื่อให้ผู้อ่านได้ลองประเมินกันว่าเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร
กาเบรียล มากัญเยส – วิลเลี่ยม ซาลิบา คือสองแนวรับที่ดีที่สุดในทีมชุดนี้ แต่ในเวลานี้ พวกเขาเจอกับปัญหาฟอร์มตก ซึ่งก็เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ แต่มันจะไม่ปกติแน่ ถ้าสองคนนี้ยังสลับกันพลาดกันคนละเกมแบบที่เป็นอยู่ในช่วงระยะหลัง
กาเบรียล เป็นคนที่ห่าห่วงที่สุด เพราะตั้งแต่ย้ายมาร่วมงานด้วย กาเบรียล มักมีปัญหาที่แสดงออกมาชัดเจนคือการเสียความมั่นใจผ่านทางสีหน้าและแววตา เขามักจะพลาดในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ และบางครั้งคือการเสียประตู, เสียจุดโทษ หรือใบแดง เกมนี้การรับมือกับ ฮาแลนด์ ทั้งทีมก็พยายามช่วยเขาอย่างเต็มที่ การเจอกับ หัวหอกนอร์เวย์ 1:1 ของเขาเกิดขึ้นน้อยมากในเกมนี้ เพราะทีมเซตระบบช่วยกัน แต่เมื่อถึงคราที่ต้องดวลกัน มันจบลงด้วยการเอาไม่อยู่ และเกือบพังถ้าลูกจุดโทษนั้นไม่ถูกริบคืนจากการล้ำหน้าไปก่อนแล้วของฮาแลนด์ แฟนบอลเป่าปาก กาเบรียลโล่งใจ แต่หลังจากนั้น ฮาแลนด์ ไม่กลัวแนวรับบราซิลอีกเลยในเกมนี้ หรือจะพูดว่าจอมมารบูของแฟนบอลทั่วโลก ไม่กลัวแนวรับหน้าไหนทั้งสิ้นอยู่แล้ว แต่สำหรับกาเบรียล อาจจะหลอนยิ่งกว่านี้ และอาจจะได้เห็น “ดร็อกบา – เซนเดอรอส” ก็เป็นได้
เอ็ดดี้ เอนเคเธีย เป็นอีกคนที่ต้องบอกว่าถึงวันนี้เขาไม่ได้อยู่ในสถานะของการจะฝากความหวังได้มากพอ และทีมยังคงคิดถึงกาเบรียล เฆซุส หรือการเสริมกองหน้าคนใหม่อยู่ดี จริงอยู่ที่เกมกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เอ็ดดี้ ได้โทรศัพท์พาทีมคว้าชัย แต่ในเกมใหญ่แบบนี้ เขาคือคนที่มีโอกาสมากที่สุดในการง้างยิง (4 ครั้ง เข้ากรอบ 0 *ลูกที่ได้จุดโทษนับเป็นการฟาลว์ไปก่อนแล้ว) และที่เห็นภาพชัดเจนคือเมื่อไปเทียบกับ ฮาแลนด์ กองหน้าอีกฝ่ายแล้ว เอนเคเธีย ไม่สามารถสร้างแรงกดดันให้แนวรับของทีมเยือนได้เท่ากับที่ ฮาแลนด์ มีอิทธิพลต่อแนวรับอาร์เซนอล แนวรับซิตี้ไมได้รู้สึกถึงความกังวลเกินหน้าที่ในการเล่นเกมรับเลย นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “ผลงาน” “ชื่อเสียง” ขู่คู่แข่งได้ เหมือนที่ มาร์คัส แรชฟอร์ด ทำให้กองหลังทุกทีมในลีกต้องศึกษาการเล่นอย่างหนักหากต้องเจอกับเขา
มองภาพรวมในเกมนี้ อาร์เซนอล “ช้างที่ตกจากต้นไม้” ยกระดับการเล่นของตัวเองขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มากพอจะจบด้วยการมีคะแนน พวกเขาเสียทั้งคะแนน เสียทั้งอันดับในตารางแข่งขัน แต่สิ่งที่พวกเขาเสียไม่ได้เลยคือ “ความหวัง” ภาพของเออเดการ์ด เอามือไปเชยคางโทมิยาสุหลังก่อความผิดพลาดคือสัญญาณที่ดีของความเป็นผู้นำที่ยังคงต่อสู้ต่อไป แม้ทีมจะผิดพลาดก็ยังต้องสู้จนกว่าจะหมดเวลา
ทุกอย่างยังคงอยู่ในกำมือของอาร์เซนอล เมื่อพวกเขามีเกมที่เหลือมากกว่าแมนเชสเตอร์ ซิตี้ 1 เกม และจะมีเกมตัดแต้มกันโดยตรงอีกครั้งในช่วงปลายเดือนเมษายนให้ตัดสินกันอีกครั้ง ซึ่งกว่าจะถึงตรงนั้น อาร์เซนอล “หากหวังอะไรมากกว่าที่หวัง” การกลับมาให้เร็วที่สุดคือคุณสมบัติที่ต้องมี และพวกเขาจะทำได้หรือไม่ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า ช้างที่ชื่อว่าอาร์เซนอลจะปีนขึ้นต้นไม้ให้คนแปลกใจกันได้อีกหรือเปล่า