การเข้ามาระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงทำงานของมันต่อไป อย่างไม่หยุดยั้ง หากมองย้อนกลับไปหนึ่งปี ณ.วันนี้เมื่อปีที่แล้ว คนไทยเพิ่งจะเริ่มตื่นตัวกันอย่างเป็นทางการ หลังจากประเทศจีน ที่เมือง อู่ฮั่น เข้าสู่ภาวะวิกฤตเต็มรูปแบบ ก่อนที่อีกไม่กี่สัปดาห์ โควิด-19 จะแวะเข้าสู่ประเทศไทย และทำให้คนไทย ได้รู้จักกับการ “ล๊อคดาวน์” ที่คนไทยจำนวนมาก ต้องตกงาน ขาดรายได้ สะเทือนกันทุกวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งในวงการฟุตบอล พรีเมียร์ ลีก ซึ่งอีกเพียง 2 เดือนเท่านั้นก็จะครบ 1 ปีพอดีที่ พรีเมียร์ ลีก เข้าสู่ช่วงล๊อคดาวน์ ในช่วงต้นปี 2020
การกระจายตัวของไวรัส โควิด-19 สร้างความฉิบหายวายป่วงให้กับ ระบบเศรษฐกิจ ของพรีเมียร์ ลีก เป็นอย่างมาก แม้จะผ่านมาแล้ว 10 เดือน การแข่งขันจะดำเนินต่อไป แต่รายได้กลับยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้ เมื่อผู้ชมยังไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติแบบที่เคย และถึงเวลานี้ต้องบอกว่า มันกำลังเข้าสู่ช่วงการเริ่มต้นของวิกฤตแบบเต็มรูปแบบ หากยังไม่สามารถนำเม็ดเงินกลับมาเข้ามา
อาร์เซนอล เป็นทีมแรกในปี 2021 กับการจัดการเรื่องการจัดการเงิน พวกเขาเดินเรื่องกูยืมเงินจำนวน 120 ล้านปอนด์ จาก ธนาคารอังกฤษ (Bank of England) เพื่อนำเงินเข้ามาหมุนภายในองค์กร ขณะที่ เลสเตอร์ ซิตี้ และ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ก็เป็นอีกสองสโมสร ที่มีการขยับในเรื่องนี้แล้ว โดยพวกเขาได้ทำการกู้ยืมเงิน จากธนาคารใน ออสเตรเลีย โดยไม่มีการระบุจำนวนเงิน
ขณะที่ “นักบุญแดนใต้” เซาธ์แธมป์ตัน ยืนยันว่าในฤดูกาล 2019-2020 พวกเขาทำการยืมเงินจำนวน 80 ล้านปอนด์ ในหน้าร้อนที่ผ่านมา เพื่อช่วยให้สโมสรผ่านในช่วงวิกฤต โดยทำการยืมเงินจากบริษัท MSD Holding UK Limited ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์ ของอภิมหาเศรษฐี อย่าง ไมเคิ่ล เดลล์ (ผู้ก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ ระดับโลก เดลล์) เข้ามาลงทุนในธุรกิจดังกล่าว โดย เซาธ์แธมป์ตัน ต้องจ่ายดอกเบี้ย จำนวน 9 % รวมเงินต้น คืนให้กลับไป
สำหรับ “ขุนค้อน” เวสต์แฮม ยูไนเต็ด พวกเขาก็มีการยืมเงินจากทางธนาคาร อย่าง บาร์เคลย์ เช่นเดียวกับ สเปอร์ส ที่ซึ่งยืมเงินมากถึง 175 ล้านปอนด์ จาก ธนาคารอังกฤษ (Bank of England) เช่นเดียวกับ อาร์เซนอล โดย สเปอร์ส นั้นมีปัญหาหนัก ในเรื่องของการชำระหนี้สินของสนามเหย้าแห่งใหม่ ของพวกเขา ที่เพิ่งเปิดใช้งานในช่วงปลายฤดูกาล 2018-2019 ที่ผ่านมา
โรเจอร์ เบลล์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท วิซิเบิ้ล ซึ่งเป็นบริษัทที่วิเคราะห์ ทางด้านการเงิน ในกรุงลอนดอน ได้มีการเก็บข้อมูลทางการเงินของวงการฟุตบอลอังกฤษ มาตั้งแต่ปี 2016 ระบุว่า การเติบโตของวงการฟุตบอลอังกฤษ นั้นมีการเติบโต และก้าวกระโดดที่เร็วมากเกินไป และที่สำคัญคือมันเกิดก่อนช่วงตั้งแต่ ช่วงการระบาดของ โควิด-19 จะเริ่มต้นขึ้น
บริษัท วิซิเบิ้ล เลือกใช้ตัวชี้วัดที่เรียกว่า กำไรทางเศรษฐกิจ เพื่อวัดว่าผลการประกอบการของ องค์กร เป็นอย่างไร โดยมีการคำนวณต้นทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยรวมถึงต้นทุนของเงินทุน ที่เรียกว่า ต้นทุนทางโอกาส ในอนาคตอีกด้วย
“พอมาดู พรีเมียร์ ลีก มันเกิดเรื่องของการ สูญเสียทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ในปี 2018-19 มีการระบุว่า ว่าเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจของทั้งลีกมากถึง 600 ล้านปอนด์ และแน่นอนมันจะมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าในฤดูกาลที่ผ่านมา จากการะบาดของโควิด-19”
“ตามปกติแล้ว สโมสรทุกสโมสรไม่สามารถทที่จะหารายได้ครอบคลุมทุกค่าใช้จ่ายได้ในเวลานี้ และเหลือเพียง สองทางเลือกเท่านั้น นั่นก็คือ การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือจากผู้ถือหุ้น เพื่อนำมาหมุนเวียนในระบบ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ หนี้ของพรีเมียร์ ลีก โดยรวมสูงขึ้น และในปี 2021 ตัวเลขก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีกจนน่ากลัว”
อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของการเป็น “หนี้สิน” ไม่ใช่เรื่องของการ “เป็นหนี้” แต่มันคือ “วิธีการ” ว่า สโมสรฟุตบอลในอังกฤษ จะทำอย่างไรให้ การชำระหนี้สิน ที่กู้ยืมมา หรือหนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ในกรณีที่ การแข่งขันยังคงดำเนินต่อไป แต่รายรับยังไม่สามารถกลับเข้ามาสู่แนวทางปกติ นั่นล่ะคือปัญหาใหญ่ ที่พวกเขาต้องเผชิญ
มิเคล อาร์เตต้า นายใหญ่ อาร์เซนอล เพิ่งออกมากล่าวเกี่ยวกับในเรื่องนี้ เขายอมรับว่า โควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้เลย และนั่นส่งผลกระทบโดยตรง กับนโยบายของสโมสรทุกสโมสร และที่ชัดเจนที่สุดคือการลงทุน ในตลาดการซื้อขายเดือนมกราคม 2021 ที่แทบจะไม่มีทีมไหน เลือกการซื้อขาด หรือจ่ายเงินค่าตัว นักเตะ ในราคาสูง เนื่องจากปัญหาความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น และจะเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” เมื่อทุกคนต่างกังวลในเรื่องของการใช้จ่าย
“ผมคิดว่ามันขึ้นกับว่า โควิด-19 จะทำให้เราสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติมากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่าหากแฟนบอลสามารถกลับมาสู่สนามได้ ผู้สนับสนุนทั้งหลายก็จะกลับมา ตอนนี้มีหลายเรื่องที่ผมไม่สามารถชี้นำ หรือว่ารับผิดชอบกับมันได้ มันอยู่เหนือการควบคุม” อาร์เตต้า กล่าว
หากยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป สโมสรฟุตบอลที่รัก อาจจะต้องเดินเรื่องเจรจากับ พรีเมียร์ ลีก ในเรื่องของการแข่งขัน เพราะทุกสโมสรจะไม่พร้อมสำหรับการดำเนินงานได้ต่อไป กับการขาดรายได้มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่า ณ.เวลานี้ ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ยังคงเป็นหนึ่งใน น้ำเลี้ยง เส้นหลักของพวกเขาก็ตาม อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่มากพอที่จะครอบคลุมทุกรายจ่ายได้ และทำให้ทุกสโมสรต่างต้องดิ้นรนกันอย่างหนัก
ตลาดการซื้อขายในรอบเดือนมกราคม เหลือเวลาอีกเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ตลาดจะปิดลงแล้ว แต่แทบไม่น่าเชื่อว่า แทบไม่มีการซื้อขายใด ราคาเกินกว่า 10 ล้านปอนด์ เลยแม้แต่ดีลเดียว เช่นเดียวกับที่มากกว่า 90 % จบดีลด้วยการ ยืมตัว เกือบทั้งหมด
พรีเมียร์ ลีก 2020-2021 จะได้รับการระบุว่าเป็น ฤดูกาล ที่อาจจะเกิดสถิติมากมายในสนาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่มีแชมป์แต้มต่ำที่สุด หรือความพ่ายแพ้ของทีมใหญ่ และชัยชนะแบบถล่มทลายของบางทีม อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ นักบริหารสโมสร นั่นอาจจะไม่สำคัญเท่ากับ การที่พวกเขาจะเดินเรื่องอย่างไร ให้สโมสรของพวกเขานั้น รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ว่ากันว่าเลวร้ายครั้งใหญ่ที่สุดในโลก เพราะผลกระทบของมันนั้น แพร่กระจายไปทั่ว ไม่ต่างจากไวรัส โควิด-19 ที่ลอยไปตามอากาศ มองไม่เห็น ไม่มีใครรู้ แต่สามารถทำร้ายผู้คนได้นั่นเอง